สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

นิ่วน้ำดี(Gallstone) ถุงน้ำดีอักเสบ(Cholecystitis)

นิ่วน้ำดีหรือนิ่วในถุงน้ำดี มักพบในคนอายุ 40 ปีขึ้นไป พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในคนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้กินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนเอสโทรเจน ผู้ที่กินอาหารมีไขมันสูง ผู้มีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ ผู้เป็นเบาหวาน ตับแข็ง ทาลัสซีเมีย ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก ผู้ที่ลดน้ำหนักในเวลาสั้นๆ เป็นโรคของลำไส้เล็กส่วนปลาย การผ่าตัดลำไส้ส่วนนี้ออกไป การอักเสบของทางเดินน้ำดีเรื้อรังนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วน้ำดีมี 3 ชนิดได้แก่ นิ่วชนิดคลอเลสเตอรอล นิ่วชนิดเม็ดสี และนิ่วชนิดผสม ซึ่งพบนิ่วชนิดคอเลสเตอรอลกับนิ่วชนิดผสมได้บ่อยกว่าชนิดเม็ดสี อาจมีก้อนนิ่วก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้

สาเหตุ
นิ่วน้ำดีเกิดจากชนิดของนิ่ว
นิ่วชนิดคอเลสเตอรอลและชนิดผสมมีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลักร่วมกับหินปูนหรือแคลเซียม กรดน้ำดี ฟอสโฟไลปิด และสารอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสูงกว่าปกติทำให้ตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว และอาจเกิดจากการหลั่งคอเลสเตอรอลมาที่ถุงน้ำดีมากกว่าปกติ หรือการหลั่งกรดน้ำดีน้อยกว่าปกติ หรือจากทั้งสองกรณี และยังอาจเกิดจากปัจจัยเสริมเช่น ถุงน้ำดีทำงานน้อยทำให้เกิดการสะสมผลึกนิ่ว

นิ่วชนิดเม็ดสี องค์ประกอบที่สำคัญคือแคลเซียมบิลิรูบิเนต เกิดจากมี unconjugated bilirubin ในน้ำดีสูงเกินไปจึงตกผลึกเป็นก้อนนิ่วชนิดเม็ดสี หรือจับตัวกับผลึกคลอเลสเตอรอลกลายเป็นนิ่วชนิดผสม พบมากในผู้มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเรื้อรัง ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ ติดเชื้อทางเดินน้ำดีเรื้อรัง พยาธิในทางเดินน้ำดี หรือในผู้สูงอายุ เป็นต้น

ถุงน้ำดีอักเสบ เป็นภาวะแทรกซ้อนของนิ่วน้ำดี อาจเกิดจากการอุดกั้นของท่อน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดีมีแรงดันเพิ่มขึ้นและยืดตัว ทำให้เยื่อบุผนังของถุงน้ำดีขาดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบ หรือระคายเคืองจากสารเคมีบางชนิดที่เกิดจากปฏิกิริยาในถุงน้ำดี หรือติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น อีโคไล เคล็บซิลลา สเตรปโตค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส เป็นต้น ที่ไม่พบร่วมกับถุงน้ำดีมีเพียงส่วนน้อย แต่อาจจะพบได้ในโรคอื่นๆ เช่น ไทฟอยด์ ตับอ่อนอักเสบ ความผิดปกติของทางเดินน้ำดี เป็นต้น และยังอาจพบในผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โลหิตเป็นพิษ การเจ็บป่วยหนัก เป็นต้น

อาการ
นิ่วน้ำดี ไม่มีอาการแสดงใดๆ มักตรวจพบจากการตรวจเพื่อหาสาเหตุของโรคอื่น

ในรายที่ก้อนนิ่วไปอุดกั้นในท่อน้ำดี จะมีอาการปวดบิดรุนแรงเป็นพักๆ บริเวณใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาจปวดร้าวมาที่ไหล่ขวา หรือบริเวณหลังตรงใต้สะบักขวา คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจปวดรุนแรงจนเหงื่อออกและเป็นลม

อาการปวดท้องมักเกิดตอนกลางคืน หรือหลังกินอาหารมันๆ หรืออาหารมื้อหนักเข้าไป จะปวดอยู่ประมาณ 15-30 นาที และอาจนานถึง 2-6 ชั่วโมงในบางรายและจะค่อยทุเลาไปเอง และอาจกำเริบได้อีกแม้จะไม่มีอาการมานานแล้ว แต่ถ้าปวดท้องทุกวันมักจะไม่ใช่เป็นนิ่วน้ำดี

