สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปัญหาสุขภาพจากมลพิษในตำรวจจราจรกรุงเทพมหานคร

ปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงในกรุงเทพมหานครกำลังเข้าขั้นวิกฤต ทั้งนี้มีสาเหตุหลักจากการที่ยานพาหนะจำนวนมากระบายสารมลพิษจากไอเสียออกสู่บรรยากาศหลายชนิด และเกิดมลพิษทางเสียงควบคู่ไปด้วยกัน กรมตำรวจจึงได้กำหนดให้มีโครงการส่งเสริมสุขภาพตำรวจจราจร ให้มีการตรวจสุขภาพตำรวจจราจรปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการสืบค้นปัญหาสุขภาพของตำรวจจราจรที่ปฏิบัติงานในเขตมลพิษของกรุงเทพมหานคร โดยเป็นการตรวจสุขภาพตามหลักการทางอาชีว เวชศาสตร์ ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อการคุ้มครองสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานจราจร งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ ได้ร่วมกับสำนักงานอาชีวเวชศาสตรและสิ่งแวดล้อม กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการศึกษาปัญหาสุขภาพจากมลพิษของตำรวจจราจรกลางในปี 2535 จำนวน 264 นาย โดยกำหนดเป็นการศึกษาระบาดวิทยาแบบ descriptive study ของโรคจากมลพิษ 3 กลุ่มที่กำหนด คือโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง มีการสำรวจประวัติการทำงาน การสัมผัสมลพิษ ประวัติการป่วย ตรวจร่างกายโดยละเอียด ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่การตรวจ Complete blood count, urine exam, liver function test, renal function test, chest X-ray, pulmonary function test .blood lead,  audiogram, otoscope และตรวจวินิจฉัยแยกโรคด้วย ผลการศึกษาพบว่า ตำรวจจราจรมีปัญหาสุขภาพจากมลพิษที่ศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน ด้วยอัตราชุกร้อยละ 32 โดยจำแนกเป็นป่วยด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ด้วยอัตราชุกร้อยละ 17 ป่วยด้วยโรคระบบหายใจอักเสบเรื้อรัง ด้วยอัตราชุกร้อยละ 20 และเป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง ด้วยอัตราชุกร้อยละ 28 พบร้อยละ 18 มีโรคระบบหายใจอักเสบเรื้อรังร่วมกับประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง และร้อยละ 15 มีโรคระบบหายใจอักเสบเรื้อรัง ร่วมกับโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง และร้อยละ 14 พบ เป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรังและประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง ซึ่งกรมตำรวจได้มีโครงการเฝ้าระวังใน เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไปแล้ว

ปัญหามลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียงในประเทศไทย เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุง เทพมหานคร จากการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่าง ต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 มาใช้ในปี 2504 มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้มีการขยายตัวของเมืองใหญ่ มีความต้องการเครื่องอุปโภค บริโภคเพิ่มขึ้น มีการขนส่ง มากมาย และมีการเพิ่มขึ้นของยานพาหนะบรรทุกและขนส่งในอัตรา เพิ่มที่สูง ทำให้คุณภาพอากาศโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร เปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม มีรายงานการศึกษา และการเฝ้าตรวจมลพิษ โดยหน่วยงานต่างๆ มากมาย ซึ่งยืนยันถึงการที่อากาศในกรุง เทพมหานครมีมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย ได้แก่ ฝุ่นละออง สารตะกั่ว และคาร์บอนมอนอกไซด์ รวมทั้งมลพิษทางเสียงด้วย โดยคุณภาพอากาศริมเส้นทางถนนสายสำคัญ 9 สายของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2534 พบว่ามีปริมาณฝุ่นละออง เฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 0.32-1.06 มก.ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่อนข้างสูง (ค่าที่ยอมให้มีได้ คือไม่เกิน 0.33 มก/ลบม.) และมีค่าเฉลี่ยของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ใน 8 ชั่วโมง อยู่ระหว่าง 4.33-35.16 มก.ต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่อนข้างสูง ในขณะที่ค่าซึ่งยอมให้มีได้ คือไม่เกิน 20 มก/ลบม. สำหรับปริมาณตะกั่วในบรรยากาศบริเวณถนนก็อยู่ในเกณฑ์สูงเพิ่มขึ้น และระดับ เสียงเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง สูงกว่า 70 เดซิเบล คือตรวจพบอยู่ระหว่าง 76.2-81.3 เดซิเบล

