สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ท้องเดิน/อุจจาระร่วง(Diarrhea/Gastroenteritis)

หมายถึงภาวะถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมากกว่าวันละ 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเพียงครั้งเดียว

ในทารกที่ดื่มนมแม่อาจถ่ายเหลวได้บ่อยครั้ง แต่ถ้าถ่ายมีน้ำเป็นจำนวนมากและบ่อยกว่าที่เคยเป็นก็ถือว่าผิดปกติท้องเสีย

อาการท้องเดินพบได้บ่อย มักไม่รุนแรงและหายได้เอง อาการรุนแรงมีเป็นส่วนน้อยที่ทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่มีอันตรายถึงชีวิตโดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ

สาเหตุ
1. ท้องเดินชนิดเฉียบพลันเกิดจาก
ก. อาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรตา ไวรัสโคโรนา ไวรัสอะดีโน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ชิเกลลา ไทฟอยด์ อหิวาต์ จากโปรโตซัว เช่น อะมีบา ไกอาร์เดีย มาลาเรีย หนอนพยาธิ เช่น พยาธิแส้ม้า ทริคิเนลลาสไปราลิส เหล่านี้เป็นการติดเชื้อซึ่งพบได้บ่อยกว่าสาเหตุอื่น

ข. สารพิษจากเชื้อโรค โดยพิษอาจปนเปื้อนในอาหารที่รับประทาน

ค. สารเคมี ที่ทำให้มีอาเจียน ปวดท้องรุนแรง และชักร่วมด้วย เช่น ตะกั่ว สารหนู ไนเทรต ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

ง. ยา เช่น ยาถ่าย ยาลดกรด ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคเกาต์ เป็นต้น

อาการท้องเดินจากการใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากยาเข้าไปทำลายจุลินทรีย์ปกติในลำไส้ใหญ่ ทำให้แบคทีเรียที่มีชื่อว่า Clostridium difficile ที่แฝงเร้นอยู่และเติบโตจนเกิดการอักเสบของลำไส้ใหญ่พบได้บ่อยในผู้ที่ใช้ยาคลินดาไมซิน(clindamycin) ลินโคไมซิน(lincomycin) กลุ่มเพนิซิลลิน และเซฟาโลสปอริน และอาจพบในผู้ใช้ยาอีริโทรไมซิน กลุ่มเตตราไซคลีน กลุ่มซัลฟาและกลุ่มควิโนโลน มักเกิดอาการหลังใช้ยา 1-10 วันบางรายอาจถึง 6 สัปดาห์ จะถ่ายเหลวบ่อยหากอาการไม่รุนแรง ในรายที่เป็นรุนแรงและมีอันตรายร้ายแรง เช่น ถ่ายมูกเลือด มีไข้ ปวดท้อง มีภาวะขาดน้ำ ความดันต่ำ ลำไส้ใหญ่ทะลุ เรียกภาวะรุนแรงนี้ว่า Pseudomembranous colitis

จ. จากพืชที่เป็นพิษ เช่น เห็ด กลอย หรือจากสัตว์ที่มีพิษ เช่น ปลาปักเป้า ปลาทะเล หอยทะเล คางคก เป็นต้น

2. ถ้ามีอาการเรื้อรัง ถ่ายนานเกิน 3 สัปดาห์ หรือเป็นๆ หายๆ อาจเกิดจาก
ก. โรคลำไส้แปรปรวน มักเป็นๆ หายๆ นานแรมปีโดยที่ร่างกายยังแข็งแรงดี
ข. การติดเชื้อบิดอะมีบา ไกอาร์เดีย วัณโรคลำไส้ พยาธิแส้ม้า เอดส์ เป็นต้น
ค. โรคต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
ง. ภาวะพร่องแล็กเทส เป็นเอนไซม์ย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนม จึงทำให้ท้องเดินหลังจากดื่มนมเข้าไป
จ. การแพ้อาหาร ซึ่งพบได้ในทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะเด็กเล็ก เช่น นมวัว ไข่ ปลา กุ้ง หอย ปู ถั่วลิสง เป็นต้น
ฉ. ภาวะลำไส้ไม่สามารถดูดซึมอาหารได้ตามปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของลำไส้เล็ก ขาดเอนไซม์ย่อยอาหาร ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง มะเร็งตับอ่อน ภาวะทางเดินน้ำดีอุดกั้น การผ่าตัดกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก หรือถุงน้ำดี การติดเชื้อของลำไส้จากเชื้อไกอาร์เดีย ทำให้มีอาการท้องเดินเรื้อรัง ถ่ายเหลวสีเหลืองอ่อนเป็นฟองเป็นมัน ลอยน้ำ กลิ่นเหม็นจัดเนื่องจากไขมันไม่ถูกดูดซึม ผู้ป่วยจะซีด บวมจากการขาดสารอาหาร และน้ำหนักลด
ช. เนื้องอกหรือมะเร็งของลำไส้หรือตับอ่อน
ซ. ยา เช่น กินยาถ่าย ยาต้านกรดเป็นประจำก็จะทำให้ให้มีท้องเดินเรื้อรังได้
ฌ. ลำไส้อักเสบจากการฝังแร่รักษามะเร็งปากมดลูก ความเครียด การกระตุ้นของอาหารที่ไม่ย่อยหรือย่อยยาก

