สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

การให้นมแม่เมื่อลูกอายุได้ 3-5 เดือน

ทารกจะมีน้ำหนักโดยเฉลี่ยประมาณ 5.5 กิโลกรัม ถ้าได้กินนมแม่มาตลอดอายุ 3 เดือน หลังจากนี้การดูดนมแม่ในแต่ละมื้อของลูกจะสั้นลง แต่บางครั้งก็ดูดไปจนหลับอยู่บนตัก และจะตื่นขึ้นอีกเมื่อวางให้นอนบนเตียง คุณแม่ควรวางลูกนอนเบาๆ เอามือแตะไว้ที่หลังแล้วค่อยเอาออก บางคนจะหลับต่อได้ก็เมื่อตีที่ก้นเบาๆ

ลูกจะสนใจเสียงต่างๆ รอบตัวมากขึ้นเมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือน ถ้ามีเสียงพูดคุยกัน หรือเสียงโทรทัศน์ ในขณะที่ลูกกำลังดูดนมแม่อยู่เขาก็จะหันหาต้นตอของเสียงนั้น ทารกบางคนอาจไม่ยอมดูดนมต่อ หรืออาจร้องไห้เมื่อมีเสียงรบกวน คุณแม่จึงควรเลือกห้องที่มีความสงบในการให้นมลูก อาจใช้มือป้องหูเพื่อลดเสียงรบกวนหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดคุยกันด้วยเสียงเบาๆ ควรนั่งให้ลูกเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในห้องเพื่อจะได้ไม่ต้องหันศีรษะไปมอง จะได้ดูดนมแม่ไปด้วยและมองสิ่งที่ดึงดูดความสนใจไปด้วยพร้อมๆ กัน

คุณแม่ควรพูดจาปลอบโยนให้ลูกกลับมาดูดนมใหม่เมื่อลูกคลายปากจากนมแม่ ลูกจะมีความสามารถในการฟังเสียง มอง และดูดกลืนนมในเวลาเดียวกันในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา ลูกจะมองทุกคนในครอบครัวพร้อมกับดูดนมไปด้วย เพราะลูกเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างจริงจังแล้ว

ลูกจะเริ่มยกมือขึ้นโบกไปมาขณะดูดนมแม่เมื่อมีอายุได้ 5 เดือน เริ่มจับเสื้อผ้าแม่ แตะหน้าแม่ หรือจับเต้านมแม่ ขณะที่แม่พูดคุยด้วยลูกก็จะจ้องมองที่ริมฝีปากแม่ เขาจะรับฟังน้ำเสียงของแม่พร้อมๆ กับสังเกตการขยับปาก เป็นการเรียนรู้วิธีการสื่อสารด้วยภาษาที่ดีที่สุด ลูกอาจจะยิ้มทั้งๆ ที่มีนมในปากเมื่อเขาชอบใจ

จะมีการเรียนรู้มากขึ้นในเด็กวัน 4-5 เดือน บางคนปฏิเสธไม่ยอมรับนมจากพี่เลี้ยงที่คุณแม่บีบไว้ให้ในช่วงที่ต้องออกไปทำงาน เพราะเขาเรียนรู้ที่จะรอกินนมจากอกอุ่นๆ ของแม่มากกว่า ทารกในวัยนี้รอกินนมจากอกแม่ได้นาน 3-4 ชั่วโมง ดังนั้น ในช่วงนี้คุณแม่ก็ออกไปทำธุระได้แล้วจึงค่อยกลับมาให้นมในมื้อต่อไป คุณแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูกทั้งวันจะมีเวลาพักผ่อนบ้างถ้าทารกดูดนมในตอนหัวค่ำ แล้วหลับยาวไปจนถึงตี 1 ตี 2 แต่ถ้าแม่ไปทำงานนอกบ้านลูกจะเปลี่ยนเวลามานอนในตอนกลางวันมาก และเมื่อแม่กลับมาบ้านในตอนเย็นก็จะตื่นมาดูดนมบ่อยๆ

ในช่วงนี้ถ้าคุณจะหยุดให้นมแม่
ข้อมูลและคำแนะนำที่คุณแม่เคยได้ยินมาอาจยังคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น
“น้ำนมแม่ตอนนี้ไม่มีประโยชน์ ให้ลูกกินนมขวดเถอะ”
“นี่เธอยังให้ลูกกินนมแม่อยู่อีกเหรอ เดี๋ยวได้ยานหมดหรอก”
แต่ข้อเท็จจริงมีดังนี้