และในทางการแพทย์ทราบแล้วว่า ฝุ่นละอองทำให้เกิดโรคปอดอักเสบจากฝุ่น และระคายเคืองทางเดินหายใจ กาซพิษ เช่นกาซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจอักเสบ สำหรับตะกั่วที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศ เมื่อหายใจเข้าไปถึงถุงลมปอดได้จะเข้าสู่ร่างกายได้ สะสมในร่างกาย ทำให้เป็นโรคพิษตะกั่วเรื้อรังได้ และเสียงดังอึกทึก เมื่อได้ยินนานๆ โดยขาดการป้องกัน จะทำให้เป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงด้งได้ มลพิษทางอากาศและเสียงในบริเวณผิวจราจร จึงทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้

ยานพาหนะต้นกำเนิดมลพิษที่มีใช้ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติของกองวิชาการ และวางแผน กรมการขนส่งทางบก ปี พ.ศ.2532-2534 พบว่า ในปี 2534 มียานพาหนะจดทะเบียนทั้งสิ้น 2,032,621 คัน โดยเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2532 ร้อยละ 18.07 โดยไม่รวมยานพาหนะจากต่างจังหวัด ในจำนวนนี้ เป็นรถยนต์ 1,211,310 คัน และจักรยานยนต์ 887,289 คัน และในปี 2535 รวบรวมตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงตุลาคม มีรถยนต์ใหม่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร 125,715 คัน จำนวนรถที่เพิ่มขึ้นมากมายเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัด และมีการระบายไอเสียอันตรายออกทำลายสุขภาพของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในท้องถนน ผู้ที่สัญจรไปมา และผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร

ตำรวจจราจร ซึ่งเป็นผู้ทำงานอยู่บนท้องถนนเพื่ออำนวยการจราจร และรักษาความปลอดภัยในการจราจรทางบก ปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกัน เป็นประจำและเวลานานในวันหนึ่งๆ เป็นผู้ที่สัมผัส และต้องหายใจเอา อากาศที่ปนเปื้อนมลพิษจากท่อไอเสียของยานพาหนะต่างๆ ที่ระบายสู่บรรยากาศในท้องถนน และสัมผัสกับเสียงที่ดังตลอดเวลาของการปฏิบัติงานในกรุงเทพมหานคร มีตำรวจจราจร ประมาณ 2004 นายในปี 2535 โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการตรวจสุขภาพประจำปีของตำรวจ ได้พิจารณาเห็นถึงความจำเป็นในการคุ้มครองสุขภาพของตำรวจจราจร ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพจากมลพิษทางจราจร จึงได้จัดให้มีโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสุขภาพของตำรวจจราจรขึ้น และให้มีการศึกษาปัญหาสุขภาพจากมลพิษในตำรวจจราจร ทั้งนี้ เพื่อใช้ประกอบการดำเนินงานเผ้าระวังโรคที่เกิดจากมลพิษในตำรวจจราจร และการส่งเสริมสุขภาพที่สอดคล้องต่อไป

