สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดีย(Giardiasis)

ไกอาร์เดีย(Giardiasis) คือโปรโตซัวชนิดหนึ่ง เมื่อเข้าไปในร่างกายจะทำให้เกิดการติดเชื้อที่ลำไส้เล็ก กลายเป็นโรคท้องเดินเฉียบพลันและเรื้อรังได้ พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัย แต่มักพบในเด็ก หรือในถิ่นที่การสุขาภิบาลไม่ดี หรือผู้ขาดสุขนิสัยที่ดี ในท้องเดินจากเชื้อไกอาร์เดียสถานที่รับเลี้ยงเด็ก สถานพักฟื้นผู้ป่วยจิตเวช ผู้สูงอายุ และในหมู่ชายรักร่วมเพศมักเกิดการติดเชื้อได้บ่อย ผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการแต่จะเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อสาเหตุชื่อว่า ไกอาร์เดียแลมเบลีย(Giardia lamblia) ที่อยู่ตามแหล่งน้ำหรือพื้นดิน ซึ่งอาจปนเปื้อนอยู่ในน้ำประปาหรือสระว่ายน้ำ เชื้อจะอยู่ในรูปของซิสต์มีความคงทนมากจึงไม่ถูกทำลายได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่ติดต่อด้วยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ หรือด้วยการสัมผัสมือ หรือจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-3 สัปดาห์

อาการ
อาการแบบเฉียบพลัน  มีอาการถ่ายเป็นน้ำในระยะเริ่มแรก และอุจจาระมีลักษณะเป็นฟอง มัน ลอยน้ำ มีกลิ่นเหม็นจัด ใน 3-4 วันต่อมา อุจจาระมักไม่มีมูกเลือด มักมีอาการปวดบิดในท้อง มีลมในท้องมาก ท้องอืด เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด อาจมีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้น อาการอาจหายได้เองในเวลา 1-3 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 6 สัปดาห์ในบางราย มีน้อยรายมีมีอาการเรื้อรัง

อาการแบบเรื้อรัง  เกิดจากการดูดซึมผิดปกติจากการถ่ายอุจจาระเหลวในปริมาณมากๆ และบ่อยครั้ง อุจจาระสีเหลือง เป็นฟอง เป็นมันลอยน้ำ กลิ่นเหม็นจัด อาการมักเป็นๆ หายๆ อาจมีท้องผูกสลับกับท้องเดินนานเป็นเดือนหรือปี หลังจากกินอาหารจะปวดท้อง มีลมในท้อง ท้องอืด น้ำหนักตัวลด

สิ่งตรวจพบ
อาจจะมีไข้ต่ำๆ ภาวะขาดน้ำ ท้องอืด ท้องกดเจ็บเล็กน้อย อุจจาระกลิ่นเหม็นจัด

ภาวะแทรกซ้อน
มักหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
อาจมีภาวะขาดน้ำในรายที่ถ่ายรุนแรง แต่ถ้าเกิดกับทารกอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
อาจมีอาการปวดท้องเวลาดื่มนม หรือท้องเดินเนื่องจากเกิดภาวะพร่องแล็กเทส
สำไส้ดูดซึมไม่ปกติ ท้องเดินเรื้อรัง น้ำหนักลด ขาดสารอาหาร เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่เป็นโรคนี้เรื้อรัง จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและพัฒนาการทางสมอง

การรักษา
ให้การรักษาด้วยการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำเพื่อแก้ไขภาวะขาดน้ำ หรือหากไม่แน่ใจควรนำส่งแพทย์โดยด่วน

แพทย์จะตรวจหาเชื้อไกอาร์เดียในอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์หลายครั้งเพื่อให้แน่ใจ หากไม่พบเชื้อหรือไม่แน่ใจอาจต้องตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน เช่น การตรวจสารก่อภูมิต้านทานในอุจจาระด้วยวิธี IFA หรือ ELISA

ให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น เมโทรไนดาโซล ขนาด 250 มก. วันละ 3 ครั้ง เด็กให้ขนาด 15 มก./กก/วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ให้นาน 5 วัน
หากพบมีน้ำหนักน้อย เกิดภาวะขาดสารอาหาร ควรให้อาหารเสริม วิตามิน หรือเกลือแร่ตามอาการที่พบ

ในรายที่ดื้อยาอาจเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น เช่น ทินิดาโซล(tinidazole) ขนาด 2 กรัม ครั้งเดียว อัลเบนดาโซล 400 มก. วันละ 1 ครั้ง นาน 5 วัน หรือฟูราโซลิโดน(furazolidone) 100 มก. วันละ 4 ครั้ง นาน 7-10 วัน

ข้อแนะนำ
1. ผู้ติดเชื้อนี้มักเป็นผู้แพร่เชื้อแต่ไม่แสดงอาการใดๆ จึงควรต้องดูแลรักษาสุขภาพและอนามัยให้ดีอยู่เสมอ

2. การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยให้อาการหายเร็วขึ้นและลดการแพร่เชื้อ โรคนี้สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องให้ยารักษาแต่อาจกินเวลานานหลายสัปดาห์

3. หากสงสัยว่าเกิดโรคหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาเสียแต่เนิ่นๆ

4. หญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรกควรเลี่ยงการใช้ยาหากเป็นโรคนี้เพราะยาจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ ควรให้การรักษาตามอาการไปจนกว่าจะพ้นไตรมาสแรกหรือหลังคลอด หรือถ้าจำเป็นอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาและต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

การป้องกัน
1. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร ก่อนเตรียมอาหาร หลังอาหาร หลังถ่ายอุจจาระ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก
2. ดื่มน้ำที่ต้มสุกหรือที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อแล้ว
3. ควรระวังอย่าให้น้ำเข้าปากเมื่อเมื่อเล่นน้ำในสระหรือแหล่งธรรมชาติ
4. กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ เสมอ
5. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า