สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ประสบการณ์ในโรงงานเกี่ยวกับสุขศาสตร์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ

ในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ลูกจ้างและเจ้าของสถานประกอบกิจการขาดความรู้ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในการใช้สารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานไม่สนใจต่อการใช้เครื่องป้องกันอันตราย ส่วนบุคคล จนทำให้เกิดโรคเนื่องจากการทำงานขึ้น โดยเฉพาะโรคจากสารพิษ พนักงานเหล่านี้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ที่คลีนิค แพทย์ที่ทำการรักษาไม่สามารถตรวจหาสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ จึงเป็นสิ่งที่น่าสงสารยิ่งต่อพนักงานเหล่านี้ ในที่สุดก็ต้องเสียชีวิต หรือพิการ โดยไม่ได้อะไร เลยจากโรงงาน และยังทิ้งภาระในครอบครัวให้แก่สมาชิกอื่นๆ ต่อไป ทั้งนายจ้างและลูกจ้างไม่รู้ว่าโรคแปลกๆ ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากสาเหตุใด และจะหาวิธีการป้องกันได้อย่างไร

ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2528 ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกสิทธิ  จิรโรจน์ ให้นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไป ในสถานประกอบกิจการแต่ละแห่ง จัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานอย่างน้อยแห่งละ 1 คน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลาที่มีการทำงานดังต่อไปนี้

1. ดูแลให้มีการปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง

2. ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานแก่นายจ้าง และลูกจ้าง

3. ควบคุมและดูแลการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยให้ถูกวิธี และให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้

4. ตรวจสภาพการทำงาน และการปฏิบัติงานของลูกจ้าง แล้วรายงานนายจ้างให้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน

5. บันทึก จัดทำรายงาน และสอบสวนเกี่ยวกับอุบัติเหตุ และโรคซึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน

6. ส่งเสริม สนับสนุนให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

สิ่งเหล่านี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายจ้างให้ปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศมีความลำบากใจอยู่มากในการปฏิบัติงานในบริษัทของตนเอง

ข้าพเจ้าเมื่อได้รับแต่งตั้งจากนายจ้างให้เป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยของบริษัทก็ได้เข้ารับการศึกษาอบรมและทดสอบเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กรมแรงงานในสมันนั้น) ระยะเวลาฝึกอบรม 180 ชั่วโมง หลังจากได้ศึกษาและอบรมแล้ว ได้ตรวจสภาพการทำงานในโรงงานที่รับผิดชอบ พบว่าในแผนกที่ใช้สารเคมี พนักงานส่วนใหญ่ถอดเสื้อทำงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ กว่าจะแนะนำให้ลูกจ้างและหัวหน้างานได้เข้าใจได้ นับเป็นเรื่องยากยิ่งนัก

กระทั่งเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2532 มีพนักงานที่ทำงานได้ป่วย มีอาการปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง มึนงง หน้ามืด เซง่าย ลุกเดินแล้วล้ม ต้องมีผู้พยุง จนเดินไม่ไหว อ่อนแรง คิดช้า ความคิดสับสน ความจำไม่ดีกันหลายราย มีอาการมากน้อยต่างกัน ได้ไปรับการรักษาที่ห้องอนามัยของบริษัทแล้วหลายครั้งก็ไม่ดีขึ้น ต่อมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่ง ก็ไม่ดีขึ้น อาการมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายพนักงานรายหนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคประสาท ต่อมาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต และก็ไม่ดีขึ้น จึงได้ไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่โรงพยาบาลราชวิถีในที่สุด ผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด และพบว่า เป็นโรคจากสารพิษเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการทำลายระบบประสาทบางส่วน แพทย์ได้ให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง และติดตามการรักษา จนผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก และสามารถกลับไปทำงานได้ แพทย์แนะนำให้ เว้นการสัมผัสสารพิษดังกล่าว เมื่อได้นำเสนอต่อบริษัทนั้น บริษัทก็ตระหนักในปัญหานี้ จึงได้ให้พนักงานเปลี่ยนหน้าที่ ต่อมาก็มีพนักงานป่วยเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เป็นผื่นแดง และบวมทั่วๆ ตัว เป็นมากที่แขน และกกหูทั้งสองข้าง ไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง อาการดังกล่าวก็ไม่หาย กลับเพิ่มมากขึ้น จึงนำผู้ป่วยไปรักษา โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลราชวิถี เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน พบว่าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในระบบประสาท และระบบเลือดร่วมด้วย นอกจากอาการทางโรคผิวหนัง ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคจากสารพิษที่เป็นสารทำละลาย มีการนำตัวอย่างสารที่ผู้ป่วยทำงานให้แพทย์ตรวจดูด้วย ในการนี้ทางบริษัทได้เชิญแพทย์พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญเข้าทำการตรวจด้านสุขภาพและความปลอดภัย ในการทำงานของโรงงานทั้งหมด และเน้นหนักแผนกที่มีผู้ป่วย ซึ่งมีการใช้สารเคมีดังกล่าว คณะผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมตรวจกับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และผู้แทนฝ่ายบริหาร และเข้าตรวจ เยี่ยมห้องอนามัย สำรวจประวัติการป่วย และการเข้ารับการบริการในปัญหาสุขภาพของพนักงาน ได้ให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้านความปลอดภัย และสุขภาพ แก่บริษัทหลายข้อ ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงการทำงานด้านความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งหมดดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางผิวหนังร่วมด้วย ก็หายป่วย ในขั้นแรกๆ ผู้ป่วยเมื่อดีแล้วได้กลับเข้าทำงานในแผนกงานเดิม ก็กลับมีอาการอีก จึงได้นำใบแพทย์ให้ผู้จัดการแผนกได้รับรู้ว่าพนักงานผู้นี้ไม่สามารถจะทำงานในแผนกนี้ได้ เนื่องจากป่วยเป็นพิษสารเคมี เมื่อได้รับสารเคมีจะมีอาการหน้ามืด มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ทางแผนกก็ได้ย้ายให้พนักงานผู้นี้ไปอยู่แผนกอื่น และมีการปรับปรุงบริเวณที่ทำงาน และปรับปรุงเปลี่ยนแปลง นำสารเคมีตัวอื่นมาทดแทนด้วย พนักงานกลุ่มดังกล่าวก็ได้มีอาการดีขึ้น ในระยะนั้นก็มีพนักงานในเวลาเดียวกันป่วยอีกหลายราย โดยมีอาการคล้ายกัน ก็ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ดำเนินการนำไปพบแพทย์ นำส่งโรงพยาบาล จัดการเรื่องยานพาหนะรับส่งผู้ป่วย เรื่องค่ารักษาพยาบาล หารือและรับคำแนะนำจากแพทย์ผู้รักษา นำเสนอและแจ้งผลการประสบอันตราย และการเป็นโรค เนื่องจากการทำงาน ทำเรื่องยื่นต่อกองทุนเงินทดแทน แนะนำ และดูแลการทำงานของเพื่อนร่วมงานผู้ป่วย เพื่อป้องกันการเกิดการป่วยรายใหม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ลูกจ้าง และบริษัทได้หามาตรการป้องกันปัญหาพิษจากสารเคมีเพิ่มเติม โดยการปรับปรุงสถานที่ทำงาน และย้ายแผนกงานที่ใช้สารเคมีไปตั้งในที่ใหม่ ซึ่งมีการเตรียมการด้านความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีด้วย