วัสดุและวิธีการ
กลุ่มตำรวจที่ศึกษาเป็นตำรวจจราจรกลาง สังกัดกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) จำนวน 264 นาย โดย sampling แบบ cluster random sampling ในหน่วยต่างๆ ของตำรวจจราจร และตรวจแบบ census ทั้ง cluster นั้น ทำการศึกษาระหว่าง เดือนมกราคม-มีนาคม 2535 โดยมีการสำรวจประวัติด้วยแบบสำรวจได้แก่ประวัติการทำงาน ประวัติการปฏิบัติงานจราจร บริเวณจุดปฏิบัติงาน ชั่วโมงการทำงาน ประวัติการสัมผัสสารมลพิษ ประวัติการป่วย บริโภคนิสัย และมีการตรวจร่างกายโดยละเอียดทุกระบบ นอกจากนั้นมีการตรวจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสัมผัสตามหลักการอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
-ตรวจหน้าที่การทำงานของปอด
-ตรวจ Chest X-ray
-ตรวจระดับตะกั่วในเลือด
-ตรวจเลือด complete blood count
-ตรวจหน้าที่ตับ และไต
-ตรวจ urine exam
-ตรวจ otoscope
-ตรวจ audiogram

โดย คำว่า ปัญหาสุขภาพจากมลพิษทางจราจรในการศึกษานี้ หมายถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น เนื่องจากการได้รับฝุ่นเขม่า กาซพิษ และตะกั่วที่ปนเปื้อนมากับท่อไอเสียของยานพาหนะและมลพิษทางเสียงที่เกิด จากยานพาหนะในผิวการจราจร ในที่นี้หมายถึงโรค 3 ชนิด คือ โรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง โรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง และโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง โดยมีคำจำกัดความของโรคดังกล่าวดังนี้

โรคทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง หมายถึงตำรวจจราจรที่มีลักษณะทางคลีนิค ดังนี้ คือไอเสมอๆ มีเสมหะในลำคอ หายใจลำบาก คัดจมูกบ่อยๆ หอบเหนื่อยขณะออกแรง เจ็บหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ดและมีอาการในกลุ่มทางเดินหายใจอักเสบอื่นๆ อย่างน้อย 3 อาการขึ้นไป ในรอบ 90 วันที่ผ่านมา ร่วมกับมีสมรรถภาพการทำงานของปอดเสื่อมลง ที่ระดับ 80 % หรือต่ำกว่า ของ FVC, FEV1, FEV1/FVC และ หรือมีภาพรังสีทรวงอกเปลี่ยนแปลง โดยมีการวินิจฉัยแยกโรคอื่นแล้ว

โรคพิษตะกั่วเรื้อรัง หมายถึงตำรวจจราจรที่มีอาการ และอาการแสดง ของโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ได้แก่อาการปวดศีรษะเรื้อรัง ลืมง่าย นอนไม่ค่อยหลับ อ่อนแรง ชาปลายมือ ชาปลายเท้า ปวดท้อง เซง่าย มึนงง และกลุ่มอาการโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง อย่างน้อย 3 อาการขึ้นไป ร่วมกับอาการตรวจพบแสดงถึงการมีตะกั่วในร่างกาย ได้แก่ ระดับตะกั่วในเลือดเท่ากับ หรือมากกว่า 20 Ug% และหรือมี lead line ที่เหงือก โดยวินิจฉัยแยกโรคอื่นแล้ว

โรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง หมายถึงตำรวจจราจรที่มีอาการของการได้ยินลดลงต่างๆ มีเสียงรบกวนในหู หูอื้อ และปัญหาการได้ยินอื่นๆ อย่างน้อย 3 อาการขึ้นไป ร่วมกับการตรวจการได้ยิน ผิดปกติ ที่ระดับความถี่ 500-8000 Hz ในระดับความดังที่ 25 dB หรือมากกว่า โดยวินิจฉัยแยกโรคอื่นแล้ว

