สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ต่อมไทรอยด์อักเสบ(Thyroiditis)

เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อไทรอยด์เกิดการอักเสบ ซึ่งมีอาการและสาเหตุที่แตกต่างกันไป ที่พบได้บ่อย คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง และต่อมไทรอยด์อักเสบต่อมไทรอยด์ดักเสบจากไวรัส

สาเหตุ
1. ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง (chronic autoimmune thyroiditis/Hashimoto’s thyroiditis) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง ร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้มากในหญิงวัยกลางคนและสูงอายุ หรือมีประวัติทางกรรมพันธุ์ และความผิดปกติของสารพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการดาวน์ กลุ่มอาการเทอร์เนอร์ อาจพบในหญิงหลังคลอดภายใน 1-6 เดือน เรียกว่า ต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอด

อาจพบโรคนี้ร่วมกับภาวะภูมิต้านตนเองอื่นๆ เช่น เบาหวาน โรคแอดดิสัน เอสแอลอี โรคปวดข้อรูมาตอยด์ ภาวะขาดพาราไทรอยด์ ไมแอสทีเนียเกรวิส ผมร่วมเป็นหย่อมโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น

และยังพบว่าอาจเกิดจากการกระตุ้นของยาบางชนิดทำให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบตามมา เช่น การใช้ยาอะมิโอดาโรน อินเตอร์เฟอรอน เป็นต้น

2. ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส หลังจากเป็นโรคติดเชื้อไวรัส เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น คางทูม หัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น มักจะเกิดอาการขึ้นอย่างฉับพลัน เป็นอยู่นาน 2-3 เดือน แล้วหายไปเอง เรียกว่า ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน พบบ่อยในช่วงอายุ 20-40 ปี พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

3. สาเหตุอื่นๆ ที่พบได้น้อย คือ
-ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน (acute suppurative thyroiditis) มักพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์มาแต่กำเนิด และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สแตฟีโลค็อกคัส สเตรปโตค็อกคัส เป็นต้น

-ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล (Riedel’s thyroiditis/invasive thyroiditis) มักพบว่าที่ต่อมไทรอยด์และอวัยวะอื่นๆ มีภาวะเกิดพังผืดโดยไม่ทราบสาเหตุ พบมากในหญิงวัยกลางคนและสูงอายุ

อาการ
ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง จะมีอาการต่อมไทรอยด์โตแบบกระจาย ลักษณะแข็งแบบหยุ่นๆ โดยไม่มีอาการเจ็บ อาจเป็นเพียงข้างเดียว และมักมีภาวะขาดไทรอยด์ร่วมด้วย

อาจมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินนำมาก่อนในช่วงแรก แล้วจึงมีภาวะขาดไทรอยด์ตามมาในบางราย

มักมีอาการคอพอกร่วมกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินในรายที่เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบหลังคลอดประมาณ 1-6 เดือน อาจเป็นอยู่นาน 1-2 เดือน แล้วจึงเกิดภาวะขาดไทรอยด์ตามมาในช่วง 4-8 เดือนหลังคลอด มักจะหายเป็นปกติได้เองเป็นส่วนใหญ่ แต่การคลอดบุตรครั้งต่อไปอาจมีโอกาสกำเริบซ้ำได้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะกลายเป็นภาวะขาดไทรอยด์อย่างถาวรในที่สุด

ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คอโต เจ็บคออาจร้าวไปที่หู ขากรรไกร ท้ายทอย มักเจ็บมากขึ้นเมื่อแหงนคอไปข้างหลัง และเมื่อก้มคอลงอาการจะทุเลา อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน อาจมีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินร่วมด้วยในระยะแรก และจะเกิดภาวะขาดไทรอยด์ในระยะต่อมา ส่วนใหญ่มักหายเป็นปกติได้เอง อาการกลับเป็นซ้ำหรือกลายเป็นภาวะขาดไทรอยด์อย่างถาวรพบได้เป็นส่วนน้อย ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นโรคติดเชื้อไวรัสนำมาก่อน

ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักมีอาการไข้สูงฉับพลัน ร่วมกับอาการเจ็บคอ คอโต เสียงแหบ กลืนลำบาก

ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล ผู้ป่วยมักมีอาการคอโตเป็นก้อนแข็ง โตเร็วแต่ไม่เจ็บ อาจโตเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ มีอาการเสียงแหบ กลืนลำบาก หายใจลำบาก มีภาวะขาดไทรอยด์ร่วมด้วย ในรายที่อาจมีภาวะขาดพาราไทรอยด์เนื่องจากมีภาวะพังผืดของต่อมพาราไทรอยด์มักพบได้เป็นส่วนน้อย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบผู้ป่วยมีอาการคอพอกหรือต่อมไทรอยด์โต
มักมีไข้ต่ำ ต่อมไทรอยด์โตและกดเจ็บในรายที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส

มักมีไข้สูง ต่อมไทรอยด์โต กดเจ็บ มีลักษณะแดง อาจเป็นเพียงข้างเดียวและกลายเป็นฝีในเวลาต่อมา ต่อมน้ำเหลืองข้างคอมักจะโต ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

มักตรวจพบต่อมไทรอยด์โตแบบกระจายลักษณะแข็งแบบหยุ่นๆ ในรายที่เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง

มักตรวจพบต่อมไทรอยด์โตเป็นก้อนแข็ง และยึดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรอบในรายที่เป็นต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล

และยังอาจตรวจพบอาการน้ำหนักลด ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น เหงื่อออกจากภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หรืออาการน้ำหนักขึ้น หน้าและหนังตาบวมฉุ ชีพจรเต้นช้า ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น ผมบางและหยาบ จากภาวะขาดไทรอยด์ เป็นต้น

การรักษา
ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากมีความสงสัยว่าจะเกิดโรค แพทย์มักวินิจฉัยด้วยการตรวจเลือดทดสอบการทำงานของไทรอยด์ ตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ สแกนต่อมไทรอยด์ อัลตราซาวสด์ต่อมไทรอยด์ หรืออาจต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อแยกโรคมะเร็งไทรอยด์ในบางราย

ควรให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ดังนี้
-ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน กินวันละ 1-2 เม็ด ในรายที่มีภาวะขาดไทรอยด์ และมักจะนัดมาตรวจเลือดเป็นระยะๆ ซึ่งอาจจะพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์ตามมาในรายที่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปกติ

-ต่อมไทรอยด์อักเสบจากไวรัส เพื่อบรรเทาอาการอักเสบอาจให้แอสไพริน ครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 4 ครั้ง หรือยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ แพทย์อาจให้เพร็ดนิโซโลน นาน 1 สัปดาห์ แล้วค่อยลดขนาดยาลงทีละน้อยจนหยุดยาได้ภายใน 6-8 สัปดาห์ในรายที่เป็นแบบรุนแรง

แพทย์จะให้ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพราโนลอล 10-40 มก. ทุก 6 ชั่วโมงในผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน และแพทย์มักจะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น เอลทร็อกซิน ทดแทนในรายที่มีภาวะขาดไทรอยด์ ซึ่งมักเป็นเพียงชั่วคราว

-ต่อมไทรอยด์อักเสบจากการติดเชื้อเฉียบพลัน แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ และอาจต้องทำการผ่าตัดระบายหนองในรายที่กลายเป็นฝี

-ต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล เพื่อแยกออกจากโรคมะเร็งไทรอยด์แพทย์มักจะต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อ หากพบว่าเป็นต่อมไทรอยด์อักเสบแบบรีเดล แพทย์มักจะให้ยาทาม็อกซิเฟนเพื่อช่วยให้ก้อนไทรอยด์ยุบลงภายใน 3-6 เดือน ผู้ป่วยจะต้องกินยานี้นานเป็นปี มักจะให้เพร็ดนิโซโลนร่วมด้วยในช่วงระยะสั้นๆ ในรายที่ก้อนโตจนกดอวัยวะข้างเคียงหรือมีอาการปวด และอาจรักษาด้วยการผ่าตัดในรายที่ก้อนโตกดท่อลม หรือให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทนในรายที่มีภาวะขาดไทรอยด์

ข้อแนะนำ
1. มักเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเองในรายที่มีต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรัง มักมีอาการคอพอกโดยที่ไม่มีไข้หรือเจ็บคอ อาจเข้าใจว่าเป็นคอพอกธรรมดาได้ถ้าไม่มีอาการแสดงของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือภาวะขาดไทยรอยด์ ดังนั้นจึงควรตรวจหาสาเหตุและให้การรักษาตามสาเหตุถ้าพบผู้ป่วยมีอาการคอพอกเกิดขึ้น

2. มักเกิดจากไวรัสจากอาการคอพอกที่มีอาการเจ็บปวดที่คอพอกและมีไข้ร่วมด้วย ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินหรือภาวะขาดไทรอยด์มักเป็นอยู่เพียงชั่วคราว และหายได้เองในที่สุด

3. ควรส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อแยกออกจากมะเร็งไทรอยด์ในรายที่ต่อมไทรอยด์อักเสบและมีลักษณะคอโตเป็นก้อนแข็งหรือโตเร็ว

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า