อาการ
โดยทั่วไปจะมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำถ่ายเหลวบ่อยครั้ง อาจมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน หรือถ่ายเป็นมูกเลือดในบางราย

สิ่งตรวจพบ
ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีไข้ และมีภาวะขาดน้ำ

ภาวะแทรกซ้อน
ในผู้ป่วยท้องเดินชนิดเฉียบพลัน  จะมีภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ช็อกได้ ภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับขนาดของภาวะขาดน้ำเป็นสำคัญ

ภาวะขาดน้ำแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ
1. ภาวะขาดน้ำเล็กน้อย(mild dehydration)  ผู้ป่วยรู้สึกกระหายน้ำ น้ำหนักลดร้อยละ 5 อ่อนเพลียเล็กน้อย ชีพจรและความดันเลือดปกติดี

2. ภาวะขาดน้ำปานกลาง (moderate dehydration)  น้ำหนักตัวลดร้อยละ 5-10 รู้สึกเพลียมาก เดินแทบไม่ไหว แต่ยังนั่งได้ รู้สึกตัวดี ตาลึก ปากแห้ง ผิวหนังเหี่ยวขาดความยืดหยุ่น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ ในทารกยังพบกระหม่อมบุ๋ม เซื่องซึม ไม่ร่าเริงร่วมด้วย

3. ภาวะขาดน้ำรุนแรง(severe dehydration) ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดมากกว่าร้อยละ 10 ลุกนั่งไม่ได้ ต้องนอน ไม่ค่อยรู้สึกตัวหรือช็อก กระสับกระส่าย ตัวเย็น มือเท้าเย็นชืด ชีพจรเต้นเบาเร็ว ความดันต่ำมาก ปัสสาวะน้อยหรือไม่ออกเลย ตาโบ๋มาก ผิวหนังเหี่ยว ริมฝีปากและลิ้นแห้งผาก หายใจเร็วและลึก ในทารกยังพบอาการกระหม่อมบุ๋มมาก แน่นิ่ง ตัวอ่อนปวกเปียก  ในผู้ป่วยท้องเดินชนิดเรื้อรัง ลำไส้ดูดซึมอาหารไม่ได้ น้ำหนักลด ขาดสารอาหาร ซีด

การรักษา
ท้องเดินชนิดเฉียบพลันมีแนวทางการดูแลรักษาดังนี้

1. งดอาหารรสจัด อาหารแข็ง อาหารมีกากใย ให้กินอาหารอ่อน อาหารเหลว เช่น น้ำหวาน น้ำข้าว ข้าวต้น โจ๊ก ทารกที่ดื่มนมแม่ให้ดื่มต่อไปได้ตามปกติ ถ้าทารกดื่มนมผงให้ผสมนมเจือจางลงเท่าตัวในระยะ 2-4 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจึงให้ได้ตามปกติ

2. ให้น้ำเกลือ

ก. ผู้ป่วยยังกินได้ ไม่อาเจียน หรืออาเจียนเล็กน้อย ให้ผสมผงเกลือแร่กับน้ำต้มสุกครั้งละ 250 มล. ดื่มบ่อยๆ หรือจะทำน้ำเกลือเองได้ด้วยวิธีดังนี้ ใช้น้ำต้มสุก 750 มล. ผสมน้ำตาลทราย 25-30 กรัม และเกลือป่น 1.7 กรัม หรือจะใช้เป็นน้ำอัดลมหรือน้ำข้าว 750 มล.ใส่เกลือ ½ ช้อนชาก็ได้  ในเด็กเล็กช่วง 4 ชั่วโมงแรกถ้าเกิดภาวะขาดน้ำเล็กน้อยให้สารละลายเกลือแร่ในปริมาณ 50 มล./กก. สำหรับภาวะที่ขาดน้ำมากให้สารละลายเกลือแร่ในปริมาณ 100 มล./กก.

