สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ทริคิโนซิส(Trichinosis)

เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในเนื้อหมู หรือหนู มีชื่อว่า ทริคิเนลลาสไปราลิส (Trichinella spiralis) ตัวผู้มีขนาดยาวประมาณ 1.4-1.6 มม. และตัวเมียยาวประมาณ 3-4 มม.

โรคนี้เกิดจากการกินเนื้อหมูหรือหนูที่มีซิสต์ของพยาธิเข้าไปโดยที่ไม่ได้ทำให้สุกเสียก่อน เช่น ลาบ หรือแหนม เป็นต้น โดยมักพบเป็นพร้อมกันหลายๆ คน

วงจรชีวิตของพยาธิ พยาธิทริคิเนลลาสไปราลิส จะอาศัยอยู่ในเนื้อหมูหรือหนู เมื่อคน หมู หรือหนูกินเนื้อที่มีซิสต์ของพยาธิเข้าไปอยู่ในลำไส้ ตัวอ่อนก็จะฟักออกมาจากซิสต์แล้วเจริญเป็นตัวแก่ภายใน 2-3 วัน และภายใน 5-7 วัน พยาธิตัวผู้และตัวเมียก็จะผสมพันธุ์กัน ตัวเมียจะไปฝังตัวอยู่ในลำไส้เล็กส่วนต้นและออกลูกเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะไชเข้าหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองเข้าไปในกระแสเลือด ประมาณวันที่ 9-23 ของการกินซิสต์เข้าไปตัวอ่อนนี้จะไปขดตัวอยู่ในกล้ามเนื้อและเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อมีซิสต์หุ้มอยู่ ถ้าไม่มีการกินซิสต์นี้เข้าไปตัวอ่อนในซิสต์ก็จะตายและมีหินปูนจับ

อาการ
อาการของทริคิโนซิสสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะคือ

ระยะที่ 1 ระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ ตัวเมียของพยาธิจะฝังตัวอยู่ในลำไส้หลังจากผสมพันธุ์กันแล้ว และหลังจากที่ผู้ป่วยกินเนื้อหมู่ที่มีซิสต์ของพยาธิประมาณ 24-72 ชั่วโมง มักจะทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เกิดขึ้น

ระยะที่ 2 ระยะที่พยาธิตัวเมียออกลูก และพยาธิตัวอ่อนเข้าไปในกระแสเลือด แล้วไชเข้ากล้ามเนื้อ หลังจากผู้ป่วยกินซิสต์เข้าไปประมาณ 5-7 วัน มักจะทำให้มีอาการไข้สูงซึ่งอาจเป็นอยู่นาน 1-2 สัปดาห์ และเจ็บปวดตามกล้ามเนื้อมากจนไม่อยากขยับเขยื้อน หายใจลำบาก เคี้ยว กลืน หรือพูดลำบาก เนื่องจากเจ็บที่กล้ามเนื้อ หนังตาอาจจะบวมในวันที่ 12-14 ของโรค หรือบริเวณใต้เล็บจะมีผื่นแดงหรือมีเลือดออก หรืออาจมีอาการปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดขึ้นกับบางราย หรืออาจตายได้หลังจากเกิดโรคประมาณ 4-6 สัปดาห์ถ้าเป็นแบบรุนแรง

ระยะที่ 3 ระยะที่พยาธิตัวอ่อนมีซิสต์หุ้ม ในระยะนี้ซิสต์จะยังคงอยู่ในกล้ามเนื้อตลอดไปโดยที่พยาธิในซิสต์จะตายและมีหินปูนมาจับ ซึ่งสามารถตรวจพบโดยการเอกซเรย์ ผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้น ไข้จะลดลงและอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อก็จะค่อยๆ ทุเลาลง

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรคควรนำผู้ป่วยส่งไปตรวจที่โรงพยาบาลด่วน แพทย์มักจะทำการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัย ในผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาวสูงกว่าปกติและมีจำนวนอีโอซิโนฟิลสูงถึงร้อยละ 10-90 หรืออาจจะวินิจฉัยให้แน่ชัดด้วยการทดสอบทางน้ำเหลือง ตัดชิ้นเนื้อจากกล้ามเนื้อหรือลำไส้ไปตรวจหาตัวพยาธิ หรืออาจเจาะหลังนำน้ำไขสันหลังไปตรวจหากสงสัยว่ามีพยาธิในสมอง หากแพทย์พบว่าเป็นโรคนี้จริง จะให้การรักษาดังนี้

1. ในระยะพยาธิอยู่ในลำไส้ ให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้นอนพัก ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ให้น้ำเกลือ เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะให้ยาถ่ายพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล ครั้งละ 200-400 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 3 วัน แล้วเพิ่มเป็นครั้งละ 400-500 มก. วันละ 3 ครั้ง อีก 10 วัน หรือไทอาเบนดาโซล ขนาดครั้งละ 25 มก./กก. วันละ 2 ครั้ง นาน 3-7 วัน

2. ในระยะพยาธิอยู่ในกล้ามเนื้อ ให้เพร็ดนิโซโลน ขนาดวันละ 1 มก./กก. นาน 5 วัน ถ้ามีการอักเสบรุนแรง แล้วค่อยๆ ลดขนาดลงทีละน้อยจนหยุดยาได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ พร้อมกับให้ยาถ่ายพยาธิดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งผลการรักษาอาจจะไม่ดีเท่ากับที่พบพยาธิอยู่ในลำไส้

การป้องกัน
ไม่ควรกินเนื้อหมูที่ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ แหนม และควรควบคุมโรงฆ่าสัตว์ไม่ให้นำหมูที่เป็นโรคนี้มาทำเป็นอาหาร ก็จะสามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า