สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ทำให้น้ำนมแม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกได้อย่างไร

ในสังคมที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ จะสังเกตเห็นว่า หญิงแม่ลูกอ่อนจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างง่ายดาย แต่ในสังคมที่เจริญมากขึ้น ผู้หญิงกลับไม่สามารถให้นมลูกได้ จากสาเหตุน้ำนมมีไม่พอ ซึ่งได้ยินกันอยู่เสมอๆ

เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงหรือที่บอกว่า น้ำนมไม่พอ

พยาบาลแนะนำคุณแม่รายหนึ่งที่คลอดบุตรสายคนแรกที่มีน้ำหนักตัว 3,700 กรัม ว่า
“ให้ลูกดูดนมแม่เลยนะคะเดี๋ยวจะช่วยอุ้มให้”

ทารกน้อยอ้าปากดูดนมแม่ตามสัญชาตญาณเมื่อพยาบาลช่วยจัดท่าทางให้คุณแม่อุ้มลูกขึ้นกินนม คุณแม่ยังคงสงสัยอยู่ในใจว่า ลูกจะได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่จากเต้านมแฟบๆ แบบนี้ ในบ่ายวันนั้น คุณแม่จึงถามกับคุณหมอเมื่อเข้ามาเยี่ยมว่า

คุณแม่: “คุณหมดคะ น้ำนมยังไม่ไหลเลยค่ะ ให้ลูกดูดตอนนี้แล้วเขาจะอิ่มหรือคะ”

หมอ: “ลูกร้องบ้างหรือเปล่าคะ”

คุณแม่: “เขาก็หลับเป็นส่วนใหญ่ แต่พออุ้มให้ดูดนม ก็ดูดได้เป็นพักๆ ค่ะ”

หมอ: “นั่นก็แสดงว่าเขาไม่หิว น้ำนมที่เขาได้รับถึงแม้จะปริมาณน้อยในวันแรก แต่ก็พอสำหรับเขา คุณแม่ดูที่แก้มยุ้ยๆ นั่นสิคะ ไขมันที่นั่นน่ะ พอใช้ไปได้ตั้งหลายวัน คุณแม่ตั้งใจจะให้นมแม่หรือเปล่าคะ”

คุณแม่: “ค่ะ คิดว่าจะให้สักระยะหนึ่ง”

หมอ: “ถ้าอย่างนั้นก็ให้ลูกนอนข้างเตียงคุณแม่ตลอดเวลาเลยนะคะ เพื่อว่าเวลาลูกร้อง คุณแม่จะได้อุ้มมาให้ดูดนมแม่ได้ทันที และให้ดูดบ่อยเท่าที่เขาต้องการได้ด้วย”

เคล็ดลับการให้นมลูก
1. ตั้งแต่แรกเกิดควรให้ลูกนอนข้างเตียงคุณแม่ตลอดเวลา เพื่อให้ลูกดูดนมแม่ได้ตามต้องการ
แม้คุณยาย คุณพ่อ จะมาช่วยเหลือเรื่องการดูแลลูกในวันรุ่งขึ้น คุณแม่ก็ยังกังวลเรื่องที่น้ำนมยังไม่ไหล
คุณแม่โอดครวญว่า: “คุณหมอคะ นมยังไม่คัดเลยค่ะ สงสัยว่าจะไม่มีน้ำนมเสียแล้ว”

คุณหมอย้ำให้คุณแม่เกิดความมั่นใจว่า : “เพิ่งวันที่สองเท่านั้นเอง คุณแม่ใจเย็นๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้เต็มที่ นอนพักผ่อนทุกช่วงที่ลูกหลับ รับรองในอีก 2-3 วัน น้ำนมไหลจนหยดแน่ค่ะ”

คุณแม่: “แต่ตอนนี้ ขอนมขวดให้ลูกดูดก่อนเถอะค่ะ กลัวลูกหิว”

คุณหมอจึงหันไปถามคุณยายว่า: “คุณยายคะ เลี้ยงคุณแม่มาใช้นมขวดหรือเปล่าคะ”

คุณยายตอบ: “โธ่ คุณหมอ สมัยก่อนไม่มีหรอกค่ะนมผงน่ะ ต้องกินแต่นมแม่อย่างเดียวเท่านั้นเอง”

คุณหมอถามต่อ: “แล้วน้ำนมคุณยายพอเลี้ยงลูกหรือคะ”

คุณยาย: “อิฉันก็ใช้นมแม่เลี้ยงลูกจนโต ได้ดิบได้ดีกันทุกคนล่ะค่ะ ถึงได้บอกให้ลูกสาวเลี้ยงหลานด้วยนมแม่”