ในบางรายหลังอาการปวดท้องอาจมีอาการดีซ่านตามมา อาจมีอาการท้องอืดเฟ้อบริเวณเหนือสะดือ เรอ คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายอาหารไม่ย่อย เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักเกิดหลังจากกินอาหารมันๆ

ถุงน้ำดีอักเสบ การอักเสบของถุงน้ำดีเฉียบพลันอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน

ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง มักปวดใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง อาหารไม่ย่อย มีอาการปวดบิดเป็นพักๆ คล้ายกับอาการปวดของนิ่วน้ำดี

สิ่งตรวจพบ
นิ่วน้ำดี มักไม่พบสิ่งผิดปกติเมื่อตรวจร่างกาย ไม่มีไข้ อาจพบอาการกดเจ็บเล็กน้อยใต้ลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา อาการตาเหลือง ในบางราย

ถุงน้ำดีอักเสบ มีไข้ กดเจ็บมากเป็นบริเวณกว้างใต้ชายโครงขวา อาจมีอาการตาเหลืองร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน
นิ่วน้ำดี อาจทำให้เกิดภาวะตับอ่อนอักเสบ ท่อน้ำดีอักเสบ และถุงน้ำดีอักเสบ

ถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดภาวะหนองในถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอักเสบ ถุงน้ำดีทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ถุงน้ำดีเป็นเนื้อตายเน่า

ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง มีโอกาสเป็นมะเร็งถุงน้ำดี ตับอ่อนอักเสบ เกิดนิ่วในท่อน้ำดี

การรักษา
1. หากสงสัยว่าเป็นนิ่วน้ำดีจากอาการปวดท้องควรไปพบแพทย์ภายใน 1-2 สัปดาห์ ควรงดอาหารมันๆ รักษาตามอาการที่เกิด เช่น กินยาลดกรดถ้ามีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ให้แอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน ไฮออสซีน ถ้ามีอาการปวดบิดเป็นพักๆ จะใช้ชนิดกินหรือฉีดขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของผู้ป่วย

2. หากมีไข้ ดีซ่าน กดเจ็บมากบริเวณใต้ชายโครงขวา อาจให้การรักษาเบื้องต้นหรือให้น้ำเกลือถ้ามีภาวะขาดน้ำแล้วนำส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ในบางรายอาจต้องถ่ายเอกซเรย์ด้วยวิธีพิเศษ และทำการรักษาโดยการผ่าตัดถุงน้ำดีออก

การผ่าตัดถุงน้ำดีในปัจจุบันใช้วิธีส่องกล้องเข้าช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน และมีแผลที่หน้าท้องเพียงเล็กน้อย มักให้ยาปฏิชีวนะควบคุมอาการก่อนผ่าตัดในกรณีที่มีการอักเสบของถุงน้ำดี

ข้อแนะนำ
1. อาจตรวจพบโรคนี้ในขณะที่ตรวจรักษาโรคอื่นโดยบังเอิญ เพราะไม่แสดงอาการ ไม่มีอันตรายจึงไม่ต้องรีบทำการผ่าตัดเนื่องจากเป็นนิ่วก้อนเล็กและอยู่ลึกที่ก้นถุงน้ำดี แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเมื่อปรากฏอาการชัดเจนหลังจากติดตามดูมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ประมาณร้อยละ 1-2 ต่อปีผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดอาการปวดท้องจากนิ่วน้ำดีที่ซ่อนอยู่

2. ยาละลายนิ่วน้ำดี เช่น กรดซีโนดีออกซีโคลิก(chenodeoxycholic acid) ใช้ได้ดีในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะในรายที่เป็นนิ่วโปร่งรังสี ลักษณะเป็นก้อนเล็กๆ หลายก้อน ตรวจพบโดยการถ่ายเอกซเรย์ด้วยการกินสารทึบรังสีอาจต้องกินยานานเป็นปีๆ และควรให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาสั่งใช้เท่านั้น แพทย์อาจรักษาโดยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายนิ่วก่อนแล้วให้ยาละลายนิ่วตามในบางราย

3. ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยหลังจากผ่าตัดถุงน้ำดี ในระยะนี้ควรงดอาหารมันและของเผ็ดกินผักผลไม้ให้มากๆ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ทุเลาไปได้เอง

การป้องกัน
ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคโดยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
1. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไปหรือเป็นโรคอ้วน

2. ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้องหากมีความต้องการลดน้ำหนัก

3. ลดอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า