สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

นักจิตบำบัดกับการใช้ Transferences ให้เป็นประโยชน์

เมื่อนักจิตบำบัดทราบว่า Transferences ได้เกิดขึ้นแล้ว ก็อาจนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้สองประการ คือ

1. เพื่อประเมินค่าว่า ผู้ป่วยเกิด Transferences ชนิดไหนมากที่สุด นักจิตบำบัด หาข้อมูลเพิ่มเติมจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทราบว่า ชีวิตในวัยเด็กของผู้ป่วยเป็นอย่างไร เมื่อทราบอย่างชัดเจนแล้ว ก็จะได้วางแผนการรักษาให้ถูกต้องและเป็นประโยชน์มากขึ้น

2. นักจิตบำบัด จะใช้เป็นเครื่องมือ “เผชิญหน้า” กับผู้ป่วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจในสิ่งที่เขาไม่เคยทราบมาก่อน ในบางครั้งอาจจะใช้การ “แปลความหมาย” เพื่อทำลาย Resistances ของผู้ป่วยด้วย

พฤติกรรมและความรู้สึกของผู้ป่วยที่มีต่อนักจิตบำบัดนั้น ถือว่าเป็น “ขุมทรัพย์” หรือ “Bonanza” ที่เกี่ยวกับข้อมูลทาง:จิตใจของผู้ป่วย นักจิตบำบัดจะต้องพิจารณาให้ทราบแน่ชัดว่า พฤติกรรมชนิดไหน เป็นปฏิกิริยาจริงของผู้ป่วย และอันไหนเป็น Transferences

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชายวัยรุ่น ถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 ครั้ง เพราะว่าขโมยของคนอื่น ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแบบนักเลงหัวไม้ มีท่าทีต่อต้านและท้าทายผู้ใหญ่ ชีวิตในวัยเด็กเต็มไปด้วย การทะเลาะวิวาทกับพี่ชาย ท่าทีของผู้ป่วยที่มีต่อผู้รักษา เป็นแบบเฉยเมย ไม่ยินดียินร้าย เมื่อได้รับการรักษามานานตามสมควรแล้ว ผู้ป่วยก็พูดขึ้นมาเองว่า “คุณหมอรู้ไหมว่า เมื่อวานนี้ เป็นวันเกิดของผม?”
ผู้รักษาจึงถามว่า “มีใครจำได้ไหม?”
ผู้รักษาถามเช่นนี้ ผู้ป่วยก็ร้องไห้โฮออกมาเลย จะเห็นได้ว่า ปฏิกิริยาของผู้ป่วยต่อคำถามของผู้รักษานั้น ไม่ได้สัดส่วนกันเลย สิ่งนี้คือ Transference เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้รักษาจึงทราบว่าท่าทีอันแข็งกร้าว และหยาบกระด้างของผู้ป่วยนั้น แท้ที่จริงก็คือ Defenses ของผู้ป่วยเท่านั้นเอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปิดบังความอ่อนแอของตนเอง

การใช้ Transferences เพื่อประโยชน์ในการรักษานั้น ทำได้ทุกระดับของการทำจิตบำบัด จิตบำบัดชนิดนี้และชั้นกลาง ก็อาจจะทำให้เกิด Transferences ได้ แต่ว่าไม่รุนแรงมาก นักจิตบำบัดที่ทำจิตบำบัดชนิดนี้และชั้นกลาง จะใช้ Transferences ที่มีลักษณะ “ทางบวก” คือ “เป็นมิตร” เป็นเครื่องมือในการรักษา เช่น การให้คำแนะนำ ชักจูง ให้กำลังใจ ชี้ทางที่ถูกที่ควร เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยระบายความรู้สึกของตนเอง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำได้ ต่อเมื่อผู้ป่วยมีความ “เป็นมิตร” กับผู้รักษาแล้วเท่านั้น ในการทำจิตบำบัดชนิดนี้ และชั้นกลางจะไม่มีการใช้ Interpretation และจะไม่ “แตะต้อง” Resistances ของผู้ป่วย

ส่วนในการทำจิตบำบัดชั้นสูง นักจิตบำบัดจะใช้ Interpretation ในเวลาที่เห็นว่าถูกต้องและสมควรเพื่อให้คนไข้เข้าใจ Neurotic Conflicts ของตนเอง

