สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บิดอะมีบา(Amebiasis)

อะมีบาเป็นโปรโตซัวหรือสัตว์เซลล์เดียวชนิดหนึ่ง หากมีการติดเชื้อในลำไส้จะกลายเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ เรียกว่า บิดอะมีบา หากเข้าไปในตับแล้วทำให้เกิดฝีในตับ เรียกว่า ฝีตับอะมีบาบิดอะมีบา

บิดอะมีบาหรือบิดมีตัว พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉพาะในช่วงอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป

มักพบบิดชนิดนี้ในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลไม่ดี หรือในกลุ่มคนที่ขาดสุขนิสัยที่ดี และพบได้น้อยกว่าบิดชิเกลลา

พบเกิดการติดเชื้อได้บ่อยในกลุ่มชายรักร่วมเพศ ผู้ป่วยทางจิตเวช สถานพักฟื้นผู้สูงอายุ เป็นต้น

ผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการแต่จะเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โอกาสที่จะกลายเป็นโรคบิดอะมีบามีน้อยโดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ หญิงหลังคลอด ผู้ป่วยมะเร็ง ภาวะขาดสารอาหาร ใช้ยาสตีรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงได้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้ออะมีบา ชื่อว่า เอนตามีบาฮิสโตไลติคา(Entamoeba histolytica) ที่อยู่ตามดินและแหล่งน้ำธรรมชาติ ในสระว่ายน้ำ น้ำประปา ติดต่อโดยการดื่มน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป การสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ หรือการเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยง เช่น ในกลุ่มรักร่วมเพศ ระยะฟักตัวของเชื้อโรคส่วนใหญ่ประมาณ 8-10 วัน หรือ 1 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางราย

อาการ
อาการแบบเฉียบพลัน มีลักษณะความรุนแรงดังนี้
ในรายที่ติดเชื้อเล็กน้อยถึงปานกลาง จะปวดบิดในท้อง มีลมในท้องมาก ท้องอืด ถ่ายอุจจาระเหลววันละ 3-5 ครั้ง อาจมีมูกปนเล็กน้อยแต่ไม่มีเลือดปน มักมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีเลย

ในรายที่ติดเชื้อมาก จะลำไส้อักเสบหรือโรคบิดชัดเจน คือ ปวดท้อง ปวดเบ่งที่ก้นคล้ายถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกเลือดทีละน้อย มีกลิ่นเหม็นเหมือนหัวกุ้งเน่า ถ่ายกะปริดกะปรอยวันละ 10-20 ครั้งหรือมากกว่า ผู้ป่วยยังทำงานหรือดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

อาการถ่ายเหลวหรือเป็นมูกเลือดจะเป็นอยู่นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ และจะทุเลาไปเองในระยะหนึ่ง แต่จะมีอาการกำเริบซ้ำๆ ได้หากไม่ได้รับการรักษาให้ถูกต้อง

ในเด็กเล็กมักพบติดเชื้อรุนแรง มีอาการไข้สูง ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลียมาก ถ่ายเป็นน้ำในปริมาณมากวันละ 10-20 ครั้ง มีเลือดปน มักมีภาวะขาดน้ำอาจถึงขั้นช็อกได้ ซึ่งอาการจะคล้ายๆ กับบิดชิเกลลา

ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง มีอาการปวดท้อง ท้องอืด อ่อนเพลีย ถ่ายเหลวอาจมีมูกปนวันละ 3-5 ครั้ง ถ่ายเป็นมูกเลือดกะปริดกะปรอย เป็นๆ หายๆ เรื้อรังเป็นเดือนเป็นปี น้ำหนักลด อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเดิน ซึ่งในบางครั้งอาการอาจจะคล้ายๆ กับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

สิ่งตรวจพบ
อาจตรวจไม่พบอาการใดๆ ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อย อาจพบอาการท้องอืด ใช้เครื่องฟังตรวจบริเวณหน้าท้องได้ยินเสียงโครกครากของลำไส้มากกว่าปกติ กดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณท้องส่วนล่าง หรือคลำได้ตับโตเล็กน้อย

มักมีไข้สูง ภาวะขาดน้ำ กดเก็บทั่วบริเวณท้อง อาจพบตับโตและกดเจ็บ ความดันต่ำในรายที่เป็นมาก

สำหรับในรายที่เป็นแบบเรื้อรังอาจคลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อยข้างขวา เรียกว่า อะมีโบมา(ameboma) ซึ่งอาจเข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งได้

