สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ปวดกล้ามเนื้อหลัง(Musculotendinous strain)

เป็นอาการปวดหลังที่พบได้บ่อย พบได้ในวัยหนุ่มสาวเป็นต้นไป มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง และหายได้เองไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใดปวดกล้ามเนื้อหลัง

สาเหตุ
เกิดจากแรงกดตรงกล้ามเนื้อสันหลังส่วนล่าง มีอาการเกร็งตัว ทำให้ปวดบริเวณกลางหลังส่วนล่างมักเกิดจากการทำงานก้มๆ เงย ยกของหนัก เล่นกีฬา นั่ง ยืน นอนหรือยกของในท่าที่ไม่ถูกต้อง ใส่รองเท้าส้นสูงมากเกินไป หรือนอนที่นอนนุ่มเกินไป อาการปวดหลังอาจเกิดกับคนอ้วน หรือหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ได้เช่นกัน

อาการ
ผู้ป่วยมักจะรู้สึกปวดตรงกลางหลังส่วนล่างเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน หรือค่อยๆ เป็นที่ละน้อย อาจปวดตลอดเวลาหรือปวดเฉพาะบางท่า การไอ จาม หรือบิดตัวเอี้ยวตัวอาจทำให้ปวดมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีสุขภาพที่แข็งแรงดีและไม่มีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย

สิ่งตรวจพบ
มักไม่พบว่ามีสิ่งผิดปกติแต่อย่างไร หรืออาจพบอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลังในบางราย

การรักษา
1. ให้แก้ไขตรงสาเหตุที่ทำเกิดอาการ เช่น อาจเกิดจากที่นอนนุ่มเกินไปหรือนอนเตียงสปริงถ้าปวดหลังจากตื่นนอน ให้แก้ไขด้วยการนอนบนที่แข็งและเรียบแทน ถ้าปวดตอนเย็นอาจเกิดจากการนั่งตัวงอตัวเอียง หรือใส่รองเท้าส้นสูง จึงควรนั่งให้ถูกท่าและใส่รองเท้าส้นธรรมดาแทน ควรลดน้ำหนักหากอ้วนเกินไป

2. ถ้ามีอาการปวดมากให้นอนหงายบนพื้นแล้วใช้เท้าพาดบนเก้าอี้ให้เข่างอเป็นมุมฉากสักครู่หนึ่ง จะทำให้อาการทุเลาลงได้ หรือจะใช้ยาหม่องหรือน้ำมันระกำทานวด หรือใช้น้ำอุ่นจัดๆ ประคบก็ได้ ให้ใช้ยาแก้ปวด เช่น แอสไพริน พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด จะกินควบกับไดอะซีแพม ขนาด 2 มก. ด้วยก็ได้หากยังไม่หายปวด หรือจะใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น เมโทคาร์บามอล คาริโซโพรดอล ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง

ผู้ป่วยควรหมั่นฝึกกายบริหารให้กล้ามเนื้อหลังแข็งแรงและควรนอนที่นอนแข็ง

3. อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ถ้าเป็นเรื้อรัง มีอาการปวดร้าวมาที่ขาหรือชาที่ขา ขาไม่มีแรง น้ำหนักลด ผู้ป่วยควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อเอกซเรย์หรือตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อได้ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

อาจตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนในรายที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากภาวะวิตกกังวล ความเครียดหรือซึมเศร้า ถ้าผู้ป่วยมีประวัติอาการทางจิตใจและอารมณ์ควรรักษาร่วมกันไปด้วย

ข้อแนะนำ
1. อาการนี้มักพบบ่อยในหมู่ชาวไรชาวนา กรรมกรที่ทำงานหนัก และในคนที่ทำงานนั่งโต๊ะนานๆ ซึ่งอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคไต โรคกษัย และซื้อยากินอย่างผิดๆ จนเกิดโทษ จึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงสาเหตุของอาการปวดหลังและใช้ยาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

มักจะปวดตรงกลางหลังในอาการปวดหลังเนื่องจากกล้ามเนื้อ แต่ในโรคไตมักจะปวดที่สีข้างเพียงข้างเดียว และอาจมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือแดงร่วมด้วย

2. ผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง ถ้าปวดร้าวลงมาที่ขาอาจเป็นอาการปวดตามประสาทไซแอติดเนื่องจากรากประสาทถูกกด

3. หากมีอาการปวดหลังเรื้อรังทุกวันนานเกิน 3 เดือน ควรคิดถึงโรคข้อสันหลังอักเสบเรื้อรังมากกว่าอาการปวดกล้ามเนื้อหลังหรือปวดยอกหลังธรรมดา โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุ 10-30 ปี และเป็นผู้ชาย

การป้องกัน
สามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการรักษาอิริยาบถ เช่น ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ ให้ถูกต้อง หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อหลังเป็นประจำ ก่อนและหลังเล่นกีฬาควรบริหารร่างกาย ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม นอนบนที่นอนที่แข็ง เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า