คุณหมอ: “งั้นคุณยายต้องช่วยให้กำลังใจกันหน่อยล่ะค่ะ ท่องคาถาวิเศษว่า น้ำนมพอ น้ำนมพอ ให้ฟังทุกวันเลยนะคะ อ้อ! แล้วอย่าเพิ่งให้ดูดนมขวดด้วยค่ะ”

2. ถ้าคิดว่าน้ำนมไม่พอ ความกังวลก็จะทำให้นมแห้งไปจริงๆ ต้องคิดอยู่เสมอว่าน้ำนมพอ ระยะนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ แรงสนับสนุนจากคนใกล้ชิดรอบข้าง

ทารกเริ่มตัวเหลืองเล็กน้อยเมื่อย่างเข้าวันที่ 3 แต่ยังดูดนมได้เก่งและไม่ร้องกวนเลยแม้เต้านมจะยังไม่คัด

เมื่อคุณหมอมาเยี่ยมก็ทักทายว่า
“ลูกดูดนมเก่งดีนี่คะ ดูสิทำปากน่าเอ็นดู ลูกได้น้ำนมช่วงแรกนี้ถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดเลยค่ะ”

แต่ปัญหาเดิมก็ยังทำให้คุณแม่กังวลใจอยู่
“แต่นมยังไม่คัดเลยค่ะ”

หมอ: “ภายในคืนนี้หมอว่าน้ำนมจะเริ่มมากแล้วค่ะ เพราะตั้งแต่วันแรกมา คุณแม่ก็ให้ดูดบ่อยๆ สม่ำเสมอ เป็นการส่งสัญญาณไปกระตุ้นสารที่ทำให้นมหลั่ง คราวนี้ร่างกายก็จะตอบสนองต่อสัญญาณนั้น ด้วยการเร่งผลิตน้ำนมให้มากจนเกินพอทีเดียวล่ะค่ะ”

คุณแม่มีหน้าตาแจ่มใสในวันรุ่งขึ้น เพราะน้ำนมเริ่มมากจนคัด และลูกก็ยังดูนมแม่เพียงอย่างเดียว

คุณหมอกล่าวว่า
“เห็นไหมคะว่า แท้ที่จริงไม่ใช่น้ำนมไม่พอหรอกค่ะ ที่ว่าไม่พอ เป็นความรู้สึกของคุณแม่เองต่างหาก จริงไหมคะ”

คุณแม่: “ค่ะ น้ำนมมากขึ้นแล้ววันนี้”

คุณหมออธิบายต่อว่า: “ในช่วงสองสามแรกน้ำนมจะมีปริมาณน้อยอย่างนั้นเอง แต่สำหรับเด็กแรกเกิดในวันแรกๆ จะไม่ต้องการนมมากสักเท่าไร จึงเพียงพอ”

คุณยายพูดขึ้นว่า
“พรุ่งนี้ว่าจะทำแกงเลียงมาให้กิน จะได้มีน้ำนมเยอะๆ”

คุณแม่ถามหมอว่า
“จริงหรือคะคุณหมอ กลัวจะอ้วนไม่ค่อยกล้ากินเข้าไปมาก”

คุณหมอตอบ
“ความจริงคงไม่มีอาหารอะไรที่จะทำให้นมมากเป็นพิเศษหรอกค่ะ เพียงแต่กินพวกเนื้อ นม ไข่ ผัก ผลไม้ และน้ำให้มาก จะเป็นน้ำผลไม้ น้ำซุป แกงจืด ก็ได้ ให้คุณแม่คิดว่ากินอาหารเพื่อไปสร้างน้ำนมให้ลูกดีกว่า ไม่ต้องกลัวอ้วน”

3. กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เหมือนตอนตั้งครรภ์ ไม่ลดอาหารเพื่อทำให้น้ำหนักลด การลดไขมันส่วนเกินได้ดีที่สุดคือการให้นมแม่

แม่ลูกกลับไปบ้าน ด้วยการสนับสนุนอย่างดีจากคุณยายในเรื่องให้ลูกกินนมแม่ แต่คุณแม่ก็โทรศัพท์เข้ามาหาคุณหมอในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา

คุณแม่: “เพิ่งกลับบ้านไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้วคุณหมอคงจำได้ ขอปรึกษาหน่อยค่ะ ตอนนี้ลูกยังกินนมแม่อยู่ค่ะ เพื่อนที่มาเยี่ยมเมื่อวานบอกว่า ทำไมไม่ให้ลูกหัดดูดนมขวดด้วย เดี๋ยวก็ติดนมแม่หรอก เลยโทรมาถามคุณหมอว่าควรจะทำอย่างไรดีคะ”

