สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปวดประจำเดือน(Dysmenorrhea)

เป็นอาการปวดท้องขณะมีประจำเดือน มักจะปวดไม่มาก สามารถทำงานได้ตามปกติ ที่ต้องหยุดเพราะมีอาการปวดรุนแรงมักพบได้น้อยรายประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดปฐมภูมิ กับชนิดทุติยภูมิ ส่วนใหญ่มักจะพบเป็นมากในชนิดปฐมภูมิหรือเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ

ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ มักจะพบอาการในเด็กสาวที่มีประจำเดือนเป็นครั้งแรก หรือภายใน 2-3 ปีหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก ในช่วงอายุ 15-25 ปีมักจะมีอาการมากที่สุด และอาการจะค่อยๆ ลดลงหลังจากวัยนี้ ในบางรายอาจหายปวดหลังแต่งงาน หรือหลังมีบุตรแล้ว ที่ยังมีอาการตลอดไปจนถึงวัยหมดประจำเดือนมักพบได้เป็นส่วนน้อย

ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ เมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไปมักมีอาการปวดเป็นครั้งแรก โดยที่ก่อนหน้านี้จะไม่มีอาการปวดประจำเดือนเลย

สาเหตุ
ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ มดลูกและรังไข่จะไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด แต่เชื่อกันว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างมีประจำเดือน และมีการหลั่งสารพรอสตาแกลนดินมากผิดปกติเป็นสาเหตุการเกิดในปัจจุบัน ทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณท้องน้อยจากการที่มดลูกมีการบีบเกร็งตัว

ปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ มดลูกและรังไข่มักมีความผิดปกติ เช่น เยื่อบุมดลูกต่างที่ เนื้องอกมดลูก มดลูกย้อยไปด้านหลังมาก ปีกมดลูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น

เชื่อว่าสิ่งที่มีส่วนเสริมให้มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงขึ้นทั้ง 2 ชนิด คือ อารมณ์ ซึ่งมักจะพบว่าผู้ที่มีอารมณ์ดีมักจะปวดประจำเดือนน้อยกว่าผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่ายหรือมีภาวะเครียด

อาการ
มักเริ่มมีอาการก่อนมีประจำเดือนเพียงไม่กี่ชั่วโมง มักเป็นอยู่ 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน โดยจะมีอาการปวดบิดบริเวณท้องน้อยเป็นพักๆ หรืออาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ใจคอหงุดหงิดร่วมด้วยในบางราย

อาจมีอาการเหงื่อออก ตัวเย็น มือเท้าเย็นได้ถ้าปวดรุนแรง

สิ่งตรวจพบ
มักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

การรักษา
1. ให้กินยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด เวลาปวดซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ถ้ามีอาการปวดไม่มาก

2. ให้นอนพัก ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบหน้าท้อง และให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น อินโดเมทาซิน ไอบูโพรเฟน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3-4 ครั้งถ้ามีอาการปวดมาก ควรกินก่อนมีประจำเดือน 48 ชั่วโมง และกินทุกวันจนประจำเดือนหยุด หรือให้ยาแอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน ไฮออสซีน ครั้งละ 1-2 เม็ด เพื่อบรรเทาปวดและซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง

3. ให้ฉีดแอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน หรือไฮออสซีน ½ -1 หลอด เข้ากล้ามหรือหลอดเลือดดำถ้าปวดมากจนมีเหงื่อออก ตัวเย็น แต่ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากอาการยังไม่ทุเลา

4. อาจให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อมิให้มีการตกไข่และระงับปวดได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งในรายที่เป็นอยู่ประจำ ควรให้ยาติดต่อกันนาน 3-4 เดือน แล้วลองหยุดยา และควรให้กินยาเม็ดคุมกำเนิดต่อไปอีกถ้ามีอาการปวดกำเริบขึ้น และหยุดยาเมื่ออาการทุเลาลงจนไม่กำเริบซ้ำอีก

5. ควรแนะนำผู้ป่วยให้ไปโรงพยาบาล ในผู้หญิงอายุ 25 ปีขึ้นไปที่เริ่มปวดประจำเดือนเป็นครั้งแรก หรือยังปวดมากหลังแต่งงาน และมีเลือดประจำเดือนออกมากผิดปกติ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แน่นอนและให้การรักษาตามสาเหตุที่พบแพทย์อาจต้องตรวจภายใน และตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น อัลตราซาวนด์ การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ในเด็กสาวที่เริ่มมีอาการปวดประจำเดือนเป็นครั้งแรกควรให้ความมั่นใจและแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับประจำเดือน ว่าอาการนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด และอาจหายหรือทุเลาลงได้เมื่ออายุมากขึ้น

2. มักมีสาเหตุจากเยื่อบุมดลูกต่างที่ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีบุตรยากจากอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงเป็นประจำ

3. ผู้ป่วยควรรีบไปโรงพยาบาลในรายที่เคยปวดประจำเดือนเป็นประจำและปวดรุนแรงผิดปกติจากที่เคยเป็น โดยเฉพาะถ้ามีอาการกดเจ็บบริเวณท้องน้อยข้างขวาเพราะอาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือสาเหตุอื่นๆ ที่ร้ายแรงได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า