สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

นิ่วไต(Renal calculus/Kidney stone)

เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง นิ่วอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ในขนาดต่างๆ กัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นกับไตข้างเดียว หรืออาจพบได้บ้างที่เป็นทั้ง 2 ข้าง หรืออาจเป็นซ้ำๆ หลายครั้งก็ได้ในบางรายนิ่วไต

สาเหตุ
การเกิดนิ่วมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะที่มีแคลเซียมในปัสสาวะมากผิดปกติ ซึ่งก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นในไตจะประกอบด้วยหินปูนกับสารเคมีอื่นๆ เช่น ออกซาเลต กรดยูริก เป็นต้น ที่อาจเกิดจากการกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง การดื่มนมมากๆ หรือมีภาวะผิดปกติอื่นๆ ที่ทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง เช่น ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากเกิน

ในผู้ป่วยโรคเกาต์ซึ่งมีการขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะก็อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนในโรคนี้ขึ้นได้ หรืออาจเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยาต้านไวรัสเอดส์-อินดินาเวียร์ ยาขับปัสสาวะ-ฟูโรซีไมด์ ยาแก้ลมชัก-โทพิราเมต

ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกการเกิดนิ่ว แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่าง เช่น การอยู่ในเขตร้อนที่มีการเสียเหงื่อง่ายและดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะมีแคลเซียมที่เข้มข้น ความผิดปกติของไต หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

อาจมีโอกาสเป็นนิ่วได้มากกว่าคนปกติในผู้ที่ชอบกินอาหารที่สารออกซาเลตสูง หรือกินวิตามินซีขนาดสูงๆ

อาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเอวปวดหลังข้างใดข้างหนึ่ง จะปวดแบบเสียดๆ หรือปวดบิดเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะมีสีขุ่นแดง หรือมีเม็ดทราย อาจทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้องรุนแรงถ้าก้อนนิ่วที่มีขนาดเล็กตกลงมาที่ท่อไต หรืออาจไม่มีอาการแสดงเลยก็ได้ในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบได้จากการติดเชื้อ และถ้ามีการติดเชื้อบ่อยๆ และปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้เนื้อไตเสียกลายเป็นไตวายเรื้อรังได้

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค แพทย์มักจะวินิจฉัยด้วยการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพรังสีไตด้วยการฉีดสารทึบรังสี หรืออาจนำปัสสาวะไปวิเคราะห์ดูสารที่เป็นปัจจัยของการเกิดนิ่วในบางราย

ถ้าก้อนนิ่วโตอาจต้องผ่าตัดออกมา หรือใช้เครื่องสลายนิ่ว แต่ถ้าก้อนมีขนาดเล็กก็อาจหลุดออกมาได้เอง

ให้ยาแก้ปวดหรือแอนติสปาสโมดิกถ้ามีอาการปวด
ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน โคไตรม็อกซาโซล โอฟล็อกซาซิน หรือไซโพรฟล็อกซาซิน ถ้ามีการติดเชื้อ

ควรให้การรักษาตามสาเหตุที่พบในรายที่มีสาเหตุชัดเจน เช่น ให้ยารักษาโรคเกาต์ในรายที่เป็นโรคเกาต์ เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ควรจะได้รับการรักษาอย่างจริงจังแม้จะไม่มีอาการแสดงในโรคนี้ อาจต้องผ่าตัด หรือใช้เครื่องสลายนิ่วถ้าจำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้หากปล่อยทิ้งไว้

2. แม้ผู้ป่วยจะหายจากโรคแล้ว แต่ก็ควรดื่มน้ำวันละ 3-4 ลิตร ดื่มน้ำมะนาววันละ 1 แก้ว เพื่อเพิ่มสารซิเทรตในปัสสาวะและช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว ลดอาหารที่มีกรดยูริก แคลเซียม และออกซาเลตสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า