ในบรรดา Interpretations ทั้งหมดนั้น Interpretations ที่เกี่ยวข้องกับ Transferences ของผู้ป่วย และทำได้ถูกต้อง จะมีผลต่อผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วย เข้าใจความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเอง นอกจากนี้ ยังทำไห้ Defenses ของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป ในทางที่สร้างสรรค์และก่อประโยชน์

นักจิตบำบัดจะใช้ Interpretations ในเรื่องของ Transferences เมื่อใดนั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้ ถ้าคนไข้ยังสามารถเล่าเรื่องปัญหาของตนเอง โดยไม่ติดขัดแล้ว นักจิตบำบัดจะยังไม่ใช้การแปลความหมาย แต่ถ้าผู้ป่วยมี Resistances มาก เช่น พูดจาวกวน ไม่ยอมพูดถึงปัญหาของตนเอง หรือเงียบ หรือพูดถึงแต่ความรู้สึกที่มีต่อนักจิตบำบัดแทน ใน กรณีเช่นนี้ จึงจะใช้การแปลความหมาย

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นชายวัยรุ่น เป็นคนฉลาดมาก มารับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดเพราะว่าผู้ป่วยมีความวิตกกังวล และไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศและศาสนา ซึ่งทำให้ผู้ป่วยต้องขัดแย้งกับบิดามารดาอย่างรุนแรง ผู้ป่วยเป็นคนมีเพื่อนมาก นิสัยดี แต่อ่อนไหวง่าย ถ้าถูกวิพากษ์วิจารณ์

เมื่อได้รับการรักษามานานตามสมควรแล้ว นักจิตบำบัดพบว่า ผู้ป่วยชอบมองขนของผู้ชายที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เมื่อผู้ป่วยอายุได้ 4 ขวบ เคยเห็นขนในที่ลับและอวัยวะเพศของบิดา แม้ในปัจจุบัน ผู้ป่วยก็ยังสนใจเรื่องผมและขนในที่ลับมาก

เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ผู้ป่วยเคยเล่าถึงจินตนาการของตนเองว่า อยากขโมยแชมพูสระผมจากร้านขายยาแห่งหนึ่ง แชมพูดังกล่าวเป็นชนิดเดียวกับที่บิดาผู้ป่วยใช้

พฤติกรรมของผู้ป่วยที่มีต่อผู้รักษา เป็นประเภทชอบล้อเลียน โดยมักจะพูดว่า “ผมกำลังคิดเรื่องบางอย่าง แต่ผมไม่อยากพูดถึงมัน” ผู้รักษายอมให้เรื่องนี้ผ่านไปโดยไม่แตะต้อง เพราะว่าผู้ป่วยยังสามารถเล่าเรื่องของตนเองได้

ในการพบกันครั้งนี้ ผู้ป่วยมี Resistances ต่อการรักษามากขึ้น จนรบกวนการรักษาผู้ป่วยนั่งเงียบเป็นส่วนใหญ่ และพูดซ้ำๆ ว่า “ผมไม่รู้จะพูดอะไร” ผู้รักษาใช้เวลา นึกถึง Resistances ของผู้ป่วยว่าเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ ผู้รักษาจึงถามว่า “คุณรู้สึกอย่างไร ในการมาพบผมวันนี้?”

ผู้ป่วยพูดว่า “แปลกดี วันก่อนผมคิดจะขโมยของอีก คราวนี้เกี่ยวข้องกับคุณหมอด้วย วันนั้นผมเข้าไปในเมือง ผมคิดจะขโมยหนังสือพิมพ์ ก. ที่เขากำลังวางขายอยู่”
ผู้รักษาจึงถามว่า “ทำไมจะต้องเป็นหนังสือพิมพ์ ก. ?”
ผู้ป่วยตอบว่า “มันเกี่ยวข้องกับคุณหมอก็ตอนนี้แหละ ผมไม่เคยเห็นหนังสือพิมพ์นี้มาก่อน เพิ่งมาเห็นในห้องรับแขกของคุณหมอ ผมเห็นว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่ให้ความรู้ดี ผมคิดว่า ผมอาจจะต้องการมีความรู้อย่างเดียวกับคุณหมอบ้าง”

ผู้รักษาจึงพูดว่า “น่าสนใจมาก คุณต้องการขโมยของ 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งเกี่ยวโยงกับคุณพ่อของคุณ อย่างที่สอง เกี่ยวโยงกับผม”

ผู้ป่วยทำท่าแปลกใจแล้วถามว่า “คุณหมอคิดว่า ผมมีความรู้สึกเหมือนกับว่า คุณหมอเป็นพ่อของผมหรือ?”

