สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ท้องเดินจากไวรัส(Viral gastroenteritis)

พบได้บ่อยในคนทุกวัยและมักพบในเด็กเล็ก มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส ติดต่อกันได้ง่าย อาจมีการระบาดในสถานที่รับเลี้ยงเด็ก ผู้สูงอายุ หรือโรงเรียน อาการมักไม่รุนแรงสามารถหายเองได้ท้องเดินจากไวรัส

สาเหตุ
เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุ เช่น ไวรัสโคโรนา(coronavirus) ไวรัสอะดีโน(adenovirus) ไวรัสแอสโตร(astrovirus) ไวรัสคาลิซิ(calicivirus) ไวรัสนอร์วอล์ก(Norwalkvirus) เป็นต้น ติดต่อโดยการไอ จาม หายใจกัน การปนเปื้อนเชื้ออุจจาระเข้าทางลมหายใจ จากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน

เชื้อไวรัสโรตา(rotavirus) เป็นเชื้อไวรัสสาเหตุสำคัญของโรคท้องเดินเฉียบพลันในเด็กอายุช่วง 6-24 เดือน อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงตายได้ พบโรคนี้ได้มากในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-2 วัน ติดต่อจากการกินอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ และจากการหายใจเอาเชื้อที่ปนเปื้อนในอุจจาระของผู้ป่วยเข้าไปได้

อาการ
มีอาการไข้สูง ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ในบางรายอาจเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์

โรคท้องเดินจากไวรัสโรตา จะมีอาการปวดท้อง อาเจียนในระยะเริ่มแรก แล้วจึงมีอาการถ่ายเป็นน้ำตามมา มีไข้สูง  อุจจาระเป็นฟอง มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดในบางราย มีอาการนานประมาณ 5-7 วัน มักหายได้เอง แต่อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงได้หากมีอาเจียนหรือถ่ายท้องรุนแรง

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ เกิดภาวะขาดน้ำ

ภาวะแทรกซ้อน
มักเกิดภาวะขาดน้ำในรายที่เป็นขั้นรุนแรง
อาจเกิดอาการท้องเดินเรื้อรังเนื่องจากเยื่อบุลำไส้เล็กอักเสบและไม่สามารถสร้างเอนไซม์แล็กเทสได้

การรักษา
1. ให้การรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น
2. อาจต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำหากเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง หรือกินไม่ได้
3. หากมีภาวะพร่องแล็กเทสควรให้การดูแลแบบภาวะพร่องแล็กเทส ในเด็กควรงดนมแม่และนมวัวเปลี่ยนมาให้นมถั่วเหลืองแทน

ข้อแนะนำ
1. อาการของโรคนี้คล้ายไข้หวัดเกิดร่วมกับท้องเดิน จึงมักเรียกว่า หวัดลงกระเพาะ หรือ ไวรัสลงกระเพาะ

2. อาการอาจจะคล้ายกับบิดชิเกลลา หรืออาหารเป็นพิษระยะแรก ถ้าถ่ายออกมาเป็นมูกเลือดควรให้การรักษาแบบบิดชิเกลลา และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด

การป้องกัน
1. ควรบริโภคอาหารและน้ำที่สะอาดและสุก ก่อนเตรียมอาหาร หลังถ่ายอุจจาระ ก่อนรับประทานอาหารควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง ถ่ายอุจจาระให้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะอนามัย

2. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก ผู้ป่วยไม่ควรไอหรือจามรดใส่ผู้อื่น

3. ควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือล้างก้นเด็ก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า