ผลการศึกษา
ตำรวจจราจร จำนวน 264 นายในการศึกษานี้ทั้งหมด เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 20-60 ปี ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในกลุ่ม 30-39 ปี เท่ากับร้อยละ 59.8 มีอายุเฉลี่ยที่ 32.7 ปี มีความสูงเฉลี่ยเท่ากับ 172 ซม. และนํ้าหนักตัวเฉลี่ยเท่ากับ 73 กิโลกรัม ส่วนใหญ่มีอายุงานจราจรอยู่ระหว่าง 1-4 ปี ร้อยละ 44 รองลงไป เป็นกลุ่มที่มีอายุงานจราจร 5-9 ปี เท่ากับร้อยละ 23 ในกลุ่มที่ปฏิบัติงานจราจรนาน 25-29 ปี มีร้อยละ 5 ส่วนใหญ่มียศชั้นประทวนร้อยละ 96.6 มีเพียงร้อยละ 3.4 เป็นชั้นสัญญาบัตร โดยมียศจ่าสิบตำรวจ(จสต.) ร้อยละ 44 สิบตำรวจร้อยละ 18.9 ดาบตำรวจร้อยละ 18.9 ดังตาราง ที่ 1-2 และรูปที่ 1

ตาราง 1 ร้อยละของตำรวจจราจรกลางจำแนกตาม จำนวนปีที่ปฏิบัติงาน
health-0082 - Copy

ตาราง 2 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามกลุ่มอายุ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535
health-0082 - Copy1

health-0082 - Copy2

รูปที่ 1 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามชั้นยศ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535

ตำรวจจราจรในการศึกษา ส่วนใหญ่มีจุดปฏิบัติงานอยู่ที่ถนนใหญ่ และบนจุดแยกต่างๆ ที่มีการจราจรหนาแน่น ร้อยละ 16 ปฏิบัติงานบนทางด่วนทั่วไป บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียม โดยส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติงานเกินกว่า 8 ชั่วโมง และมีร้อยละ 14.4 มีชั่วโมงปฏิบัติงานในแต่ละวัน เท่ากับ 10-14 ชั่วโมง สำหรับจำนวนวันที่ปฏิบัติงานในหนึ่งสัปดาห์ พบว่าส่วนใหญ่ปฏิบัติงาน ตลอด 7 วันต่อสัปดาห์ ถึงร้อยละ 46 รองลงไป คือ 6 วันต่อสัปดาห์ ดังรูปที่ 2
health-0083 - Copy
รูปที่ 2 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกดามจำนวนวันที่ปฏิบัติงานในสัปดาห์ กรุงเทพมหานคร 2535

ตำรวจจราจรส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สภาพการจราจรในขณะปฏิบัติงานคับคั่งมาก มีเพียงร้อยละ 2 ที่มีความเห็นว่าสภาพการจราจรคล่องตัวดี

ส่วนใหญ่คือร้อยละ 61 มีความเห็นว่ามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมในการจราจรขณะสำรวจอยู่ในสภาพที่เสื่อมรุนแรง มีเพียงร้อยละ 3 ที่มีความเห็นว่า สภาพแวดล้อมในการจราจรอยู่ในเกณฑ์ดี ดังรูปที่ 3
health-0083 - Copy1
รูปที่ 3 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามความคิดเห็นในด้านสิ่งแวดล้อมจราจร และมลพิษ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535

สำหรับบริโภคนิสัยของตำรวจจราจรกลางที่ศึกษานี้ พบว่ามีร้อยละ 52.3 เป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ และ 47.7 เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ และในจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่พบว่าเป็นผู้ที่สูบบุหรี่วันละ 10-14 มวนเป็นส่วนใหญ่ ดังรูปที่ 4 และตารางที่ 3
health-0084 - Copy
รูปที่ 4 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามการสูบบุหรี่ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535

ตาราง 3 ร้อยละของตำรวจจราจรกลางจำแนกตามจำนวนบุหรี่ที่สูบในแต่ละวัน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535
health-0084 - Copy1

ตำรวจจราจรกลาง เป็นผู้ดื่มสุรา ร้อยละ 68 และในจำนวนดังกล่าว เป็นผู้ดื่มหนักร้อยละ 39
health-0084 - Copy2
รูปที่ 5 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามบริโภคนิสัยในการดื่มแอลกอฮอล์ กรุงเทพมหานคร 2535