คุณหมอ: “คุณแม่ต้องกลับไปทำงานหรือเปล่าคะ”

คุณแม่: “ทำกิจการอยู่กับบ้านค่ะ”

หมอแนะนำ: “ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องดูดนมขวดนี่คะ เพราะอยู่บ้านตลอด”

คุณแม่: “ก็บางทีจะออกไปธุระข้างนอกบ้าง”

คุณหมอ: หมอว่าให้กินนมแม่จนครบเดือนก่อน ต่อจากนั้นมื้อไหนที่คุณไม่อยู่จะให้นมผสมก็ไม่เป็นปัญหาอะไร หรือจะบีบนมแม่ใส่ขวดไว้ให้ลูกกินก็ยังได้เลยค่ะ น้ำนมไหลดีไหมคะ”

คุณแม่: “ตอนนี้พอจนเกินพอเลยค่ะ บางครั้งนมพุ่งจนลูกดูดไม่ทัน ต้องปล่อยปากออกมาร้อง รอให้ไหลช้าลงแล้วถึงให้ดูดใหม่”
“คุณหมอคะ รู้ไหมคะ ที่คุณหมอบอกว่าวันแรกๆ น้ำนมพอ หนูก็ไม่เชื่อคุณหมอเท่าไรหรอกค่ะ แต่ตอนนี้เชื่อล่ะค่ะว่าน้ำนมแม่อย่างเดียว พอจริงๆ”

4. เมื่อเกิดกลไกน้ำนมพุ่งออกจากท่อน้ำนม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะง่ายขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้น้ำนมแม่มีมากพอกับความต้องการของทารกคือ ฮอร์โมนโปรแลกติน และกลไกน้ำนมพุ่ง

ฮอร์โมนโปรแลกติน ทำให้มีการผลิตและหลั่งน้ำนม เมื่อทารกดูดนมบ่อยๆ ก็จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของโปรแลกตินมากขึ้น แม้แต่การพยายามทดลองฉีดโปรแลกตินเพื่อให้น้ำนมมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้มากไปกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด และการที่น้ำนมหลั่งออกมาจนหมดเต้าก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้น้ำนมเกิดมากขึ้น

น้ำนม ยิ่งถ้าถูกดูดออกจากเต้ามากเท่าไร ก็จะถูกสร้างทดแทนขึ้นมามากเท่านั้น ถ้าถูกดูดออกน้อยการผลิตก็ลดลงไปเรื่อยๆ เต้านมจึงเป็นอวัยวะที่มหัศจรรย์อย่างยิ่ง คุณแม่บางคนไม่กล้าให้ลูกดูดมากเพราะกลัวน้ำนมจะหมดเต้า กลัวไม่มีให้ลูกกินในมื้อต่อไป จึงควรหมดความกังวลในเรื่องนี้ไปได้

ต้องอาศัยกลไกน้ำนมพุ่ง เพื่อให้น้ำนมหลั่งออกมาจนหมดเต้า

1/3 ของน้ำนมในเต้าที่ทารกใช้แรงดูดออกมา คือปริมาณน้ำนมในท่อเก็บนมท่อใหญ่ๆ และในกระเปาะท่อน้ำนมบริเวณลานหัวนม ส่วนอีก 2/3 จะอยู่ในเนื้อต่อมนม และท่อน้ำนมฝอย ซึ่งจะถูกขับออกมาโดยกลไกน้ำนมพุ่ง

เนื้อต่อมนมเหมือนถุงเล็กๆ ที่บรรจุนมอยู่ และมีเซลล์รูปร่างคล้ายปลาหมึกห่อหุ้มอยู่รอบๆ ถุง เซลล์เล็กๆ เหล่านี้จะหดตัวรัดถุงน้ำนมเมื่อเกิดกลไกนมพุ่ง บีบน้ำนมออกมาตามท่อที่ถูกขยายให้กว้างขึ้นจากการดึงถ่วงของเซลล์เล็กๆ นั้นเช่นกัน ขณะที่น้ำนมถูกบีบออกจากถุงก็จะมีน้ำและสารอาหารที่กลั่นจากกระแสเลือดซึมเข้ามาในถุง ผสมผสานกันเกิดเป็นน้ำนมขึ้นใหม่ทันที

เกิดกลไกน้ำนมพุ่งขึ้นได้อย่างไร
เมื่อทารกดูดนมแม่ หัวนมจะอยู่ตรงส่วนหลังของช่องปาก เมื่อทารกใช้ลิ้นและขากรรไกรกดที่ลานนม กระเปาะนมที่มีนมอยู่ก็จะไหลออกมา เมื่อลิ้นสัมผัสหัวนมจะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน ทำให้เซลล์รอบๆ ถุงนมเล็กๆ หดตัวและบีบให้นมพุ่งออกมา เมื่อเกิดกลไกน้ำนมพุ่งขึ้นแล้ว แม้ทารกตัว จะใช้แรงดูดเล็กน้อย ก็สามารถทำให้ได้น้ำนมจำนวนมากแล้ว