ผู้รักษาตอบว่า “อาจจะเป็นไปได้ เพราะว่าอย่างน้อยที่สุด คุณก็ต้องการขโมยของที่ผมมีอย่างเดียวกันกับของที่คุณพ่อของคุณมี เท่าที่ผ่านมาคุณก็แข่งขันกับผมที่นี่ เช่นเดียวกับที่คุณทำกับคุณพ่อของคุณ ผมพูดอย่างนี้ คุณมีความเห็นอย่างไร?”

Transferences นั้น ความจริงก็คือ Resistances ชนิดหนึ่ง แต่ว่าเกิดขึ้นจาก การรักษาโดยนักจิตบำบัดมีส่วนสำคัญทำให้เกิดขึ้น นักจิตบำบัดจะต้องใช้ Transference Interpretation ใน 2 กรณี คือ กรณีแรก ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการพูดเกี่ยวกับตัวผู้รักษาอย่างเห็น ได้ชัด และกรณีที่สอง คือ ผู้ป่วยจะพูดเกี่ยวพันกับตัวผู้รักษา โดยไม่ยอมพูดถึงเรื่องอื่นๆ

สำหรับกรณีแรก นักจิตบำบัดควรเป็นฝ่ายริเริ่มให้ผู้ป่วยพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อนักจิตบำบัด ตัวอย่างเช่น “คุณรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับตัวผมในตอนนี้?” หรือ “คุณมีความรู้สึกจริงๆ กับผมอย่างไร ?” นอกจากคำพูดดังกล่าวแล้ว นักจิตบำบัดจะต้องอธิบายให้ผู้ป่วยทราบว่า ความรู้สึกที่ผู้ป่วยมีต่อนักจิตบำบัดนั้น เป็นอุปสรรคต่อการรักษา พร้อมทั้งอธิบายว่า ความรู้สึกของผู้ป่วยที่เกิดขึ้น “ไม่ใช่ของจริง” ผู้ป่วยได้เอาความรู้สึกและประสบการณ์ในอดีตมาใช้กับผู้รักษา ถ้าผู้ป่วยมี Reality Testing ดีตามสมควร ผู้ป่วยจะสามารถ เข้าใจความหมายได้ และจะทำให้ Resistances ลดน้อยลงไปด้วย

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นหญิงสาว ได้รับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดมาแล้วหลายเดือน วันนี้ผู้ป่วย พูดจาวกวนและบางครั้งก็เงียบ ไม่ยอมพูด ซึ่งก่อนนี้ผู้ป่วยเป็นคนช่างพูด และพูดจาได้เนื้อหาสาระดี ในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้รักษาสังเกตว่า ผู้ป่วยมีท่าทางยั่วยวนทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันนี้ เมื่อผู้ป่วยหยุดพูดนานตามสมควรแล้ว ผู้รักษาจึงเริ่มแตะต้อง Transferences ของผู้ป่วย โดยผู้รักษาพูดขึ้นว่า “วันนี้ คุณไม่คล่องเหมือนแต่ก่อน”

ผู้ป่วยพยักหน้าแล้วพูดว่า “ใช่ค่ะ คิดว่าเป็นอย่างนั้น หนูรู้ดีว่าต้องจริงใจกับคุณหมอ ต้องพูดทุกสิ่งทุกอย่าง โดยไม่ปิดบัง แต่บางครั้งมันก็ยาก หนูไม่รู้จะพูดอย่างไรดี….” (ผู้ป่วยเงียบต่อ)

ผู้รักษาจึงพูดว่า “ที่มันยากก็เพราะว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับตัวผม”
ผู้ป่วยหัวเราะแล้วพูดว่า “ใช่ค่ะ หนูคิดว่ามันยากตรงที่ว่าไม่ทราบว่าคุณหมอจะคิด หรือรู้สึกอย่างไร หนูทราบว่า คุณหมอคงจะไม่หัวเราะเยาะหนูหรอก แต่คุณหมออาจจะคิดว่า หนูยังคงมีความคิดแบบเด็กๆ”

ผู้รักษายักไหล่ แล้วถามว่า “อะไรทำให้คุณรู้สึกว่า ผมจะต้องคิดอย่างนั้น?”