พบว่าร้อยละ 12.9 ของตำรวจจราจร เป็นผู้ใช้ยาเป็นประจำ และร้อยละ 13 มีความผิดปกติของร่างกายเกิดขึ้นในวันแรก เมื่อเข้าปฏิบัติงานจราจร หลังจากที่ได้หยุดพักทำงานเช่นสุดสัปดาห์ ดังรูปที่ 6 และร้อยละ 20 ระบุว่า เป็นผู้มีโรคประจำตัว
health-0085 - Copy
รูปที่ 6 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นในวันแรก เมื่อเข้าปฏิบัติงาน หลังจากหยุดพักการทำงานช่วงหนึ่ง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535

ในการตรวจร่างกายเบื้องต้น พบว่าตำรวจจราจรมีความผิดปกติในการตรวจร่างกาย ร้อยละ 74 เช่น มีต้อลมที่ตา มีผื่นคัน มีเสียงหายใจผิดปกติ หรืออื่นๆ ดังรูปที่ 7 และการตรวจสภาวะความดันโลหิต พบว่ามีค่าความดันโลหิตซิสโตลี เฉลี่ยที่ 118 mmHg(SD=25 mmHg) โดยส่วนใหญ่ค่าอยู่ระหว่าง 120-129 mmHg เท่ากับร้อยละ 39 สำหรับความดันโลหิตไดแอสโตลี มีค่าเฉลี่ยที่ 81 mmHg (SD=12 mmHg) โดยส่วนใหญ่มีค่าอยู่ระหว่าง 80-89 mmHg ร้อยละ 54.5 ดังตารางที่ 4-5
health-0085 - Copy1
รูปที่ 7 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามผลการตรวจร่างกาย เบื้องต้น กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535

ตาราง 4 ร้อยละของตำรวจจราจรกลางจำแนกตาม Systolic Blood pressure กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535
health-0086 - Copy

ตาราง 5 ร้อยละของตำรวจจราจรกลางจำแนกตาม Diastolic blood pressure กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535
health-0086 - Copy1

ในการตรวจทางชีวเคมีที่สำคัญพบว่ามีค่าเฉลี่ยของ FBS, BUN, Creatinine, Chlolesterol , SGOT, SGPT, Direct bilirubin และ total bilirubin อยู่ที่ 100.7mg/dl ,16.5 mg/d I, 0.9 mg/dl, 216.3 mg/dl, 32.4 U/L, 25.6 U/L, 0.8 gm/dl และ 1.2 gm/dl ตามลำดับ ดังตารางที่ 6

ตาราง 6 ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของระดับค่าทางชีวเคมีที่สำคัญ ด้านหน้าที่ไต ตับ และอื่นๆ ของตำรวจจราจร จำนวน 264 คน กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535
health-0087 - Copy

สำหรับอาการป่วยในรอบ 90 วันที่ผ่านมาของตำรวจจราจรกลาง พบว่ามีอาการอ่อนแรง ร้อยละ 19 นอนไม่ค่อยหลับ ร้อยละ 16 ปวดท้องเป็นๆ หายๆ ร้อยละ 19 ปวดศีรษะเรื้อรังร้อยละ 22 ลืมง่ายร้อยละ 16 ผลการตรวจระดับตะกั่วในเลือดพบว่า มีตำรวจจราจรร้อยละ 17 ที่มีระดับตะกั่วในเลือดเท่ากับหรือมากกว่า 20 Ug % ดังรูปที่ 8

health-0087 - Copy1

โดยตรวจไม่พบระดับตะกั่วในเลือด ร้อยละ 1.5 และมีการกระจายของตะกั่วในเลือด ที่ระดับต่างๆ ดังตารางที่ 7 และรูปที่ 9

