สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ต้อหิน(Glaucoma)

เป็นภาวะประสาทตาเสื่อมเกิดอาการตามัวตาบอดขึ้นจากที่ความดันภายในลูกตาสูงกว่าปกติ

ปกติภายในลูกตาจะมีการสร้างของเหลวหลายอย่าง แต่ที่สำคัญอันหนึ่งอยู่ตรงช่องว่างกระหว่างกระจกตากับแก้วตา ซึ่งเรียกว่า ช่องลูกตาหน้า ของเหลวนี้มีลักษณะใส เรียกว่า น้ำเลี้ยงลูกตา ซึ่งจะไหลเวียนจากด้านหลังของม่านตาผ่านรูม่านตาเข้าไปในช่องลูกตาหน้าแล้วระบายออกนอกลูกตาโดยผ่านมุมแคบๆ ระหว่างม่านตากับกระจกตาดำเข้าไปในตะแกรงระบายเล็กๆ ที่มีชื่อว่า ท่อชเลมส์ เข้าสู่หลอดเลือดดำที่อยู่นอกลูกตาต้อหิน

หากเกิดการติดขัดในการระบายของน้ำเลี้ยงลูกตาดังกล่าวด้วยสาเหตุใดก็ตาม จะทำให้เกิดการคั่งของน้ำเลี้ยงลูกตาทำให้ลูกตามีความดันเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นต้อหิน และอาจตาบอดได้หากปล่อยไว้จนประสาทตาถูกทำลาย

ต้อหินเป็นโรคตาที่ร้ายแรงชนิดหนึ่ง และพบเป็นได้ค่อนข้างบ่อย พบมากในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุ
ต้อหินมีหลายชนิดซึ่งมักขึ้นอยู่กับสาเหตุที่พบ ชนิดที่พบได้บ่อย คือ

1. ต้อหินชนิดเฉียบพลัน เกิดเนื่องจากโครงสร้างของลูกตาผิดแปลกไปจากคนปกติ โดยจะมีช่องลูกตาหน้าแคบและตื้น มีมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาแคบกว่าปกติ เมื่อมีสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อม่านตาหดตัว เช่น อยู่ในที่มืดหรือโรงภาพยนตร์ มีอารมณ์โกรธ ตกใจ เสียใจ ใช้ยาหยอดตาที่เข้ากลุ่มอะโทรพีน หรือใช้ยาแอนติสปาสโมดิกที่มีฤทธิ์ทำให้รูม่านตาขยาย ก็จะทำให้มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาถูกปิดกั้นเกิดการคั่งของน้ำเลี้ยงลูกตาทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นฉับพลันและเป็นผลให้เกิดต้อหินเฉียบพลันขึ้น

มักเกิดต้อหินชนิดนี้ในผู้ที่มีสายตายาว เพราะมีกระตาสั้นและช่องลูกตาหน้าแคบ ที่เกิดกับผู้สูงอายุเพราะแก้วตาจะหนาตัวขึ้นตามอายุทำให้ช่องลูกตาหน้าจะยิ่งแคบมากขึ้นกว่าเดิมอีกจึงมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น

ต้อหินชนิดนี้สามารถถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ มักพบในผู้ป่วยที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ร่วมด้วย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

2. ต้อหินชนิดเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีช่องลูกตาหน้าและมุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตากว้างเป็นปกติ แต่ท่อชเลมส์ซึ่งเป็นตะแกรงระบายน้ำเลี้ยงลูกตาเกิดการอุดกั้น ทำให้น้ำเลี้ยงลูกตาคั่งจนทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น มักจะค่อยๆ เกิดขึ้นโดยใช้เวลานานเป็นแรมเดือนแรมปีโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ จากการที่มักพบผู้ป่วยที่มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้มาก่อนด้วย และในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่มีสายตาสั้นมากๆ ก็อาจเกิดภาวะนี้ได้

3. อาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคตาอื่นๆ เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อกระจก เนื้องอกในลูกตา ปานแดงปานดำในลูกตา เลือดออกในลูกตา ตาถูกกระแทกแรงๆ เป็นต้น

4. เกิดจากการใช้ยาหยอดตาที่เข้าสตีรอยด์นานๆ เพราะยานี้จะทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น หลังจากหยอดยานาน 6-8 สัปดาห์มักจะเกิดอาการขึ้น และความดันในลูกตาจะลดลงสู่ระดับเดิมหลังหยุดยา

อาการ
ในรายที่เป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการปวดลูกตาและศีรษะข้างหนึ่งอย่างฉับพลันรุนแรงและนานเป็นวันๆ และมีอาการตาพร่ามัว มองเห็นแสงสีรุ้งและคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

บางรายอาจมีอาการนำมาก่อนเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนด้วยอาการปวดตา ตาแดง ตาพร่า เห็นแสงสีรุ้งเป็นพักๆ มักจะมีอาการตอนหัวค่ำเมื่อท้องฟ้าเริ่มมืด หรืออยู่ในที่มืด ขณะมีอารมณ์หงุดหงิดกังวล หรือโกรธ เพราะจะมีเลือดคั่งที่ม่านตา มุมระบายน้ำเลี้ยงลูกตาที่แคบอยู่แล้วยิ่งแคบลงไปอีก อาการจะบรรเทาลงได้เมื่อนอนพักหรือเป็นอยู่นาน 1-2 ชั่วโมง

ผู้ป่วยมักจะมีอาการเพียงข้างเดียว แต่ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินชนิดเฉียบพลันได้เช่นกันกับตาอีกข้างหนึ่ง

ในรายที่เป็นต้อหินชนิดเรื้อรัง ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่รู้สึกมีอาการผิดปกติแต่อย่างใด จะมีอาการตามัวลงทีละน้อยๆ นานเป็นแรมปี หรืออาจมีอาการมึนศีรษะเล็กน้อยในบางราย หรืออาจรู้สึกปวดเมื่อยตาเล็กน้อยหรือตาล้า ตาเพลีย ตาพร่าเร็วกว่าธรรมดาเมื่ออ่านหนังสือ มักจะตรวจพบโรคโดยบังเอิญจากการตรวจรักษาด้วยโรคอื่นเป็นส่วนใหญ่

ในระยะต่อมาผู้ป่วยจะมองไม่เห็นด้านข้าง ขับรถลำบากเพราะมองไม่เห็นรถที่อยู่ข้างซ้ายและขวา หรือรถที่แซง รถสวน หรือเวลาเดินอยู่ในบ้านอาจชนถูกขอบโต๊ะ ขอบเตียงเนื่องจากลานสายตาแคบลงกว่าเดิมมาก

บางรายตาจะมัวลงเรื่อยๆ อาจต้องเปลี่ยนแว่นบ่อยๆ แต่ก็ยังไม่รู้สึกดีขึ้นจากอาการตามัว

ในระยะสุดท้ายประสาทตามักจะเสียจนแก้ไขไม่ได้ ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวอย่างมากและอาจมีอาการปวดตาร่วมด้วย และผู้ป่วยมักจะมีอาการที่ตาทั้งสองข้างพร้อมกันในต้อหินชนิดนี้

สิ่งตรวจพบ
ในรายที่เป็นต้อหินชนิดเฉียบพลัน บริเวณรอบๆ ตาดำจะมีอาการตาแดงเรื่อๆ มากกว่าบริเวณที่อยู่ห่างออกไป กระจกตาขุ่นมัวไม่ใสเป็นปกติ ข้างที่ปวดรูม่านตาจะโตกว่าปกติ ไม่หดลงเมื่อใช้ไปส่อง เมื่อใช้นิ้วกดบนเปลือกตาข้างที่ปวดจะแข็งมากกว่าข้างที่ปกติ

ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจตรวจไม่พบความผิดปกติได้ชัดเจนจากการสังเกตภายนอก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้ตาบอดได้จากภาวะความดันสูงภายในลูกตาแล้วทำลายประสาทตาจนเสื่อม

การรักษา
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีความดันลูกตาสูงกว่าปกติ จึงควรส่งโรงพยาบาลด่วนเพื่อทำการตรวจตา และวัดความดันลูกตา ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 15-20 มม.ปรอท

แพทย์อาจให้กินยา อะเซตาโซลาไมด์ ชื่อการค้าคือ ไดอะม็อกซ์ ผู้ใหญ่ใช้ขนาด 1 กรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง หรือใช้ยาหยอดตาที่มีตัวยาปิดกั้นบีตา เช่น ไทโมลอล วันละ 2 ครั้ง เพื่อลดการสร้างน้ำเลี้ยงลูกตาทำให้ความดันลูกตาลดลง และจะให้ยาหยอดตาไพโลคาร์พีน ชนิด 4% ทุก 15-20 นาที เพื่อทำให้รูม่านตาหดตัว และอาจให้ห่างออกไปเมื่ออาการดีขึ้น

ความดันลูกตาจะเป็นปกติภายในไม่กี่ชั่วโมงเมื่อให้การรักษาดังกล่าว และจะทำการผ่าตัดเพื่อเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงตาในอีก 1-2 วันต่อมา

มีโอกาสหายขาดได้ถ้าการผ่าตัดสามารถทำภายใน 12-48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ แต่ประสาทตาจะเสียและตาบอดได้ภายใน 2-5 วันหลังจากมีอาการถ้าไม่ได้รับการรักษา

ตาข้างที่ปกติแพทย์ก็จะพิจารณาทำการผ่าตัดเปิดทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตาให้ด้วย เพราะอาจมีโอกาสกลายเป็นต้อหินเฉียบพลันในภายหลังได้ถ้าปล่อยไว้

การผ่าตัดแบบใหม่ในปัจจุบัน มักจะลดความดันลูกตาได้ดี ไม่ทำให้เจ็บปวด เกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย คือ การใช้แสงเลเซอร์

ในรายที่เป็นเรื้อรัง ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจวัดความดันลูกตาหากสงสัยหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นต้อหินเรื้อรัง มีอาการตามัวลงเรื่อยๆ จนต้องเปลี่ยนแว่นบ่อย ถ้าพบเป็นต้อหินเรื้อรังเพื่อลดความดันในลูกตาแพทย์จะให้ยาหยอดตาไพโลคาร์พีน และให้กินไดอาม็อกซ์ ½ -1 เม็ด วันละ 4 ครั้ง อาจต้องกินยาและตรวจวัดความดันลูกตาไปเรื่อยๆ ถ้าวิธีนี้ใช้ได้ผล แต่มักต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้แสงเลเซอร์ถ้าใช้วิธีอื่นแล้วยังไม่ได้ผล

ข้อแนะนำ
1. ต้อหินแม้จะเป็นโรคที่ร้ายแรงแต่ก็มีทางรักษาให้หายขาดได้ถ้าได้รับการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ จึงควรปรึกษาจักษุแพทย์โดยเร็วถ้าพบผู้ที่มีอาการปวดตา ตามัว หรือสงสัยว่าจะเป็นต้อหิน

2. ควรตรวจวัดความดันลูกตาเป็นประจำทุกปีในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้มาก่อน

3. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้รูม่านตาขยายตัว เช่น อะโทรพีน และกลุ่มยาแอนติสปาสโมดิก ในผู้ป่วยที่เป็นต้อหิน

4. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดตาที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการต้อหิน โดยเฉพาะถ้ามีความดันลูกตาสูงอยู่ก่อนแล้ว เช่น ยาหยอดตาที่เข้าอะโทรพีน หรือยาที่ทำให้รูม่านตาขยายตัว เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า