1. ไม่ว่าเวลาใด น้ำนมแม่ก็ยังคงมีประโยชน์อยู่เสมอ และจะปรับปริมาณตามความต้องการของลูก ตราบใดที่ลูกยังได้รับนมแม่อยู่ก็ยังคงมีคุณค่าในการป้องกันการติดเชื้อในทางเดินอาหารและทางเดินหายใจเสมอ ไม่ว่าลูกจะอายุ 1 วัน หรือ 6 เดือน คุณค่าทางโภชนาการก็ไม่ได้ลดน้อยลง แต่เมื่อทารกโตและมีน้ำหนักมากขึ้นก็ย่อมต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนมแม่ทารกอายุเกิน 6 เดือนยังต้องการอาหารอื่นเพิ่มขึ้นด้วยเพื่อจะได้รับพลังงานจากสารอาหารได้เพียงพอ ถ้าได้รับนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมอย่างถูกต้อง ทารกในวัยนี้ก็จะมีการเจริญเติบโตได้เป็นปกติ

2. เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนเกี่ยวกับรูปทรงของเต้านม ไม่ว่าคุณจะให้นมแม่แก่ลูกหรือไม่ เต้านมก็อาจหย่อนยานได้ ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดี มีความเชื่อของผู้รู้บางคนว่า เต้านมที่ได้ทำหน้าที่ผลิตน้ำนม จะยังคงรูปร่างสวยงามได้เป็นเวลานานกว่าเต้านมที่ไม่เคยผลิตน้ำนม แต่ทางที่ดี เพื่อช่วยรับน้ำหนักเต้านมที่เพิ่มขึ้นมากในระยะให้นมลูก คุณแม่ก็ควรใส่ยกทรงพยุงไว้ทั้งกลางวันและกลางคืน

ในระยะหลังๆ จากการวิจัยได้พบว่า การให้นมแม่มีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ได้ ยิ่งให้นานและมากเท่าใดก็จะป้องกันได้มากเท่านั้น เมื่อมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในกระแสเลือดสูงเป็นเวลานานๆ จึงทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น แต่การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนจะถูกยับยั้งในช่วงที่มีการให้นมลูก หากให้นมลูกนานๆ ระดับเอสโตรเจนก็จะต่ำอยู่นาน ทำให้โอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านมมีน้อยลง การวิจัยอีกชิ้นหนึ่งก็พบว่า เวลา 6 เดือนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเต็มที่ จะลดโอกาสการเป็นมะเต็งเต้านมเมื่อมีอายุถึง 85 ปี จากในอัตรา 1/11 มาเป็น 1/125

ลองคิดพิจารณาถึงผลดีผลเสียต่อคุณและลูกดู ถ้าคิดจะหยุดให้นมแม่แก่ลูกในช่วงนี้

การเปลี่ยนแปลงของลูกในช่วงอายุ 4-6 เดือน
ในช่วงกลางวัน ทารกอายุ 5 เดือนจะนอนหลับ 2 ช่วง และถ้าในเวลากลางวันได้รับนมแม่เพียงพอเมื่อถึงตอนกลางคืนอาจจะหลับยาวถึง 10 ชั่วโมง ในช่วงนี้ทารกบางรายจะกินนมแม่ได้น้อยลง เพราห่วงเล่น จะสนุกไปกับการคืบคลานไปรอบๆ กับสิ่งแปลกใหม่ที่น่าสนใจมากมาย แต่ในช่วงกลางคืนที่บรรยากาศเงียบสงบกว่าก็จะกลับมาดูดนมแม่หลายมื้อ คุณแม่ต้องใช้ความอดทนในช่วงนี้ ต่อไปลูกจะจัดระบบการกินและการเล่นให้ไปด้วยกันได้ดีขึ้น เมื่อโตขึ้นในอีกไม่นาน

เมื่อถึงเวลานมทารกวัยนี้เขาจะส่งเสียงเรียกแทนที่จะร้องไห้เหมือนแต่ก่อน เริ่มเรียนรู้การรอคอย เขาจะนอนอย่างสงบไม่โวยวายเมื่ออุ้มขึ้นบนตักเตรียมจะให้นมแม่ น้ำหนักของเด็กวัยนี้จะขึ้นเป็นสองเท่าของเด็กแรกเกิด นมแม่ที่ทารกได้รับจะเป็นวันละ 800-1,000 มิลลิลิตร พลังงานของคุณแม่ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการสร้างน้ำนมจึงรู้สึกเจริญอาหารและกระหายน้ำมากขึ้น ดังนั้น ควรงดการออกกำลังที่หักโหมอีกประมาณ 2-3 เดือนก่อน

การดูดนมแม่ของทารกเขาจะมีท่าเฉพาะคือ กำมือทั้งสองข้างและยกขึ้นขนาบเต้านมสองข้างของแม่ไว้เหมือนการกอด หรืออาจจะกำเสื้อของแม่จนแน่น จะทำให้ลูกดูดนมแม่ได้ถนัดยิ่งขึ้น และแม่ก็จะประคองตัวลูกไว้โดยใช้อ้อมแขนเพียงข้างเดียวก็พอ