ผู้ป่วยยิ้ม แล้วพูดว่า “ก็เพราะเรื่องอย่างนี้ คนอายุขนาดหนูเขาเลิกคิดกันแล้ว ก่อนหน้านี้หนูเคยเล่าให้คุณแม่ฟัง ท่านหัวเราะเยาะหนู”

ผู้รักษาจึงพูดว่า “แล้วคุณเลยคิดว่า ผมจะทำอย่างเดียวกัน”
ผู้ป่วยหัวเราะพลางตอบว่า “ก็มีอยู่บ้าง ทั้งๆ ที่หนูทราบว่า คุณหมอคงไม่ทำอย่างนั้น หนูมีความเพ้อฝันมานานแล้วว่า หนูอยากเป็นพระราชินีแบบคลีโอพัตรา มีทาส ผู้ชายรูปร่างใหญ่และรูปหล่อ หนูสามารถสั่งให้ทาสเหล่านี้ ทำอะไรก็ได้ และเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน หนูรู้สึกว่าคุณหมอก็เป็นทาสของหนูคนหนึ่ง”

ข้อสังเกต
ผู้รักษาได้ใช้ Interpretation เพื่อทำลาย Resistances ของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยกลัวว่าผู้รักษาจะหัวเราะเช่นเดียวกับที่มารดาของผู้ป่วยเคยทำ เมื่อผู้รักษาสามารถทำลาย Resis¬tance ลงได้ทำให้ทราบข้อมูลที่สำคัญยิ่ง เกี่ยวกับจินตนาการของผู้ป่วย คือเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหา ของ Transference ที่เกิดขึ้น

ในกรณีตรงกันข้าม ผู้ป่วยมี Transference Resistance คือ พูดเฉพาะความรู้สึก ที่มีต่อผู้รักษาเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นในทางบวกหรือทางลบก็ได้ ผู้รักษาจะต้อง “สำรวจหรือ เสาะหา” ว่า สิ่งนี้มีความหมายอย่างไร

ตัวอย่าง
ผู้ป่วยเป็นหญิง มารับการรักษาเพราะมีปัญหากับสามี ในการพบกันครั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ยอมพูดถึงเรื่องอื่น โดยพูดถึงแต่เรื่องความนิยมชมชื่น และรักใคร่ชอบพอผู้รักษา ขณะนี้ผู้ป่วยกำลังคิดจะหย่าขาดจากสามี ซึ่งผู้ป่วยถือว่า เป็นคนไม่มีความอดทน และขาดมนุษยสัมพันธ์ ผู้ป่วยพูดถึงแต่ความรู้สึกที่มีต่อผู้รักษา ไม่ยอมพูดถึงปัญหาของตนเอง ขณะนี้ผู้ป่วย ได้สรรเสริญความดีของผู้รักษา ที่ผู้ป่วยได้ทราบมาจากเพื่อนๆ ผู้รักษาจึงถามว่า “ไม่มีใครที่ว่าผมไม่ดีเลยหรือ?”

ผู้ป่วยตอบว่า “ไม่มีเลย ถึงมี หนูก็ไม่ยอมให้เขาพูด สำหรับหนูคุณหมอคือคนที่ดีที่สุดที่หนูเคยพบมา”

ผู้รักษาจึงกล่าวว่า “แต่คงไม่มีใครที่ดีเยี่ยมอย่างที่คุณพูด”
ผู้ป่วยพูดว่า “หนูยอมรับว่า คุณหมออาจจะเคยทำผิดบ้าง แต่หนูยังไม่เคยเห็นเลย และถึงแม้ว่าคุณหมอจะทำผิดบ้าง ต้องไม่สำคัญอะไร เพราะว่าคุณหมอเข้าใจผู้อื่นดี คุณหมอเป็นคนเดียวในโลกจริงๆ ที่เข้าใจหนู”

ผู้รักษาจึงกล่าวว่า “และเพราะว่าสามีไม่เข้าใจคุณ จึงทำให้คุณโกรธ”
ผู้ป่วยตอบด้วยอารมณ์ขุ่นเคืองว่า “ใช่ค่ะ เขาเป็นคนเลวที่สุด หนูต้องการผู้ชายที่เข้าใจว่าคนอื่นก็มีหัวใจ ไม่ใช่หุ่นยนต์ ทำให้หนูคิดว่า ทางที่ดีที่สุด คือ หนูควรจะแต่งงานกับคุณหมอ คุณหมอเป็นคนเดียวในโลกที่สนใจหนูจริง”