ตาราง 7 ร้อยละของตำรวจจราจรกลางจำแนกตามระดับตะกั่วในเลือด หน่วยเป็นไมโครกรัมเปอร์เซนต์ กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535

health-0088 - Copy

health-0088 - Copy1
รูปที่ 9 ร้อยละของระดับตะกั่วในเลือดของตำรวจจราจรกลาง กรุงเทพมหานคร พ.ศ.2535

สำหรับอาการระบบหายใจ พบว่าส่วนใหญ่มีเสมหะในลำคอ ร้อยละ 28 รองลงไปคืออาการคัดจมูกนํ้ามูกไหลร้อยละ 25 หายใจลำบากเมื่อออกกำลังร้อยละ 25 ไอเรื้อรังร้อยละ 14 แน่นหน้าอก ร้อยละ 13 หายใจลำบาก ร้อยละ 10 และหายใจมีเสียงวี๊ดร้อยละ 8 สำหรับผลการตรวจภาพรังสีทรวงอกพบว่าผิดปกติ ร้อยละ 18 และมีผลการตรวจหน้าที่ของปอดผิดปกติร้อยละ 20 ดังรูป ที่ 10-11
health-0089 - Copy
รูปที่ 10 ร้อยละของตำรวจจราจรกลาง จำแนกตามผลการตรวจภาพรังสีทรวงอก พ.ศ.2535
health-0089 - Copy1
รูปที่ 11 ร้อยละของตำรวจจราจร จำแนกตามผลการตรวจหน้าที่ของปอด พ.ศ.2535

โดยจำแนกความผิดปกติของหน้าที่ปอด เป็นความผิดปกติแบบ obstructive ventilatory defect อย่างเดียว ร้อยละ 43 และ restrictive ventilatory defect ร้อยละ 25 ที่เหลือร้อยละ 32 เป็นความผิดปกติแบบ combined  ventilatory defect

ผลการตรวจการได้ยิน และการตรวจด้านประสาทการได้ยินของหู พบว่าตำรวจจราจรร้อยละ 28 มีความผิดปกติ และมีอาการผิดปกติของการได้ยินด้วย เข้าได้กับคำจำกัดความผู้ป่วยโรคประสาทหูเสื่อม จากเสียงดังร้อยละ 28 ดังรูปที่ 12
health-0090 - Copy
รูปที่ 12 ร้อยละของตำรวจจราจร จำแนกตามผลการตรวจการได้ยิน พ.ศ.2535

และเมื่อพิจารณาโดยรวม พบว่าตำรวจจราจรกลาง มีภาวะป่วยเรื้อรังจากมลพิษที่เข้าได้กับคำจำกัดความผู้ป่วยในแต่ละประเภท ดังนี้คือ ป่วยด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ร้อยละ 17 ป่วยด้วยโรคระบบหายใจอักเสบเรื้อรังร้อยละ 20 และเป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง ร้อยละ 28 และมีบางส่วนที่พบทั้งโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ร่วมกับโรคระบบหายใจอักเสบเรื้อรัง ร้อยละ 15 พบโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ร่วมกับโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังร้อยละ 14 พบโรคระบบหายใจอักเสบเรื้อรัง ร่วมกับโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังร้อยละ 18 และร้อยละ 12 พบทั้งโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ระบบหายใจอักเสบเรื้อรัง และประสาทหูเสื่อมจากเสียงดัง ดังรูปที่ 13 และตารางที่ 8
health-0090 - Copy1
รูปที่ 13 แสดงอัตราชุกของปัญหาสุขภาพจากมลพิษในตำรวจจราจร พ.ศ.2535

ตารางที่ 8 อัตราชุกของโรคจากมลพิษทางการจราจร ในตำรวจจราจร พ.ศ.2535 เปรียบเทียบกับอัตราชุกของประชากรผู้ใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร
health-0091 - Copy