ประสิทธิภาพในการดูดนมแม่ของเด็กวัยนี้จะดีมาก เขาจะดูดนมแม่อิ่มในเวลาเพียง 5 นาที เพราะลูกดูดแรงจนเกิดน้ำนมไหลพุ่งดี ดังนั้น ที่เขาดูดเสร็จเร็วจึงไม่ใช่เขาไม่สนใจนมแม่ สำหรับลูกแล้วนมแม่ยังเป็นแหล่งอาหารและมีความหมายต่อลูกมากเลยทีเดียว

การให้อาหารอื่นเพื่อเสริมนมแม่
ส่วนใหญ่ทารกอายุตั้งแต่ 4-6 เดือน พร้อมที่จะลองอาหารอื่นนอกจากนมแม่แล้ว ถ้าให้เร็วกว่านี้ระบบย่อยอาหารของทารกยังทำได้ไม่สมบูรณ์พอที่จะย่อยอาหารอย่างอื่น จึงไม่ควรเริ่มเร็วกว่าระยะนี้ เด็กแต่ละคนพร้อมที่จะรับอาหารอย่างอื่นได้ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเร็ว แต่บางคนก็อาจจะช้า คุณแม่จึงไม่ต้องเป็นห่วงถ้าลูกอายุ 4 เดือนแล้วยังไม่ยอมรับอาหารอื่น ควรเว้นไปสักระยะหนึ่งก่อนแล้วค่อยกลับมาให้อาหารอย่างอื่นใหม่ สารอาหารในนมแม่มีเพียงพอสำหรับทารกจนถึงอายุ 6 เดือนทีเดียว หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว นมแม่อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะร่างกายของเขาต้องการสารอาหารและพลังงานมากขึ้น จึงจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมด้วย

ควรเริ่มต้นให้อาหารเสริมแก่ทารกอย่างไร
เป็นการทดลองให้ลูกได้ชิมรสชาติของอาหารที่แตกต่างออกไปจากการเริ่มต้นให้อาหารอื่นเสริม นอกเหนือจากนมแม่ อาหารที่เด็กแต่ละคนชอบก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น หากเริ่มให้อาหารอย่างหนึ่งแล้วลูกไม่ชอบก็ควรเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นดูบ้าง ควรให้ในปริมาณน้อยๆ เพียง 1 ช้อนชา เมื่อเริ่มต้นให้เป็นครั้งแรก ไม่ควรบีบบังคับหรือยัดเยียดให้ลูกกินอาหาร เพราะอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการกินต่อไปไม่สิ้นสุด เนื่องจากตั้งแต่ครั้งแรกลูกก็เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการป้อนอาหารแล้ว

อาหารที่หาได้ง่ายในสังคมไทย มีรสอร่อยและมีวิธีการเตรียมที่ไม่ยุ่งยาก คือ กล้วยน้ำว้าสุก ให้ครูดเอาเฉพาะส่วนที่นิ่ม ช้อนที่ใช้ป้อนอาหารแก่ลูกตรงขอบต้องไม่คมจนเกินไป และควรมีขนาดพอเหมาะกับปากของลูก เมื่อป้อนอาหารให้ลูกในครั้งแรก เขาจะดันออกมาด้วยลิ้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการดูดนมแม่ ไม่ใช่การปฏิเสธอาหารแต่เป็นปฏิกิริยาที่ปกติ เพราะลูกยังไม่ได้เรียนรู้การรับอาหารจากช้อน คุณแม่ต้องค่อยๆ ทำไปด้วยความใจเย็นๆ ลูกจะหุบปากเม้มอาหารเข้าไปทีละน้อยเมื่อใช้ช้อนป้อนอาหารลงที่ริมฝีมากของลูก

ให้เริ่มอาหารอย่างอื่นทีละอย่าง หลังจากที่ลูกรับอาหารได้อย่างหนึ่งแล้ว ไม่ควรเอาอาหารมาผสมกัน เพราะอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งที่ให้ในระยะแรก เราอาจไม่รู้ว่าลูกมีปฏิกิริยาแพ้หรือไม่ ค่อยให้ปนกันหลายอย่างเมื่อแน่ใจแล้วว่า ลูกไม่แพ้อาหารชนิดนั้น

ในช่วงเวลาที่คุณแม่ไม่ต้องเร่งรีบ ทั้งคุณแม่และลูกมีอารมณ์แจ่มใสดี จึงควรให้อาหารอื่นเสริมในมื้อนั้น ซึ่งอาจจะเป็นเวลาเช้า เพื่อไม่ให้ลูกหิวจัดก็ให้ดูดนมแม่ข้างหนึ่งก่อนแล้วตามด้วยอาหารเสริม แล้วค่อยนมแม่อีกข้างจนลูกอิ่ม

โชคดีที่เมืองไทยมีผักผลไม้สดตลอดทั้งปี คุณแม่สามารถเลือกได้ตามใจชอบ อาหารจากธรรมชาติย่อมดีกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการต่างๆ มาแล้ว ดังนั้น คุณแม่ควรเตรียมอาหารจากของสดๆ ดีกว่าอาหารสำเร็จรูป หรืออาหารเด็กบรรจุขวด

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า