ข. ถ้าผู้ป่วยอาเจียนเพียงเล็กน้อย ยังพอดื่มน้ำเกลือแร่ได้ ให้สังเกตว่าน้ำที่อาเจียนออกมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ดื่มเข้าไป หากมีอาเจียนออกมามากกว่าควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแทน

สำหรับผู้ใหญ่ ใน 12-24 ชั่วโมง ให้น้ำเกลือชนิดเดกซ์โทรส 5% ในน้ำเกลือนอร์มัล(5%D/NSS) หรือน้ำเกลือนอร์มัล(NSS) 1000-2000 มล. หากเกิดภาวะขาดน้ำปานกลางหรือรุนแรงในระยะ 1-2 ชั่วโมงควรให้น้ำเกลือหยดเร็วๆ จนชีพจรเต้นช้าลงและแรงขึ้น ความดันเลือดเป็นปกติ จึงค่อยปรับน้ำเกลือให้หยดช้าลง

สำหรับในเด็ก ใน 24 ชั่วโมง ให้น้ำเกลือชนิดเดกซ์โทรส 5% ใน 1/3 น้ำเกลือนอร์มัล (5% D/1/3 NSS) ขนาด 100 มล./กก. หากในระยะ 1-2 ชั่วโมงแรกเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงควรให้ในขนาด 20 มล./กก. ใน 1 ชั่วโมง

ควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดขณะให้น้ำเกลือ ถ้ามีอาการหอบ ตัวเขียว หน้าบวม ฟังปอดมีเสียงกรอบแกรบ แสดงว่าให้น้ำเกลือเร็วและมากเกินไปควรหยุดให้น้ำเกลือและฉีดฟูโรซีไมด์ ½ -1 หลอดเข้าหลอดเลือดดำ หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งโรงพยาบาล

3. ยาแก้ท้องเดิน ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการท้องเดินโดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้ที่มีสาเหตุจากโรคติดเชื้อเพราะอาจเกิดโทษได้ ควรใช้เฉพาะสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้เพียงพออาการท้องเดินก็จะดีขึ้นได้

4. ยาปฏิชีวนะ  ให้ในรายที่สงสัยว่าเป็นบิด อหิวาต์ หรือไทฟอยด์เท่านั้น

5. ให้รักษาตามสาเหตุของอาการท้องเดินนั้น

6. ติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดหากมีอาการรุนแรงขึ้นให้รีบส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

อาการที่แสดงว่าผู้ป่วยดีขึ้น คือ
-ถ่ายและอาเจียนน้อยลง
-ภาวะขาดน้ำลดน้อยลง
-ปัสสาวะมากขึ้น
-น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
-หน้าตาสดชื่นแจ่มใสขึ้น ลุกนั่ง หรือเดินได้

ในรายที่เป็นท้องเดินชนิดเรื้อรัง  ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุหากมีอาการ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด ซีด มีไข้เรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด ตื่นมาถ่ายตอนดึกหรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่ หากไม่มีอาการเหล่านี้ให้รักษาตามสาเหตุของโรค

ข้อแนะนำ
1. ท้องเดินชนิดเฉียบพลัน ถ้าให้การรักษาขั้นต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุเพราะอาจมีอันตรายถึงตายได้

2. ยาแก้ท้องเดินที่จำเป็นที่สุดคือน้ำเกลือแร่ ซึ่งจะช่วยลดอันตรายที่เกิดจากโรคนี้คือ การสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จึงควรรู้จักการใช้ผลน้ำตาลเกลือแร่ น้ำเกลือผสมเอง น้ำอัดลมหรือน้ำข้าวต้มใส่เกลือ ดื่มกินทันทีเมื่อมีอาการท้องเดิน

3. ในเด็กเล็ก อาการท้องเดินบ่อยอาจทำให้ขาดอาหาร และภาวะขาดอาหารอาจทำให้ท้องเดิน ทั้ง 2 โรคนี้มีความสัมพันธ์กันจึงควรรักษาโรคนี้อย่างจริงจัง
4. สาเหตุของโรคท้องเดินเกิดจากการติดเชื้อซึ่งสามารถป้องกันได้ อาการท้องเดินในเด็กเล็กจึงไม่เกี่ยวกับการยืดตัวของเด็กดังที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

การป้องกัน
การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดท้องเดินจากการติดเชื้อมีดังนี้
1. บริโภคอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด
2. ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังถ่ายอุจจาระหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็กควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง
3. ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
4. สำหรับทารก ควรเลี้ยงด้วยนมแม่ หากใช้ขวดนมควรฆ่าเชื้อโรคด้วยการต้มขวดในน้ำเดือดนานอย่างน้อย 15-20 นาที ควรฉีดวัคซีนให้ครบตามแพทย์กำหนด ให้อาหารเสริมเพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า