ภาวะแทรกซ้อน
อาจเป็นโรคบิดเรื้อรัง อ่อนเพลีย ซีด น้ำหนักลด ซูบผอม เกิดก้อนอะมีโบมา อาจเกิดอาการของลำไส้อุดกั้นจากภาวะลำไส้กลืนกันเองหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง

อาจเกิดแผลขนาดใหญ่ที่กระพุ้งลำไส้ใหญ่บริเวณท้องน้อยข้างขวาทำให้มีไข้สูง ท้องอืดมาก ท้องเดิน กดเจ็บ คล้ายไส้ติ่งอักเสบ ในบางราย

อาจเกิดภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเร็วร้าย(fulminant colitis) มักพบในเด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ภาวะขาดสารอาหาร ใช้ยาสตีรอยด์ทำให้เยื่อบุลำไส้ใหญ่มีการหลุดลอกมาก และตกเลือดรุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในรายที่เป็นขั้นรุนแรง

ภาวะที่ร้ายแรงอื่นๆ เช่น ภาวะลำไส้ใหญ่พอง(toxic megacolon)ทำให้ผนังลำไส้แตกได้ ลำไส้ใหญ่ทะลุทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้ใหญ่ตีบทำให้ถ่ายอุจจาระลำบาก หรือเป็นแผลที่ผิวหนังตรงบริเวณรอบๆ ทวารหนัก

การแพร่กระจายของเชื้อผ่านกระแสเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายที่พบบ่อย คือ ตับ ทำให้เป็นฝีตับอะมีบา ส่วนการแพร่ไปสู่ปอดและสมองทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นฝีแต่พบได้เป็นส่วนน้อย

การรักษา
1. หากสงสัยจะเกิดโรคให้นำอุจจาระไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์หลายๆ ครั้งเพื่อหาเชื้อ หากพบว่าเป็นโรคก็ให้รักษาตามอาการ และใช้ยาปฏิชีวนะดังนี้
ในผู้ใหญ่ ให้เมโทรไนดาโซล ครั้งละ 750 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วัน
ในเด็ก ให้เมโทรไนดาโซล วันละ 35-50 มก./กก. แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง นาน 10 วัน

2. ควรส่งโรงพยาบาลหากอาการไม่ดีขึ้น เป็นเรื้อรัง คลำพบก้อนในท้อง น้ำหนักตัวลดมาก อาจทำการตรวจเพิ่มเติมโดยกล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ ตรวจหาเชื้อในอุจจาระด้วยวิธี PCR ทดสอบทางน้ำเหลืองด้วยวิธี ELISA เพื่อให้ทราบสาเหตุที่ชัดเจนเพื่อการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

3. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง กดบริเวณหน้าท้องเจ็บมากหรือแข็งเกร็ง ตับโตกดเจ็บมาก ถ่ายเป็นเลือดรุนแรง ปวดศีรษะรุนแรง หายใจหอบหรือชัก ควรนำส่งแพทย์ด่วนเพื่อหาสาเหตุและภาวะแทรกซ้อนเพื่อทำการรักษาและแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ข้อแนะนำ
1. แม้อาการจะทุเลาลงเป็นปกติหลังได้รับยารักษาแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อหลงเหลือที่จะทำให้โรคกำเริบใหม่ได้ ควรทำการตรวจหาเชื้อในอุจจาระในเดือนที่ 1, 3, และ 6 อีกครั้ง

2. ผู้ติดเชื้ออะมีบาจะมีอาการท้องเดิน ถ่ายเหลวหรือเป็นมูก ไม่มีเลือด เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง หากไม่แน่ใจควรส่งตรวจดูเชื้ออะมีบาในอุจจาระ

3. ในผู้ติดเชื้ออะมีบาบางรายจะไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อทางอุจจาระไปสู่ผู้อื่นได้ แต่อาจกลายมาเป็นโรคได้หากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น การกินยาสตีรอยด์ เป็นต้น

ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หากสงสัยว่าจะติดเชื้อควรตรวจอุจจาระหากพบเชื้ออะมีบาก็ให้รักษาด้วยยาไอโอโดควินอล(iodoquinol) ครั้งละ 650 มก. วันละ 3 ครั้ง เด็กให้ขนาด 30-40 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง นาน 21 วัน หากไม่ได้รับยานี้ควรติดตามอาการและตรวจอุจจาระเพื่อหาเชื้อซ้ำเป็นระยะๆ เชื้อนี้มักจะถูกขับออกทางอุจจาระหมดภายใน 1 ปี

การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำที่สะอาดเสมอ
2. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
3. ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง
4. ถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
5. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า