สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ประจำเดือนไม่มา/ประจำเดือนขาด(Amenorrhea)

เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้หญิงทั่วไป ในผู้หญิงประจำเดือนจะมาครั้งแรกในระหว่างอายุ 11-14 ปี และถือว่าผิดปกติหากเลยช่วงอายุนี้ไปแล้วประจำเดือนยังไม่มา เรียกว่า ภาวะประจำเดือนไม่เคยมาภาวะประจำเดือนขาด

ในบางรายประจำเดือนขาดหายไปด้วยสาเหตุต่างๆ จากที่เคยมาเป็นปกติอยู่เป็นประจำ เรียกว่า ภาวะประจำเดือนขาด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยกว่าภาวะประจำเดือนไม่เคยมา

สาเหตุ
ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา อาจมีสาเหตุจากรังไข่หรือฮอร์โมนในร่างกายมีความผิดปกติ หรือโครงสร้างของมดลูก ช่องคลอด อาจมีความผิดปกติ เช่น เยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด ไม่มีมดลูก รังไข่ หรือช่องคลอดมาแต่กำเนิด เป็นต้น

การเจริญเติบโตเป็นสาวช้าโดยธรรมชาติมักเป็นสาเหตุส่วนมากที่เกิดขึ้นและไม่มีความผิดปกติใดๆ และมักจะมีประจำเดือนมาก่อนอายุครบ 16 ปี แต่น่าจะมีสาเหตุที่ผิดปกติถ้าเลยจากนี้ไปแล้ว

ภาวะประจำเดือนขาด ภาวะที่พบได้บ่อย คือ การตั้งครรภ์ ฉีดยาคุมกำเนิด หลังคลอดบุตร ให้นมบุตร หรือความเครียดทางจิตใจ เป็นต้น แต่ส่วนที่มาจากสาเหตุกลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง เนื้องอกต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไตหรือรังไข่ การผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ทั้งสองข้าง โรคชีแฮน โรคคุชชิง ตับแข็ง ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะโลหิตจาง รูปร่างผอมหรืออ้วนเกินไป ร่างกายอ่อนแอจากการเจ็บป่วยเรื้อรัง เหล่านี้มักพบได้เป็นส่วนน้อย

อาการ
ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา มักพบว่ามีประวัติคนในครอบครัวประจำเดือนยังไม่มาแม้อายุเลย 14 ปีหรือควรจะมีประจำเดือนครั้งแรกแล้ว โดยทั่วไปมักไม่มีความผิดปกติอื่นๆ นอกจากรังไข่หรือฮอร์โมน มักพบว่าไม่มีความเจริญเติบโตทางเพศ เช่น หน้าอกแฟบเหมือนผู้ชาย ไม่มีขนรักแร้ หรือขนอวัยวะเพศ เป็นต้น

ในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด ประจำเดือนจะคั่งอยู่ในช่องคลอดเพราะเยื่อพรหมจรรย์ปิดกั้นไว้แม้จะมีประจำเดือนออกทุกๆ เดือน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องเป็นประจำทุกเดือน และพบว่าเยื่อพรหมจรรย์โป่งพองขึ้นเนื่องจากก้อนเลือดที่คั่งในช่องคลอดดันให้โป่งออก

ภาวะประจำเดือนขาด ผู้ป่วยมักจะมีอาการประจำเดือนไม่มาซึ่งปกติแล้วเคยมาอยู่ประจำทุกเดือนและไม่มีความผิดปกติอื่นๆ เกิดขึ้น แต่อาจมีอาการแพ้ท้องในรายที่เกิดจากการตั้งครรภ์

อาจมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะเรื้อรัง ตามืดมัวลงเรื่อยๆ มีหนวดและขนขึ้นผิดธรรมชาติ หรือน้ำนมออกผิดธรรมชาติ ในรายที่เกิดจากเนื้องอกของรังไข่ ต่อมหมวกไตหรือต่อมใต้สมอง

อาจมีอาการอ่อนเพลีย เฉื่อยเนือย เต้านมแฟบ ขนรักแร้และขนที่อวัยวะเพศร่วม ในรายที่เป็นโรคชีแฮน

มักมีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ เบื่อหน่าย ท้อแท้สิ้นหวัง ในรายที่เกิดจากโรคกังวลหรือซึมเศร้า

และอาจมีอาการแสดงตามสาเหตุที่พบต่างๆ ได้ เช่น กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ชนิดหลายถุง โรคคุชชิง ภาวะไทรอยด์ทำงานเกิน ไตวายเรื้อรัง ภาวะซีด เป็นต้น

การรักษา
ภาวะประจำเดือนไม่เคยมา ควรแนะนำผู้ป่วยให้ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุถ้ามีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจต้องตรวจเลือด ปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่นๆ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

อาจต้องผ่าตัดเปิดเยื่อพรหมจรรย์ให้มีทางระบายของเลือดประจำเดือนในรายที่เกิดจากเยื่อพรหมจรรย์ไม่เปิด

อาจต้องรอดูจนอายุเกิน 16 ปีในรายที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตตามปกติ และไม่มีอาการปวดท้อง หรืออาการผิดปกติอื่นๆ และควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลถ้าเลยช่วงอายุนี้ไปแล้วประจำเดือนยังไม่มา

ภาวะประจำเดือนขาด ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจภายในช่องคลอด ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ และตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ในรายที่มีความผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย หรือสงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง

ให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ภาวการณ์ตั้งครรภ์ หรือ โรคกังวลใจ

ในรายที่ไม่มีสาเหตุแน่ชัด และร่างกายเป็นปกติดีทุกอย่าง อาจรอดูสัก 3 เดือน ถ้ายังไม่มีประจำเดือนมาควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า