สรุปและวิจารณ์ผล
การศึกษานี้ พบว่าตำรวจจราจรกลาง กรุงเทพมหานคร มีปัญหาสุขภาพจากมลพิษทางจราจร ร้อยละ 32 โดยจำแนกเป็นการป่วยด้วยโรคพิษตะกั่วเรื้อรังร้อยละ 17 โรคระบบหายใจอักเสบเรื้อรัง ร้อยละ 20 และโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังร้อยละ 28 ซึ่งนับเป็นปัญหาสุขภาพแบบเรื้อรัง ที่บั่นทอนสมรรถนะของตำรวจจราจร และการดำ เนินชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่กรมตำรวจจะได้มีโครงการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจากมลพิษในตำรวจจราจรนี้ และกำหนดมาตรการในการป้องกันปัญหาสุขภาพของตำรวจจราจร และส่ง เสริมสุขภาพควบคู่ไปด้วย

ผลการศึกษาในครั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาสุขภาพในกลุ่ม เดียวกันของประชากรผู้ใหญ่ของกรุงเทพมหานครแล้ว ดังตารางที่ 8 แล้ว จะพบว่า ตำรวจจราจรในการศึกษาครั้งนี้มีปัญหาสุขภาพจาก มลพิษในอัตราชุกที่มากกว่าประชากรผู้ใหญ่ของกรุงเทพมหานครในทุกด้าน ซึ่งมีอัตราชุกของโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง ร้อยละ 2 เป็นโรคระบบหายใจอักเสบร้อยละ 11 และ เป็นโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังร้อยละ 12 กล่าวคือ มีอัตราชุกของโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง โรคระบบหายใจ และโรคประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังสูงกว่าประชากรทั่วไป ร้อยละ 15, 9 และ 16 ตามลำดับ สำหรับปัญหาโรคพิษตะกั่วเรื้อรัง พบว่า การศึกษาในปี 2535 นี้ ตำรวจจราจรมีอัตราชุกของโรคพิษตะกั่วเรื้อรังสูงกว่า การศึกษาในปี 2533 และ ในปี 2533 และ 2534 ของอรพรรณ์ เมธาดิลกกุล และคณะ และวิชัย เอกพลากรกุล และคณะ ซึ่งพบว่า ตำรวจจราจรในกรุงเทพมหานครมีอัตราชุกของโรคพิษตะกั่วเรื้อรังร้อยละ 8 และ 12 ตามลำดับ และในส่วนของปัญหาโรคระบบหายใจนั้น วิชัย เอกพลากรกุล และคณะได้ศึกษาในปี 2533 และ 2534 พบว่า ตำรวจจราจรในกรุงเทพมหานคร มีสมรรถภาพของปอดลดลงร้อยละ 9.5 และ 23.3 ตามลำดับ ซึ่งในปี 2534 ให้ผลใกล้เคียงกับการศึกษานี้