ผู้รักษาจึงอธิบายว่า “อาชีพของผมก็คือต้องสนใจคนไข้ และหาทางช่วยเหลือจนสุดความสามารถ”
ผู้ป่วยพยักหน้าแล้วพูดว่า “หนูทราบ ถึงอย่างไรคุณหมอก็คงจะเป็นสามีที่ดีของหนู”
ผู้รักษายิ้ม แล้วถามว่า “ถ้าสมมติว่าผมเป็นสามีของคุณแล้ว ใครจะเป็นผู้รักษาคุณ?”
ผู้ป่วยตอบว่า “หนูที่ไม่จำเป็นต้องหาผู้รักษา”
ผู้รักษาถามว่า “ทำไมครับ?”
ผู้ป่วยตอบว่า “เพราะว่า หนูคงจะมีความสุข และไม่ต้องมาเสียเวลาพูดที่นี่อย่างเดี๋ยวนี้”

ผู้รักษาอธิบาย “ถ้าผมเป็นสามีคุณ ผมก็จะมีอคติ ไม่สามารถรักษาความเป็นกลางได้ และคงจะไม่สามารถเข้าใจคุณเหมือนอย่างเดี๋ยวนี้ หมายความว่า ผมจะต้องสูญเสียความสามารถในการเป็นผู้รักษาไปด้วย”

ผู้ป่วยจึงพูดว่า “หนูก็เคยคิดอย่างนี้เหมือนกัน ถ้าเราแต่งงานกัน เราก็จะอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ใช่เป็นคนไข้กับหมออย่างเดี๋ยวนี้ หนูอาจจะสั่งให้คุณหมอทำอะไรตามใจหนูก็ได้

ผู้รักษาได้โอกาส จึงพูดสวนขึ้นมาทันทีว่า “อย่างที่คุณทำกับสามีของคุณเดี๋ยวนี้”

ผู้ป่วยทำท่าแปลกใจและพูดว่า “คุณหมอหมายความว่า หนูจะเล่นงานคุณหมอเหมือนกับที่หนูกำลังเล่นงานสามีของหนู…..คุณหมออาจจะพูดถูก……” (แล้วผู้ป่วยก็สามารถเล่าเรื่องความสัมพันธ์กับสามีออกมาได้อีก)

ข้อสังเกต
ผู้รักษาประสบความสำเร็จ ในการที่แสดงให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ผู้ป่วยคงจะต้องทำกับผู้รักษาเช่นเดียวกับที่กระทำต่อสามี การที่ผู้ป่วยนิยมชมชอบผู้รักษานั้น แท้ที่จริงมีลักษณะต่อต้านผู้รักษาแอบแฝงอยู่ด้วย

ตลอดเวลาของการรักษา ผู้ป่วยมักจะแสดง Transferences เกือบทุกชนิดสลับกันไปมา แต่ว่ามักจะมีชนิดใดชนิดหนึ่งเด่นกว่าชนิดอื่นๆ ได้ ความรุนแรงของ Transferences ที่เกิดขึ้น มักจะขึ้นอยู่กับการที่ผู้รักษาจะ “ยินยอม” ให้เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด

ตามความเป็นจริงนั้น ผู้รักษาก็ทำหน้าที่คล้ายกับบิดามารดาของผู้ป่วยอยู่แล้ว เช่น แนะนำ ชักจูงให้กำลังใจ อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจสิ่งที่เขาไม่ทราบมาก่อน ฯลฯ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของผู้ป่วยที่มีต่อผู้รักษา จึง “ไม่ใช่” Transferences ทั้งหมด ความรู้สึกของผู้ป่วยบางอย่าง เป็นปฏิกิริยาต่อผู้รักษาตามความเป็นจริง

วิธีที่ดีที่สุดคือ ผู้รักษาควรจะให้ Transferences เกิดตามธรรมชาติให้มากที่สุด ถ้าผู้รักษาจะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเจตนา วิพากษ์วิจารณ์ผู้ป่วยในทางเสียหายแล้ว ก็เหมือนกับที่บิดามารดาเคยลงโทษผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อการรักษา การทำตัวเหมือนกับบิดามารดาผู้ป่วยนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำจิตบำบัดชั้นสูง

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า