สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

มลภาวะและปัญหาโรคจากมลภาวะในโรงงานอุตสาหกรรม:การป้องกันและแก้ไข

มลภาวะ เป็นภาวะที่ไม่ต้องการ ที่ต้องกำจัดไป ดังที่ทุกท่านทราบกันอยู่ มลภาวะเกิดได้ทุกที่ทุกแห่ง มีได้ตั้งแต่ในระดับเซล อวัยวะ ร่างกายและจิตใจของบุคคล ครอบครัว บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ที่โรงเรียน ที่ทำงาน นอกสถานที่ทำงาน สถานที่สาธารณะ และพื้นที่ต่างๆ การที่จะมองว่าสิ่งใด หรือภาวะใดเป็นมลภาวะ หรือไม่นั้น สิ่งแรกที่เราพิจารณาคือสิ่งนั้นทำอันตราย หรือเป็นพิษต่อสุขภาพของมนุษย์เราหรือไม่ ในที่นี้จะต้องพิจารณาทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตด้วย ในบางสังคม เนื่องจากเป็นสังคมที่มีมลภาวะมาก และมีแนวโน้ม จะยอมรับสภาพความเสี่ยงของบุคคลในปัญหาสุขภาพ ก็จะมาตกลงหรือพิจารณากันว่ามีมลภาวะเท่าใด ที่จะยังยอมเรียกว่า ไม่เป็นปัญหาที่ยอมรับกันไม่ได้ จึงเป็นที่มาของคำว่าค่ามาตรฐานของมลภาวะชนิดนั้นชนิดนี้มีค่า เท่านั้นเท่านี้ในกลุ่มต่างๆ แตกต่างกันออกไป และถูกเรียกกันไม่มีที่สิ้นสุด บางคนบางกลุ่มยังหลงทางให้ความสำคัญเกี่ยวกับค่านี้มากกว่า จะดำเนินการขั้นพื้นฐานที่จะไม่ให้มีภาวะที่ไม่ต้องการ หรือกำจัดภาวะนี้อยู่ ในระยะหลังๆ นี้ ประเทศที่ชาญฉลาด จึงได้เลิกให้ความสำคัญกับค่ามลภาวะที่เป็นมาตรฐานยอมให้มีได้ แต่ได้มุ่งความพยายาม และการดำเนินการไปที่การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการลดทางก่อมลภาวะ และการกำจัดมลภาวะอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัด และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายจัดการ สำนักงาน และผู้ปฏิบัติงาน ได้เป็นสุขกันทุกฝ่าย

มลภาวะที่นักวิชาการจำแนกกัน พอแบ่งเป็นกลุ่มที่สมควรรู้จัก ได้แก่ มลภาวะทางกายภาพ ได้แก่ สิ่งมีคม เครื่องจักรเคลื่อนไหว เสียงดัง แสงจ้า รังสี ความร้อน ความเย็น ความดัน ความสั่นสะเทือนและอื่นๆ

มลภาวะทางเคมี ได้แก่ สารเคมีชนิดต่างๆ ที่ปนเปื้อนออกมาสู่สิ่งแวดล้อมทั้งที่เป็นกาซ ไอ ฟูม ควัน ฝุ่น น้ำ

มลภาวะทางชีวภาพ ได้แก่ เชื้อโรค ส่วนประกอบและเศษจากสิ่งมีชีวิตเช่น เลือด และสิ่งหลั่งของพืชและสัตว์ ฯ

มลภาวะทางสังคมจิตวิทยา ได้แก่ภาวะที่สังคม การที่ผู้คนที่เกี่ยวข้องอยู่ในภาวะเสื่อม ไม่ดี เครียด เป็นพิษฯ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ พบได้เสมอในทุกที่ ทุกแห่ง รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการผลิต จะมีมลภาวะเกิดได้ทุกกลุ่ม ซึ่งมีสัดส่วนและความรุนแรงต่างกันตามสภาพการผลิตของอุตสาหกรรมนั้นๆ ตลอดจนกระบวนการทำงานที่เกี่ยวข้อง ถ้ามีการวางแผนการผลิต และการทำงานดี จะมีมลภาวะน้อย ควบคุมง่าย กำจัดสะดวกหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้

โรคจากมลภาวะในโรงงานอุตสาหกรรม มีหลายร้อยโรค มีรายงานแรกๆ ในกลุ่มประเทศตะวันตก ได้แก่โรค Mill fever พิษตะกั่ว พิษสารหนู โรคปอดอักเสบนิวโมโคนิโอซิส โรคปอดซิลิโคซิส โรคมะเร็งปอด จากแร่ใยหิน โรคแอสเบสโตซิส และโรคอื่นๆ และปัจจุบันยังคงมีรายงานการเกิดโรคใหม่ๆ ในประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลกแปลกๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะระยะหลังๆ นี้ ส่วนใหญ่เป็นโรคจากสารเคมีชนิดใหม่ๆ และโรคจากรังสี และสนามแม่เหล็ก เมื่อไม่นานนักมีโรคที่มีชื่อเสียงมากในญี่ปุ่นคือ มินามะตะ และอิไต-อิไต ซึ่งเป็นโรคจากมลภาวะในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่าเป็นโศกนาฏกรรมของชาวญี่ปุ่นครั้งใหญ่ ทิ้งไว้แต่เพียงความพิการ และความตายเท่านั้น เป็นโรคที่รายงานแล้วสะเทือนขวัญของผู้อยู่ในวงการอุตสาหกรรมทั่วโลก เนื่องจากโรคดังกล่าวไม่จำกัดวงอยู่เพียงผู้ปฏิบัติงานหรือคนงานที่ทำการผลิตเท่านั้น แต่ยังได้ระบาด และทำให้เลขานุการ วิศวกร อาจารย์ช่าง ผู้บริหารโรงงาน ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวของผู้ที่ทำงาน เกี่ยวข้องในระดับที่ไม่มาก เช่นผู้ปฏิบัติงาน ต้องป่วย พิการ และเสียชีวิตมาด้วยมากแล้ว เช่น เมโสเทลิโอมา แอสเบสโตซิส พิษตะกั่ว และอื่นๆ ในประเทศที่พัฒนาต่างๆ แล้ว เช่น กรณี Peterson, USA