เนื่องจากสภาพการปฏิบัติงานในท้องถนนที่มีบรรยากาศปนเปื้อนด้วยมลพิษลักษณะที่ตำรวจจราจรกรุงเทพมหานครปัจจุบันทำหน้าที่อยู่ ในระยะเวลาทำงานมาตรฐาน คือ 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 5 วันในหนึ่งสัปดาห์ ก็นับได้ว่าอันตรายมากแล้ว แต่จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าตำรวจจราจรบางส่วนต้องปฏิบัติงานกว่าวันละ 10 ชั่วโมง ถึง 14 ชั่วโมง และส่วนใหญ่คือร้อยละ 46 ต้องปฏิบัติงานถึง 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ ในระยะใกล้ๆ และรีบด่วนนี้ ควรหามาตรการป้องกันเฉพาะหน้า ได้แก่การลดชั่วโมงการปฏิบัติงานของตำรวจจราจร ท่ามกลางมลพิษนี้ให้น้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกินกว่า 5 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่ยังไม่สามารถจะเร่งระดมการลดปริมาณมลพิษทางจราจรจากแหล่งได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ สิ่งนี้จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหาสุขภาพของตำรวจจราจรได้บ้าง เนื่องจากด้วยวิธีดังกล่าว ร่างกายจะมีระยะเวลาในการกำจัดมลพิษออกจากร่างกายด้วย เมื่อ เว้นจากการสัมผัสสารพิษ แต่ถ้ายังคงสัมผัสสารพิษอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เว้นทุกวันเช่นนี้ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถกำจัดสารพิษได้ทัน จะสะสม และนำไปสู่การเกิดโรคได้ง่าย สำหรับปัญหาขาดแคลนตำรวจที่ปฏิบัติงานจราจร เป็นสิ่งที่ต้องใช้มาตรการด้านการบริหารจัดการ เข้ามาดำเนินการต่อไป นอกจากนั้น ยังควรจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพ เช่นหน้ากากป้องกันสารพิษ กาซพิษ เขม่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ เข้าถึงถุงลมได้ โดยให้เป็นหน้ากากที่ถูกต้อง และมีการรับรองว่าป้องกันมลพิษที่ต้องการป้องกันได้ สำหรับปัญหาเรื่องประสาทหูเสื่อม ก็ให้มีการใช้ ear muff หรือ ear plug มีการตรวจ fitness ของบุคคลก่อนการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว และมีการการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องด้วย การแก้ไข และป้องกันปัญหาในระยะยาว สมควรที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งดำเนินการลดมลพิษที่แหล่ง กล่าวคือมีการใช้พลังงานรูปอื่นแทนพลังงานที่ได้จากเครื่องยนต์ เช่นการใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อ การเดิน การใช้จักรยาน โดยผู้ที่เกี่ยวข้องควรศึกษาความเป็นไปได้อย่างจริงจัง ก่อนที่จะมีความเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากหลายประเทศ และเมืองใหญ่หลายแห่งได้ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาแล้ว สำหรับแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องยนต์ ควรได้พิจารณาเชื้อเพลิงที่มีมลพิษไม่มาก เช่นกาช LPG ในรถส่วนบุคคล หรือรถรับจ้างสาธารณะในทุกวันนี้ หรือ compressed natural gas ในรถขนาดที่ใหญ่ขึ้น และถ้าเป็นเครื่องยนต์ที่ต้องใช้ประเภทน้ำมัน ก็ควร เป็นน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ควรลดการใช้รถที่เครื่องใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งมีเขม่า และมลพิษมากในเขตเมือง ที่การระบายอากาศไม่สู้ดี รองลงไปคือ ผู้ใช้รถควรหมั่นดูแลเครื่องยนต์ และมีบริการด้านการตรวจระบบนี้แก่รถให้ทั่วถึง และมาตรการจำเป็นอื่นๆ

สำหรับมาตรการทางการแพทย์ที่จำเป็นในการป้องกันปัญหาโรคจากมลพิษในครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้ที่ป่วยเรื้อรังเหล่านี้ ได้รับการดูแลรักษา และให้ได้รับความรู้ในการป้องกันตนเอง กับทั้งให้มีการหมุนเวียนหน้าที่การงานตามความเหมาะสม ร่วมกับการส่งเสริมสุขภาพทั่วไปให้ดีด้วย และให้ตรวจติดตามต่อไปเป็นระยะ นอกจากนั้นยังได้จัดให้มีการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจากมลพิษในตำรวจจราจรโดยกรมตำรวจ โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลราชวี โดยกำหนดให้มีการดำเนินงานเป็นประจำทุกปี จนกว่าสถานการณ์โรคจะลดความชุกชุม และรุนแรงลง นอกจากนั้น ยังกำหนดให้มีการศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อดูระดับของปัจจัยสัมผัส กับการเสี่ยงในการเกิดโรค และการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ที่มา:พตท.แพทย์หญิง วนิดา ศศิวิมลกุล
แพทย์หญิงอรพรรณ์  เมธาดิลกกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า