สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

บิดชิเกลลา(Shigellosis/Bacillary dysentery)

บิดไม่มีตัว มักพบในถิ่นที่การสุขาภิบาลไม่ดีหรืออยู่กันอย่างแออัด พบได้ในคนทุกวัย มักพบในเด็กอายุ 1-5 ปี

พบการติดเชื้อได้บ่อยในผู้ป่วยทางจิตเวช สถานพักฟื้นของผู้สูงอายุ สถานรับเลี้ยงเด็ก เป็นต้นบิดไม่มีตัว

อาจเกิดระบาดตามหมู่บ้าน โรงเรียน โรงงาน ค่ายทหาร มักพบเป็นกันมากในช่วยฤดูร้อนต่อฤดูฝน

ผู้ที่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นบางรายอาจไม่มีอาการแสดง เชื้อมักอยู่ในพาหะเพียงเวลาสั้นๆ มักถูกขับออกหมดภายใน 4 เดือน หรืออาจนานหลายปีในบางราย

ผู้ที่แสดงอาการของโรค มักมีอาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และหายได้เอง ที่พบมีอาการรุนแรงมักเกิดในเด็กเล็กและผู้สูงอายุซึ่งทำให้เกิดภาวะขาดน้ำถึงขั้นเสียชีวิตได้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ ชิเกลลา(Shigella) ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิด การดื่มน้ำหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย

เชื้อจะทำให้ลำไส้ใหญ่อักเสบเกิดอาการท้องเดิน ถ่ายเป็นมูกเลือด
ระยะฟักตัวของโรค 1-7 วัน ส่วนใหญ่มักพบในช่วง 24-48 ชั่วโมง

อาการ
มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกายอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นฉับพลันร่วมกับปวดบิดในท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาจเกิดอาการอ่อนเพลียเพราะสูญเสียน้ำหรือเกลือแร่ถ้ามีอาการถ่ายรุนแรง เมื่ออาการทุเลาลงจะปวดเบ่งที่ก้น ถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย ไม่มีกลิ่น วันละ 10-30 ครั้ง

อาจมีไข้สูง ซึม ชักในเด็กเล็ก แต่อาการชักจะเป็นไม่นานและไม่มีอันตราย

อาการไข้จะทุเลาใน 1-2 วัน ส่วนอาการถ่ายท้องจะห่างออกไปใน 2-3 วัน และหายใน 5-7 วัน อาจกลับเป็นซ้ำได้ในบางราย

ในรายที่เป็นเพียงเล็กน้อยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนเล็กน้อย ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมีมูกปน วันละ 3-5 ครั้ง อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้ อาการจะทุเลาไปเองใน 3-5 วัน

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียส มีอาการขาดน้ำ หรือช็อก กดบริเวณกลางท้อง ท้องน้อยข้างซ้าย หรือทั่วท้อง มีอาการเจ็บเล็กน้อย หรืออาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจนในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
พบภาวะขาดน้ำได้บ่อยซึ่งเป็นอันตรายถึงตายได้
การเบ่งถ่ายบ่อยอาจทำให้ทวารหนักโผล่ออกมาข้างนอกได้
การติดเชื้อของทารกจากมารดาขณะคลอดอาจเกิดโลหิตเป็นพิษ หรือลำไส้ทะลุได้
เด็กที่ขาดอาหาร และผู้ป่วยเอดส์อาจมีอาการรุนแรงขั้นโลหิตเป็นพิษ อาจมีอาการเรื้อรังและกำเริบได้บ่อยครั้ง

พิษจากเชื้อที่ปล่อยออกมาอาจทำให้เกิดอาการข้ออักเสบจากปฏิกิริยาของร่าย ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกร่วมกับไตวาย และเชื้ออาจแพร่กระจายทำให้ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อย

แต่ที่พบได้น้อยมากแต่มีอันตราย เช่น ภาวะลำไส้ใหญ่พอง ลำไส้ทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ

การรักษา

1. การใช้ยาปฏิชีวนะ

ในผู้ใหญ่ให้โคไตรม็อกซาโซล วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ดเช้า-เย็น นอร์ฟล็อกซาซิน ครั้งละ 400 มก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3 วัน ในเด็กให้โคไตรม็อกซาโซลชนิดน้ำเชื่อมนาน 5 วัน

2. ให้ยาลดไข้หากมีไข้ ให้ดื่มน้ำเกลือแร่หากมีอาการอ่อนเพลียหรือภาวะขาดน้ำเล็กน้อย หรือให้รักษาตามอาการ
ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้ท้องเดิน
ห้ามให้ยาที่ลดการเคลื่อนไหวของลำไส้ เช่น โลเพอราไมด์ โลโมทิล อะโทรพีน ทิงเจอร์ฝิ่นการบูร เพราะอาจทำให้เชื้ออยู่ในลำไส้นานทำให้หายช้าและลุกลามได้

3. ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแล้วส่งโรงพยาบาลทันทีหากมีภาวะขาดน้ำรุนแรงหรือช็อก โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ

4. ในรายที่มีอาการเล็กน้อย แต่อาการไม่ดีขึ้นหรือกำเริบใหม่หรือเป็นๆ หายๆ หลังจากให้ยาปฏิชีวนะครบแล้ว ควรส่งให้แพทย์ตรวจเพิ่มเติม เช่น การเพาะหาเชื้อจากอุจจาระ ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด เพื่อจะได้ทำการรักษาให้ถูกต้องตามสาเหตุของโรค หรือเปลี่ยนใช้ยาปฏิชีวนะชนิดอื่น เช่น โอฟล็อกซาซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน อะซิโทรไมซิน เซฟทริอะโซน เป็นต้น

5. ในรายที่ปวดท้องรุนแรง กดเจ็บบริเวณท้องรุนแรง หรือสงสัยเกิดจากภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โลหิตเป็นพิษ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรรีบนำส่งแพทย์โดยด่วน

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้พบระบาดในช่วงฤดูร้อน หากพบการระบาดควรดูแลรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ ดื่มน้ำและกินอาหารที่สะอาด ไม่กินอาหารทะเลดิบๆ ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังถ่ายอุจจาระควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง ควรถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ

2. ผู้ป่วยควรหยุดเรียนหรือหยุดงาน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องประกอบการเกี่ยวกับอาหารเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

3. เชื้อวิบริโอพาราฮีโมไลติคัส มักพบในผู้ที่กินอาหารทะเล เช่นหอยนางรมแบบดิบ อาจทำให้เกิดอาการไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ และถ่ายเป็นมูกเลือดได้ในเวลาต่อมา

การป้องกัน
1. ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาดเท่านั้น
2. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม
3. ล้างมือด้วยสบู่ในสะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร ก่อนและหลังอาหาร หรือหลังจากถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
4. ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
5. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า