สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปัสสาวะรดที่นอน (Functional enuresis)

ปัสสาวะรดที่นอน
การปัสสาวะรดที่นอนจะถือว่าผิดปกติเมื่อเด็กย่างเข้าขวบปีที่ 6 แล้วยังมีอาการเกินกว่า 2 ครั้ง/เดือน หรือเด็กที่อายุมากกว่า 6 ขวบแล้วยังมีอาการเกินกว่า 1 ครั้ง/เดือน โดยไม่พบสาเหตุทางกาย

ประวัติ

1. ควรซักประวัติละเอียด เพื่อแยกสาเหตุอื่นๆ ที่มีประวัติปัสสาวะผิดปกติ แต่ไม่ใช่อาการของ enuresis เช่น

-ปัสสาวะบ่อยๆ ครั้งละไม่มาก ไม่มีปัสสาวะแสบขัดเวลาถ่าย ควรนึก ถึง pollakiuria (ปัสสาวะบ่อย)
-อาการกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เมื่อรู้สึกปวดต้องรีบถ่ายทันที ซึ่งพบใน urgency, incontinence
-อาการ dysuria ของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและกระเพาะ ปัสสาวะอักเสบ
-อาการปัสสาวะจำนวนมาก (polyuria) ในเบาหวานหรือเบาจืด
-อาการปัสสาวะแบบหยดๆ (dripping) ซึ่งพบในพวกที่มีความผิดปกติทางการทำงานของระบบประสาท

2. เมื่อได้ประวัติของ enuresis แล้วควรถามถึงความรุนแรงและความถี่ ของการถ่ายปัสสาวะ เช่น

– เด็กเป็นกลางวันหรือกลางคืน หรือทั้ง 2 เวลา
-คืนหนึ่งๆ เด็กปัสสาวะรดกี่ครั้ง, ช่วงไหนบ้าง, และเป็นกี่คืนต่อสัปดาห์
-เด็กเคยหยุดมาแล้วนานกว่า 1 ปี หรือไม่ ถ้าเคยก็เป็น secondary enuresis ซึ่งถ้าเพิ่งเป็นมาใหม่ๆ ในระยะใกล้ๆ นี้ ยิ่งควรซักรายละเอียดถึงสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กในระยะใกล้ๆ นั้นว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อหาว่ามี psychosocial stress เกิดขึ้นกับเด็กหรือไม่ อย่างไร

นอกจากนี้ควรซักถึงประวัติการชัก การเจริญพัฒนาการทุกๆ ด้านและประวัติครอบครัว ความรู้สึกและทัศนคติของผู้ปกครองต่ออาการผิดปกติดังกล่าว และวิธีการแก้ปัญหาเท่าที่เขาทำมาแล้ว

ตรวจสภาพจิต ควรเน้นถามถึง
-การช่วยเหลือตัวเอง พัฒนาการทางด้านต่างๆ ของเด็กสมกับอายุหรือไม่
-ทัศนคติของเด็กต่อตัวเอง
-สัมพันธภาพต่อบุคคลในครอบครัวและบุคคลรอบข้าง เช่น เพื่อนๆ, ครู

ตรวจร่างกาย
เด็กทุกรายควรได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด โดยเฉพาะ
-น้ำหนักและส่วนสูง, ความดันโลหิต ซึ่งถ้าผิดปกติให้คิดถึงโรคไต
-ท้อง ถ้าคลำพบกระเพาะปัสสาวะโต ทำให้คิดถึงการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ
-ระบบประสาท ท่าเดิน กำลังของกล้ามเนื้อขา, sphinctor และ perineal sensation
-ความผิดปกติของกระดูกสันหลัง
-อวัยวะเพศ ดูว่ามีการอักเสบหรือ มี congenital anomaly หรือไม่

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตรวจปัสสาวะทุกราย ถ้าหากมีข้อบ่งชี้อาจต้องเพาะเชื้อปัสสาวะ, BUN, Cr, plain KUB ตลอดจน IVP, voiding cystogram และ EEG

การรักษา
1. อธิบาย ให้คำปรึกษา แนะนำ และทำพฤติกรรมบำบัด

1.1 สำหรับผู้ปกครองจะต้องให้เข้าใจปัญหาของเด็ก เพื่อจะได้ให้กำลังใจเด็ก และให้การช่วยเหลือเด็กได้ถูกต้อง เป็นต้นว่า
-ชมเชยหรือให้รางวัล เมื่อไม่มีอาการ
-ไม่ทำโทษเมื่อมีอาการ
-ปลุกเด็กให้รู้สึกตัวเต็มที่และไปปัสสาวะเอง

1.2 ตัวเด็กเอง
-จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมและตัวเองมากขึ้น
-พยายามดื่มน้ำหลังอาหารเย็นให้น้อยลง
-ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้านอน
-เวลาปลุกขอให้ร่วมมือและไม่โกรธ
-ถ้าคืนไหนปัสสาวะรดที่นอน เช้าต้องแช่เสื้อผ้าและผ้าปูที่นอน ถ้าโตพอที่จะซักได้เองก็ซัก
-ให้ทำตาราง ถ้าคืนไหนไม่มีอาการก็ให้ใส่ดาวไว้เป็นเครื่องหมาย เป็นการให้รางวัลแก่ตนเอง

2. ยาที่นิยมให้คือ imipramine
ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ ให้ 25-50 มก.ก่อนนอน
ในเด็กอายุเกินกว่า 12 ขวบ ให้ 50-75 มก.ก่อนนอน
ให้นาน 1-3 เดือน ถ้าตอบสนองต่อยาแล้วค่อยๆ ลดยาลงภายใน 4-6
สัปดาห์

3. Psychotherapy ถ้ามีปัญหาทางอารมณ์ หรือมีข้อบ่งชี้อื่นๆ ให้ส่ง ปรึกษาจิตแพทย์

ที่มา:ปิยาณี  ชัยวัฒนพงศ์
ชาญวิทย์  เงินศรีตระกูล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า