ปัญหาที่น่าหนักใจก็คือขั้นตอน และการวินิจฉัยว่าลูกจ้างประสบอันตรายหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับงานหรือไม่ ของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม(ในครั้งนั้นช่วงแรก ยังเป็นกรมแรงงานเดิม) ช้ามาก เป็นปี หรือมากกว่า เนื่องจากมิใช่เป็นการประสบอันตรายที่ เห็นได้ชัด เช่นการบาดเจ็บ และมีการวินิจฉัยที่ลูกจ้างเห็นว่าไม่เป็นธรรม ทำให้ลูกจ้างที่ป่วยและยื่นขอรับเงินทดแทนการเจ็บป่วยนั้น เกิด เบื่อหน่าย และต้องมีภาระในเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่เกินงบค่ารักษาพยาบาลประจำปีของบริษัท คิดหาทางออกโดยการจะให้ข่าวกับสื่อมวลชน เนื่องจากความเครียด และต้องการให้ทางรัฐบาลโดย เฉพาะกองทุนเงินทดแทนหันมาให้ความสนใจ และรับผิดชอบต่อปัญหาความเจ็บป่วยของคนงานมากขึ้น ต้องขอร้องให้ลูกจ้างใจเย็น และได้อุทธรณ์เรื่อง และรอจนกว่าคณะกรรมการจะมีคำสั่งวินิจฉัยอย่างไร ผลต่อมาก็คือคณะกรรมการกองทุน เงินทดแทน ได้พิจารณาอุทธรณ์ของลูกจ้าง และเห็นว่าลูกจ้างป่วยเป็นโรคจากการทำงาน (โรคจากสารพิษในการทำงาน) ให้กับนายจ้างจริง มีสิทธิได้รับค่าทดแทน โดยแจ้งให้ลูกจ้างทราบ เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2535  และบริษัทได้ เน้นหนักเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นนโยบาย และพนักงานก็มีความตื่นตัวในการป้องกันปัญหาโรคจากสารพิษเพิ่มขึ้นอย่างมาก และปฏิบัติตนให้ความร่วมมือในการป้องกันปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้น ในส่วนกิจกรรมเรื่องความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมี และอันตรายต่างๆ นั้น ก็ได้มีการกระทำมาด้วย และได้รับความสนใจจากพนักงาน มีการฉายวิดีโอ เรื่องโรคจากสารพิษต่างๆ และการทำงานกับสารเคมีให้พนักงานรับรู้และป้องกันตนได้ถูกต้อง โดยได้รับการสนับสนุนด้านสื่อดังกล่าวจากสำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลราชวิถี

จะเห็นได้ว่า ประสบการณ์ในการทำงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารพิษ เป็นเรื่องที่กระทำได้ โดยอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งลูกจ้างนายจ้าง ผู้รู้ที่เกี่ยวข้อง และส่วนของรัฐที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานเมื่อเรื่องเกิดแล้ว เป็นเรื่องที่ยากลำบาก ใช้เวลา และยากต่อการฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจ ร่างกาย และระบบงาน เป็นปัญหาด้านการจัดการมาก ดังนั้นการให้ความสำคัญกับส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันปัญหาโรคจากสารพิษ มีสุขศาสตร์ในการทำงาน จึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า สิ้นเปลืองเวลา ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า มีการจัดการที่ง่ายกว่า เนื่องจากเป็นการมองไปข้างหน้า ไม่ต้องยุ่งยากในการตามแก้ปัญหา ทำให้ผู้ทำงานไม่ป่วย หรือป่วยก็ทราบได้ในเบื้องแรก ไม่ทำให้ผู้ทำงานเสียขวัญ มีกำลัง ใจ และมีความรู้สึกรักองค์กร จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทุกฝ่าย ให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาโรคจากสารพิษ รวบรวมประสบการณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนกันในการช่วยกันพัฒนาชีวิตการทำงาน และสุขภาพของพนักงานร่วมกันต่อไป

ที่มา:นายมานิตย์ รวมลี

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า