สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

นิ่วท่อไต(Ureteric stone/Ureteral stone)

เป็นนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในไตแล้วตกลงมาในท่อไต ทำให้ท่อไตเกิดการบีบตัวเพื่อขับก้อนนิ่วออก ผู้ป่วยจึงเกิดอาการปวดท้องรุนแรงขึ้น พบโรคนี้ได้บ่อยในคนทั่วไปนิ่วท่อไต

อาการ
ผู้ป่วยจะปวดท้องบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียวจะปวดแบบรุนแรง แบบปวดบิดเป็นพักๆ อาจปวดอยู่นานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน

อาจมีอาการปวดร้าวไปที่หลังและต้นขาด้านในจะเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ อาจปวดมากจนต้องดิ้นไปมา หรือจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อใช้มือกดไว้ อาจมีอาการปวดมากจนเหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่นใจหวิว คลื่นไส้ อาเจียน ในบางราย ปัสสาวะของผู้ป่วยจะใสเป็นปกติ ไม่ขุ่น หรือแดง และไม่มีอาการขัดเบา หรืออาจมีปัสสาวะขุ่นแดงได้ในบางราย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ แต่อาจพบว่ากล้ามเนื้อหน้าท้องและหลังมีอาการเกร็งตัว หรือกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณที่ปวดในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้มีการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ และไตวายได้ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่หลุดออกเองไม่ได้และไม่ได้รับการรักษา

การรักษา
1. ให้การรักษาด้วยยา แอนติสปาสโมดิก เช่น อะโทรพีน หรือไฮออสซีน 1-2 เม็ด หรือให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนกฉีดเข้ากล้าม ครั้งละ ½ -1 หลอด และ/หรือไฮออสซีน ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือหลอดเลือดดำครั้งละ ½ -1 หลอด ในรายที่ปวดรุนแรง และถ้าดีขึ้นก็ให้ยาเม็ดกินต่อครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง

2. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หากภายใน 6 ชั่วโมงให้ยารักษาแล้วอาการไม่ทุเลาลง หรือปวดซ้ำอีก เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงเพิ่มเติมด้วยการ ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้กล้องส่องตรวจท่อไต เป็นต้น

แพทย์อาจจะให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ และ/หรือแอนติสปาสโมดิกเพื่อบรรเทาอาการปวดถ้านิ่วมีก้อนขนาดเล็ก แต่อาจต้องผ่าตัด หรือใช้เครื่องสลายนิ่วถ้าพบว่ามีนิ่วก้อนขนาดใหญ่

ข้อแนะนำ
1.นิ่วท่อไตส่วนมากมักจะหลุดออกมาภายในไม่กี่วันเพราะนิ่วจะมีขนาดเล็กเท่าหัวไม้ขีด ผู้ป่วยควรถ่ายปัสสาวะในกระโถนเพื่อสังเกตว่ามีก้อนนิ่วออกมาหรือไม่

2. เมื่อนิ่วหลุดออกมาอาการปวดท้องจะหายเป็นปลิดทิ้ง แต่ภายหลังก็อาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ขึ้นมาได้อีก

3. อาจต้องรักษาด้วยการใช้เครื่องสลายนิ่วหรือผ่าตัดถ้านิ่วก้อนใหญ่หลุดออกมาเองไม่ได้ เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายได้หากปล่อยทิ้งไว้

4. เมื่อรักษาหายแล้วควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีกด้วยการดื่มน้ำให้มากๆ วันละ 3-4 ลิตร ดื่มน้ำมะนาววันละ 1 แก้วเพื่อเพิ่มสารซิเทรตในปัสสาวะและช่วยยับยั้งการเกิดนิ่ว ลดอาหารที่มีกรดยูริก แคลเซียมและออกซาเลตสูง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า