สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปวดฟัน ฟันผุ(Dental caries/Tooth decay)

พบได้ในคนทั่วไป โดยเฉพาะในเด็กที่ชอบกินลูกกวาดหรือของหวานแล้วไม่ได้แปรงฟันให้สะอาดฟันผุ

สาเหตุ
เกิดจากน้ำตาลที่ค้างอยู่ในปาก หรือเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน และเมื่อสัมผัสกับฟันไปนานๆ จะทำให้แบคทีเรียที่อยู่บนคราบฟันย่อยสลายอาหารเหล่านั้นให้เกิดเป็นสารกรด เข้ากัดกร่อนผิวฟันทีละน้อยจากชั้นเคลือบฟันเข้าไปในเนื้อฟัน จนไปถึงโพรงประสาทฟันจึงทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง

อาการ
จะมีอาการปวดเสียวฟันเล็กน้อยเวลากินของหวาน ของเย็นจัด หรือร้อนจัดในระยะแรกๆ

อาจทำให้มีกลิ่นปากได้จากเศษอาหารที่ติดอยู่ในโพรงฟันที่ผุมากขึ้น

มักมีอาการปวดฟันรุนแรงหากฟันผุจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันทำให้โพรงประสาทฟันอักเสบ บางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงหรือปวดแปลบๆ ตรงตำแหน่งของฟันที่ปวด เมื่อกินของหวาน ของเย็นจัด ของร้อนจัด และจะปวดฟันรุนแรงยิ่งขึ้นหากปล่อยไว้จนรากฟันอักเสบเป็นหนอง

สิ่งตรวจพบ
พบฟันผุเป็นรู ในบางรายพบอาการรากฟันอักเสบเป็นหนอง แก้มบวมปูด อาจมีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมและปวด

ภาวะแทรกซ้อน
มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงหากฟันผุไม่มาก แต่ถ้าฟันผุมากมักมีอาการอักเสบและปวดฟันบ่อยๆ กินอาหารไม่ได้ ร่างกายขาดอาหาร เกิดการอักเสบในช่องปาก เช่น คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น หรืออาจเป็นไซนัสอักเสบ โลหิตเป็นพิษ จากการที่รากฟันเป็นหนองและการลุกลามของเชื้อในช่องปาก

ภาวะที่ร้ายแรงคือ อาจมีการติดเชื้อรุนแรงของเนื้อเยื่อบริเวณขากรรไกรหรือใต้ลิ้น เรียกว่า ลุดวิกแองไจนา(Ludwig’s angina) ทำให้มีอาการบวมบริเวณใต้คางและใต้ขากรรไกรทั้งสองข้าง ผิวหนังสีน้ำตาลแข็งเป็นดานและกดเจ็บ เนื้อเยื่อใต้ลิ้นที่บวมจะดันลิ้นขึ้นข้างบนและไปข้างหลัง มักมีอาการไข้ร่วมด้วย ถ้ามีอาการรุนแรงผู้ป่วยมักอ้าปาก กลืน พูด และหายใจลำบาก อาจเกิดการอุดกั้นของทางเดินหายใจ หรือโลหิตเป็นพิษจนเสียชีวิตได้

การรักษา
ขณะที่มีอาการปวดให้กินยาแก้ปวดระงับชั่วคราว หรือให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน ถ้ามีอาการอักเสบหรือเป็นหนอง ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการอุดหรือถอนฟันที่เสีย

ข้อแนะนำ
1. นอกจากสาเหตุของฟันผุที่ทำให้ปวดฟันแล้ว ยังมีสาเหตุจากฟันคุด หรือภาวะที่ฟันกรามซี่สุดท้ายโผล่ขึ้นไม่ได้ เนื่องจากขากรรไกรของคนเราเล็กลง ฟันซี่นี้ปกติจะขึ้นตอนอายุ 17-25 ปี เมื่อขึ้นได้ไม่สุดทำให้บริเวณนั้นมีซอกให้อาหารติดค้าง ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมรอบๆ ฟันซี่นั้น อาจมีไข้ขึ้นในบางราย มักเกิดกับฟันกรามล่างซี่ในสุดทั้งสองข้าง ควรใช้ยาแก้ปวดหรือยาปฏิชีวนะในระหว่างที่ปวด และควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อถอนออก

2. โรคปวดประสาทใบหน้า เกิดจากความผิดปกติของประสาทสมองเส้นที่ 5ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมากในช่วงอายุ 40-50 ปี มีอาการปวดเหมือนถูกมีดแทงหรือเข็มร้อนๆ แทง หรือไฟช็อตที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง เป็นนานครั้งละ 10-30 วินาที มักปวดมากเวลาพูด เคี้ยว ล้างหน้า สัมผัสถูก มีอาการคล้ายปวดฟัน ดังนั้นหากไม่พบฟันผุหรือเหงือกอักเสบแต่มีอาการปวดฟัน ควรนึกถึงโรคนี้และรีบปรึกษาแพทย์ทางระบบประสาท ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาคาร์บามาซีพีน(carbamazepine)

การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการอมหรือจิบของกินที่มีน้ำตาลต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ หลังกินอาหารเหล่านี้ควรบ้วนปากให้สะอาดทันทีอย่าให้มีน้ำตาลตกค้างในปาก ผู้ที่ฟันผุง่ายควรลดอาหารเหล่านี้ เช่น ทอฟฟี่ ลูกอม น้ำตาล น้ำผึ้ง ของหวาน น้ำหวาน น้ำผลไม้ นม เป็นต้น

2. แปรงฟันอย่างถูกวิธี วันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ควรบ้วนปากหลังกินอาหารทันที ใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย

3. ใช้ฟลูออไรด์ ในรูปของยาเม็ด ยาอมบ้วนปาก ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงขนาดและวิธีการใช้ถ้าใช้ชนิดกิน เพราะอาจทำให้ฟันตกกระหากใช้มากไปหรือกินในขนาดสูงๆ ซึ่งอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ ฟลูออไรด์จะเสริมสร้างผิวเคลือบฟันให้แข็งแรงมักใช้ได้ผลดีในเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันกำลังเจริญเติบโต

4. ควรไปพบทันตแพทย์ทุก 6-12 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า