สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ต่อมลูกหมากโต(Benign prostatic hyperplasia/BPH)

ต่อมลูกหมากในผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นก้อนโตขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ จนเกิดแรงกดต่อท่อปัสสาวะทำให้ถ่ายปัสสาวะลำบาก เมื่ออายุ 55 ปีขึ้นไปจะเริ่มมีอาการแสดงเกิดขึ้น อาการผิดปกติก็จะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ หรือผู้ป่วยอาจมีต่อมลูกหมากโตโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้ในบางคน

สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงสาเหตุของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าสิ่งที่กระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชาย ที่ชื่อว่า ไดไฮโดรเทสโทสเทอโรน(dihydrotestosterone)

อาการ
ผู้ป่วยต้องออกแรงเบ่งหรือรอนานกว่าปัสสาวะจะออกมาได้ เนื่องจากมีอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่ง ลำปัสสาวะเบี้ยวหรือเล็กลง รู้สึกเหมือนถ่ายปัสสาวะไม่สุด ใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนานและถ่ายบ่อย ในเวลา 1-2 ชั่วโมงอาจรู้สึกปวดปัสสาวะอีก ปัสสาวะออกแบบกะปริดกะปรอย หรือถ่ายๆ หยุดๆ หลายครั้ง และในช่วงท้ายของการถ่ายจะปัสสาวะออกเป็นหยดๆ ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน

อาการจะเป็นมากขึ้น และดีขึ้นอย่างช้าๆ อาจใช้เวลานานเป็นแรมปี จนต่อมลูกหมากโตขึ้นมากไปกดท่อปัสสาวะอย่างรุนแรงจนถ่ายปัสสาวะไม่ออก มีอาการปวดปัสสาวะ ปวดตึงท้องน้อย คลำได้ก้อนที่มีปัสสาวะคั่งเต็มในกระเพาะปัสสาวะ แต่หลังจากใช้ยาที่มีฤทธิ์แอนติโคเนอร์จิก เช่น แอนติสปาสโมดิก ยาแก้แพ้ ยาทางจิตประสาท เป็นต้น และยากลุ่มกระตุ้นประสาทซิมพาเทติก เช่น อะดรีนาลิน สูโดเอฟีดรีน เป็นต้น ก็อาจเกิดอาการปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลันได้ในบางครั้ง หรืออาจเกิดขึ้นเมื่อนอนอยู่นานๆ โดยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หลังจากดื่มแอลกอฮอล์หรือวางยาสลบ ก็ได้

การเบ่งถ่ายนานๆ อาจทำให้หลอดเลือดดำที่ท่อปัสสาวะคั่งแล้วแตกมีเลือดออกจนทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นเลือดในบางราย

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบต่อมลูกหมากโตกว่าปกติเมื่อใช้นิ้วมือตรวจคลำทางทวารหนัก หรืออาจคลำได้ก้อนของกระเพาะปัสสาวะที่มีปัสสาวะคั่งเต็มในรายที่มีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก

ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ เนื่องจากเกิดการติดเชื้อง่าย หรืออาจเกิดภาวะไตวายได้

กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอาจเกิดการอ่อนล้า ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง หรือเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้

อาจทำให้ท่อไตและไตบวมได้ ในรายที่มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะนาน

การรักษา
ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค แพทย์มักจะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยโรค เช่น การถ่ายภาพรังสีทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าหลอดเลือดดำ อัลตราซาวนด์ ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ และอาจดูการติดเชื้อหรือเลือดออกด้วยการตรวจปัสสาวะ ดูภาวะไตวายด้วยการตรวจระดับครีอะตินีนในเลือด หรือตรวจสารพีเอสเอในเลือด

แพทย์มักจะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น
1. ให้เฝ้าติดตามดูอาการเป็นระยะโดยไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ในรายที่มีอาการเพียงเล็กน้อยและเป็นในระยะเริ่มแรก

2. แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบากมากขึ้น มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือเป็นมาก แต่อยู่ระหว่างรอผ่าตัดหรือมีข้อห้ามในการผ่าตัด ยาที่ใช้ เช่น

-ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา เช่น พราโซซิน 2 มก. วันละ 2 ครั้ง เทราโซซิน 2-10 มก วันละครั้งก่อนนอน หรือดอกซาโซซิน 4-8 มก.วันละครั้งก่อนนอน จะทำให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะได้คล่องขึ้นเนื่องจากยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมากและกล้ามเนื้อหูรูดที่คอกระเพาะปัสสาวะ และยังเหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูงด้วยเนื่องจากมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้

-ยากลุ่มยับยั้งเอนไซม์แอลฟารีดักเทส เช่น ไฟนาสเตอไรด์ 5 มก. วันละครั้ง ต้องใช้อย่างน้อย 3 เดือน จึงจะเห็นผล ซึ่งจะทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงได้เพราะยานี้มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เทสโทสเทอโรนเปลี่ยนเป็นไฮโดรเทสโทสเทอโรนที่กระตุ้นให้ต่อมลูกหมากโต และยังเหมาะกับผู้ป่วยที่มีผมบางหรือศีรษะล้านเนื่องจากยานี้มีฤทธิ์ทำให้ผมดกขึ้น

3. แพทย์มักจะทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดซึ่งมีอยู่หลายวิธี แต่ปัจจุบันนิยมใช้วิธีผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะในรายที่ใช้ยารักษาแล้วไม่ได้ผล หรือมีอาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเป็นเลือดบ่อยๆ เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะบ่อย มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ผนังกระเพาะปัสสาวะหย่อนยานหรือเป็นถุงโป่งพอง แต่ก็อาจต้องทำการผ่าตัดโดยการเปิดเข้าหน้าท้องในรายที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มาก แต่ผลเสียของวิธีนี้อาจทำให้เกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ และภาวะแทรกซ้อนของการหย่อนสมรรถภาพทางเพศหลังทำการผ่าตัด

ผู้ป่วยบางรายอาจเลือกรักษาด้วยวิธีอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยและง่ายกว่าการผ่าตัด เช่น

-การใส่ท่อเพื่อขยายท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ป่วยที่ปฏิเสธการผ่าตัดหรือผ่าตัดไม่ได้

-การใช้แสงเลเซอร์ หรือไฟฟ้าจี้ต่อมลูกหมาก

-การทำให้เกิดความร้อนบริเวณต่อมลูกหมากจนเนื้อเยื่อตายจนต่อมลูกหมากฝ่อลงทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้นด้วยการใช้คลื่นไมโครเวฟ หรือคลื่นอัลตราซาวนด์ หรือคลื่นวิทยุเพื่อทำให้เกิดความร้อนขึ้น อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหากใช้วิธีนี้ไม่ได้ผล

4. ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะก็ให้รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือในรายที่ปัสสาวะไม่ออกก็ให้ใส่สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. ไม่ควรใช้ยาที่ออกฤทธิ์แอนติโคลิเนอร์จิก ยากระตุ้นประสาทซิมพาเทติก เพราะอาจทำให้ปัสสาวะไม่ออก

2. โรคนี้ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายร้ายแรงได้ ซึ่งโดยทั่วไปโรคนี้จะเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัด

3. ในผู้ชายสูงอายุอาจมีสาเหตุจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะก็เป็นได้ในอาการถ่ายปัสสาวะลำบาก ดังนั้นผู้ชายสูงอายุทุกรายที่มีอาการถ่ายปัสสาวะลำบากจึงควรไปตรวจวินิจฉัยโรคให้แน่ชัดที่โรงพยาบาล เพราะอาจแยกอาการจากต่อมลูกหมากโตไม่ออกในบางครั้ง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า