สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปวดศีรษะจากความเครียด (Tension-type headache/TTH)

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย มักเริ่มเป็นครั้งแรกในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย มักมีอาการกำเริบบ่อยในช่วงอายุ 20-50 ปีโรคเครียด

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าอาจเกิดจากการกระตุ้นของสิ่งเร้าที่กล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้การทำงานของระบบประสาทส่วนกลางเกิดความผิดปกติ อาจเป็นที่ไขสันหลังบางส่วนหรือเส้นประสาทเส้นที่ 5 แล้วส่งผลมาที่เนื้อเยื่อรอบกะโหลกศีรษะ ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง หรือมีการเปลี่ยนแปลงของสารส่งผ่านประสาท เช่น ซีโรโทนิน เอนเดอร์ฟิน โดพามีน ในเนื้อเยื่อจึงทำให้ปวดศีรษะ

สาเหตุกระตุ้นส่วนใหญ่ได้แก่ ความเครียด กินอาหารผิดเวลา อดนอน สายตาอ่อนล้า หรืออาการเพลีย ยังอาจพบร่วมกับโรคไมเกรน โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ความผิดปกติทางอารมณ์หรือการปรับตัว

อาการ
มีอาการปวดหนักๆ ตื้อๆ ที่ขมับ หน้าผาก กลางศีรษะ ท้ายทอย หรือทั่วศีรษะ หรือปวดรอบศีรษะคล้ายเข็มขัดรัด อาจปวดอยู่นาน 30 นาทีถึง 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่มักเป็นนานกว่า 24 ชั่วโมง หรือเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน ในบางราย อาการปวดมีเพียงเล็กน้อยถึงปานกลางคงที อาการรุนแรงพบได้น้อย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และไม่เป็นมากขึ้นเมื่อถูกเร้าจากสิ่งกระตุ้นแบบไมเกรน

อาการปวดศีรษะอาจมีตั้งแต่ตื่นนอน ตอนเช้า บ่าย หรือเย็น หรือหลังจากคร่ำเคร่งกับการทำงาน เมื่อหิว คิดมาก วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน แต่กล้ามเนื้ออาจมีอาการตึงตัว พบจุดกดเจ็บบริเวณรอบๆ ศีรษะ ท้ายทอย หลังคอ หรือบริเวณไหล่

การรักษา
1. ควรให้ผู้ป่วยนอนพัก นวดต้นคอและขมับหรือทานวดด้วยยาหม่อง ประคบด้วยความร้อนหรือความเย็น หากอาการยังไม่ดีขึ้นก็ให้ยาแก้ปวดหรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ครั้งละ 1-2 เม็ด อาจให้เดี่ยวๆ หรือให้ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ ถ้านอนไม่หลับ ให้ไดอะซีแพมขนาด 5-20 มก. กินก่อนนอน ให้การรักษาตามอาการในรายที่เกิดจากความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า

2. ถ้ามีอาการปวดแบบรุนแรงถี่ขึ้นทุกวัน และมักปวดมากตอนดึกหรือเช้ามืดจนทำให้นอนไม่หลับหรือสะดุ้งตื่น มีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนานมากกว่า 2 สัปดาห์ หรือสงสัยจะเกิดจากสาเหตุร้ายแรงอื่น ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด เช่น การตรวจด้วยการถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น หากปวดศีรษะจากความเครียดเรื้อรังอาจเกิดภาวะซึมเศร้า เช่น มีอาการท้อแท้ เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ตื่นกลางดึก ควรให้ยาแก้ซึมเศร้าเพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น เช่น อะมิทริปไทลีน

ถ้าการรักษาโรคนี้มีอาการดื้อต่อยาแก้ปวดแพทย์อาจให้การรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น กายภาพบำบัด เทคนิคการผ่อนคลาย จิตบำบัด กระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้า ฉีดสารโบทูลิน การฝังเข็ม เป็นต้น

ใน 1 สัปดาห์ถ้ามีอาการกำเริบมากกว่า 2 ครั้ง และปวดในแต่ละครั้งนานกว่า 3-4 ชั่วโมงหรือปวดรุนแรง หรือต้องใช้ยาแก้ปวดบ่อยๆ ควรให้ผู้ป่วยกินยาป้องกัน เช่น อะมิทริปไทลีน 25-100 มก./วัน หรือฟลูออกซีทีน 10-60 มก./วัน ติดต่อกันนาน 1-3 เดือน

ข้อแนะนำ
1. ก่อนวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ ควรตรวจวัดความดันควรซักถามอาการให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีสาเหตุร้ายแรงจากโรคอื่นแทรกซ้อน เพราะอาการปวดศีรษะจากความเครียดแม้จะเป็นๆ หายๆ บ่อยครั้งแต่ก็ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด

2. ผู้ป่วยอาจปวดศีรษะข้างเดียว ปวดแบบตุบๆ ที่ขมับเหมือนไมเกรน แต่อาจพบร่วมกันหรือแยกไม่ชัดในบางครั้ง ควรให้การรักษาแบบไมเกรนไปพร้อมๆ กันด้วย

3. เนื้องอกในสมองระยะแรกอาจมีอาการปวดศีรษะไม่มากคล้ายปวดศีรษะจากความเครียด แต่ต่อมาอาจจะปวดถี่และแรงขึ้น มักปวดตอนดึกหรือเช้ามืดจนต้องสะดุ้งตื่นทุกวันและมีอาการเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ นานเกิน 2 สัปดาห์ หากพบอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

4. ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ที่ปวดศีรษะจากความเครียดและมีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กระดูกคอเสื่อม การบาดเจ็บที่ศีรษะและคอ การอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น จึงควรค้นหาสาเหตุและแก้ไขภาวะเหล่านี้พร้อมๆ กันไปด้วย

5. การใช้ยาเมื่อเกิดภาวะนี้มากเกินไป อาจทำให้ปวดศีรษะจากการขาดยาได้ จึงควรระวังการใช้ยาที่เกินขนาด และควรเน้นที่การปฏิบัติตัวมากกว่า

6. ภาวะนี้อาจมีสาเหตุจากโรคซึมเศร้า จึงควรให้การรักษาร่วมกันไปด้วย

7. ผู้ที่ปวดศีรษะจากภาวะนี้เป็นประจำ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่คร่ำเคร่งกับงานมากเกินไป อย่าปล่อยให้หิว ไม่ใช้สายตาจนเมื่อยล้า ออกกำลังกายเป็นประจำ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ เช่น ฟังเพลง เล่นโยคะ สวดมนต์ ทำสมาธิ เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า