ในประเทศไทยระยะแรกๆ ยังไม่ปรากฏโรคจากมลภาวะในโรงงาน เนื่องจากประเทศเราเพิ่งมีอุตสาหกรรมไม่มากนัก และยังไม่ยาวนาน เพียงพอที่จะเกิดพิษในโรคเรื้อรังบางชนิดได้ และโรคเฉียบพลัน ก็ยังมีให้ได้ยินได้ฟังไม่บ่อยนัก แต่ในขณะนี้ผู้ป่วยด้วยโรคจากมลภาวะในอุตสาหกรรม มีความชุกชุมมาก เนื่องจากเป็นระยะแสดงออกของโรคเรื้อรัง เช่นสะสมมา 10,20 ปี แล้ว และโรคเฉียบพลันก็มีรายงานมากเช่นกัน เนื่องจากมีการใช้สารเคมีมากขึ้น ในขณะที่ทัศนคติและการประพฤติปฏิบัติในเรื่องความปลอดภัย และการป้องกันโรคภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องยังไม่สูงพอ ประกอบกับมีโรงงานและการผลิตเพิ่มมากขึ้น เราจึงได้พบ และได้ยินบ่อยๆ สมัย 5-10 ปีก่อน ท่านที่เกี่ยวข้องจะแปลกใจมากถ้าได้เห็นแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ปฏิบัติงานเป็นโรคพิษตะกั่ว หรือ โรคบิสสิโนซิส หรือซิลิโคซิส จากการทำงาน แต่ขณะนี้ เรื่องที่พบเห็นการวินิจฉัยเช่นนี้มีมากขึ้น จนจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาแล้ว สิ่งนี้แหละคือสัญญาณอันตรายที่บอกให้เราท่านได้ทราบว่า ปัญหาโรคจากมลภาวะได้ลุกลามเหมือนมะเร็งร้ายของอุตสาหกรรมแล้ว ถ้าไม่เร่งป้องกัน และแก้ไขแล้ว จะเป็นเครื่องฉุดรั้งการพัฒนาการผลิต และ เศรษฐกิจโดยรวมได้ ขณะนี้ประเทศไทยมีโรคทุกชนิดที่มีรายงานในอุตสาหกรรมในต่างประเทศแล้ว ภาวะเลือดออกในสมองจากเกร็ดเลือดตํ่า เนื่องจากสารเคมี โรคอิไต อิไต หรือพิษแคดเมียม โรคพิษปรอท โรคพิษตะกั่ว โรคปอดแอสเบสโตซิส โรคพิษสารตัวทำละลาย โรคสมองเสื่อมจากสารเคมี และโรคอื่นๆ อีกมาก

การป้องกัน และการแก้ไข การป้องกันย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า การป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ประหยัด และเอื้อประโยชน์กับการผลิตบุคคลที่ผลิต เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่ทุกท่านทำได้ เพียงแต่ถ้าท่านให้ความสำคัญกับการป้องกันพื้นฐาน ด้วยการใช้ความคิดวางแผนการผลิตที่มีของเหลือทิ้งหรือมลภาวะให้น้อยที่สุด นึกถึงเรื่องการ recycle หรือการนำกลับเข้ามาใช้ให้มากหน่อย ก็จะประหยัดทั้งวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายในการกำจัดมลภาวะ ฉะนั้นถ้าจะมีการขยายกิจการ หรือปรับปรุงงาน ควรได้คำนึงถึงเรื่องการป้องกันนี้ให้มาก ใช้เวลาคิดเรื่องนี้สักหน่อย จะคุ้มค่ามาก และไม่ยากเกินกำลังความสามารถของผู้บริหารอุตสาหกรรม และทั้งผู้บริหาร เลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงาน นักวิชาการผลิต และผู้ทำงานผลิต จะปลอดภัย และเป็นสุขทุกฝ่าย

สำหรับการแก้ไข ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำตั้งแต่ระยะที่ปัญหายังไม่ลุกลามมาก และควรใช้การแก้ไขที่ต้นเหตุ สาเหตุ กล่าวคือต้องมีการกำจัดมลภาวะที่ปล่อยออกมาแล้วตรงตำแหน่งของแหล่งผลิตมลภาวะ ซึ่งต้องใช้การออกแบบทางวิศวกรรม ส่วนการเจือจางมลภาวะ และการแก้ไขที่ตัวบุคคล เช่นการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หรือการให้การรักษาแก้ไขเมื่อป่วยแล้ว ให้ถือเป็นมาตรการสุดท้าย เพราะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และทำให้ขวัญและกำลังใจของผู้ทำงานตกต่ำโดยไม่จำเป็น ผู้บริหารที่จัดเจนและฉลาดหลักแหลม เห็นถึงความจำเป็นในข้อนี้ เป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันจึงมักให้ความสำคัญกับการมีแผนป้องกัน เบื้องต้นกันมาก

ที่มา:แพทย์หญิงอรพรรณ์  เมธาดิลกกุล
ผู้อำนวยการโครงการอบรมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า