ความสำคัญของกลไกนมพุ่งนี้ จะทำให้ทารกได้น้ำนมถึง 2/3 ของน้ำนมทั้งหมด ในน้ำนมส่วนหลังนี้จะมีไขมันมาก เนื่องจากอนุภาคไขมันจะเคลือบเกาะติดผนังเนื้อต่อมนมและผนังท่อน้ำนม ไขมันส่วนนี้จะถูกบีบออกมาด้วยกลไกนมพุ่ง ทารกจะได้ไขมันในนมอย่างเต็มที่ก็ต้องดูดนมแม่จนเกลี้ยงเต้า ในนมแม่ไขมันจะเป็นสารที่ให้พลังงานถึง 50%ของพลังงานทั้งหมด จะทำให้ทารกอิ่มและหลับได้นาน

เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมากเกี่ยวกับกลไกน้ำนมพุ่ง สาเหตุที่จะส่งผลทำให้ฮอร์โมนออกซิโตซินไม่หลั่ง บาสเกตเซลล์(basket cell) รอบถุงนมไม่หดตัวจึงไม่เกิดกลไกน้ำนมพุ่ง คือ ความเครียด กังวลว่าน้ำนมไม่พอ เขินอายที่จะให้ลูกดูดนมแม่ ปัญหาครอบครัว เรื่องงาน เป็นต้น เมื่อเกิดปัญหาเหล่านี้ก็จะมีการผลิตน้ำนมได้น้อย ดังนั้น ทุกคนที่อยู่รอบข้างจึงมีส่วนอย่างมากในเรื่องการให้กำลังใจและความมั่นใจแก่คุณแม่

การทำให้กลไกน้ำนมพุ่งทำงานได้ดีมีวิธีใดบ้าง
ที่สำคัญประการแรกคือ ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด สนุกกับการเลี้ยงลูก เราสามารถตั้งใจกำหนดสถานการณ์เพื่อให้เกิดกลไกน้ำนมพุ่งได้ เพราะกลไกนี้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย เช่นเดียวกับการทดลองของพาฟลอฟ ที่การให้อาหารแก่สุนัขทุกครั้งจะต้องมีการสั่นกระดิ่ง ต่อมาแม้ไม่มีอาหารแต่เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งสุนัขก็น้ำลายไหล กลไกน้ำนมพุ่งก็เช่นเดียวกัน ถ้าแม่ได้สิ่งกระตุ้นซ้ำๆ กันทุกครั้งที่ให้ทารกดูดนมแม่ เช่น นั่งที่เก้าอี้ตัวเดิม เปิดฟังเพลงเดิม ดื่มน้ำก่อนให้นม หรือล้างเต้านม ถ้าได้ทำเป็นประจำกลไกน้ำนมพุ่งก็จะถูกกระตุ้นขึ้น บางคนอาจจะมีกลไกน้ำนมพุ่งเกิดขึ้นได้แม้แต่ได้กลิ่นลูก ได้ยินเสียงลูก ฟังเพลงที่ชอบ หรือแค่คิดถึงลูก

อาจจะมีน้ำนมไหลเปื้อนเสื้อผ้าบ้างในระยะแรกๆ แต่ต่อไปเมื่อเลิกให้นมแม่ในแต่ละมื้อ กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหัวนมจะหดตัว เหมือนเชือกที่รูดปิดปากถุงเมื่อควบคุมได้ดีขึ้นแล้ว

ในปลายสัปดาห์แรก เมื่อกลไกน้ำนมพุ่งทำงานเข้าที่เข้าทางดีแล้ว บางคนอาจรู้สึกเจ็บจี๊ดๆ เหมือนมีเข็มอยู่ในอก หรือบางรายอาจไม่รู้สึกอะไรเลย เมื่อเกิดกลไกน้ำนมพุ่งทำให้น้ำนมไหลเร็ว จะสังเกตเห็นว่าทารกกลืนนมเสียงดัง ทันทีที่ให้นมเสร็จคุณแม่บางคนอาจหิวน้ำขึ้นมาทันที ทั้งนี้เพราะน้ำจากกระแสเลือดไหลเวียนเข้าไปสู่เต้านมมากเพื่อผลิตน้ำนมจากกลไกน้ำนมพุ่งนี้เอง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า