สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ต่อมลูกหมากอักเสบ(Prostatitis)

ต่อมลูกหมากอักเสบแบ่งได้ 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง พบได้ในผู้ชายทุกวัย และพบได้บ่อยในช่วงอายุ 36-50 ปี

สาเหตุ
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ เช่น อีโคไล สูโดโมแนส โพรเทียส เป็นต้น ต่อมลูกหมากจะเกิดการอักเสบจากการที่เชื้อผ่านทางท่อปัสสาวะเข้าไป หรืออาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ รวมทั้งหนองใน หรือหนองในเทียมด้วย

ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง มี 2 ชนิด คือ
-ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนของต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน จากการสวนปัสสาวะ จากการติดเชื้อบริเวณอื่นแล้วแพร่กระจายเข้ามา หรือจากการที่ทางปัสสาวะได้รับบาดเจ็บ

-ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย มักตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรียแต่มีการอักเสบของต่อมลูกหมากเกิดขึ้น และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดในปัจจุบัน เป็นภาวะที่พบได้บ่อย แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากกรณีต่างๆ ดังนี้

.อาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย ที่ไม่สามารถตรวจพบด้วยวิธีการเพาะเชื้อตามห้องปฏิบัติการทั่วไป

.เกิดจากแรงดันให้ปัสสาวะไหลย้อนเข้าไปในต่อมลูกหมาก เช่น มีภาวะอุดกั้นจากต่อมลูกหมากโต นิ่วต่อมลูกหมาก ท่อปัสสาวะตีบ การยกของหนักขณะปวดปัสสาวะ การถ่ายปัสสาวะมีความผิดปกติ เป็นต้น เกิดสารเคมีขึ้นในปัสสาวะจนทำให้ต่อมลูกหมากเกิดการระคายเคืองและอักเสบ

.ต่อมลูกหมากอักเสบจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง

.ต่อมลูกหมากอักเสบจากการแพ้อาหาร หรือแพ้ยา

.กรดยูริกในปัสสาวะเข้าไประคายเคืองต่อต่อมลูกหมากจนเกิดการอักเสบจากภาวะกรดยูริกสูง

อาการ
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อคล้ายไข้หวัด ปวดก้นกบ หัวหน่าว ฝีเย็บ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายปัสสาวะจะรู้สึกแสบร้อน ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ รู้สึกว่าถ่ายปัสสาวะได้ไม่สุด ขณะหลั่งน้ำกามอาจมีอาการเจ็บปวด หรือมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะในบางครั้ง

ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง มีอาการคล้ายกันทั้งในชนิดติดเชื้อและไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย คือ มักมีอาการเรื้อรังเป็นๆ หายๆ ปวดก้นกบ หัวหน่าว อวัยวะเพศ ฝีเย็บ ขณะหลั่งน้ำกามจะรู้สึกเจ็บปวด ปัสสาวะขัด กะปริดกะปรอย ปัสสาวะบ่อย เมื่อถ่ายปัสสาวะจะรู้สึกแสบร้อน ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ ต้องเบ่งเมื่อถ่ายปัสสาวะ และใช้เวลาในการถ่ายปัสสาวะนาน ปัสสาวะไม่พุ่ง รู้สึกคล้ายกับถ่ายปัสสาวะไม่สุด อาจถ่ายปัสสาวะมีเลือดปนออกมาในบางครั้ง

อาจมีไข้ต่ำๆ และมีโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะกำเริบซ้ำได้บ่อยในรายที่เป็นชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย แต่จะไม่มีไข้ และไม่มีประวัติโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะในรายที่เป็นชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย

สิ่งตรวจพบ
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน พบผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส ปัสสาวะมีสีขุ่น อาจพบว่ามีเลือดปนมากับปัสสาวะในบางราย

มักพบว่าบริเวณต่อมลูกหมากจะออกร้อนและเจ็บปวดมากเมื่อใส่ถุงมือใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักแล้วคลำถูก

ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง มักตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติได้ชัดเจน หรืออาจพบว่ามีไข้ต่ำๆ ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

ภาวะแทรกซ้อน
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน อาจเกิดฝีต่อมลูกหมาก ภาวะโลหิตเป็นพิษได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และเนื่องจากภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะอาจทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออกได้ และอาจกลายเป็นต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ และเนื่องจากท่อปัสสาวะมีแผลเป็นและตีบขัดขวางการเคลื่อนตัวของอสุจิอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้

ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง จะมีช่วงที่มีอาการกับช่วงที่ไม่มีอาการสลับกันไปนานแรมปีหรือตลอดชีวิต จนทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวลมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต แต่มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงแต่อย่างใด

การรักษา
ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง แพทย์มักจะวินิจฉัยด้วยการตรวจปัสสาวะและพบจำนวนเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติและอาจพบเม็ดเลือดแดงร่วมด้วย อาจตรวจเลือดแล้วพบว่ามีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ และมักพบเชื้อที่เป็นสาเหตุเมื่อนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่ก่อโรคนอกจากยาบรรเทาตามอาการแล้ว ยาปฏิชีวนะที่ใช้ เช่น โคไตรม็อกซาโซล โอฟล็อกซาซิน ไซโพรฟล็อกซาซิน

อาจต้องฉีดยาปฏิชีวนะ เช่น โคไตรม็อกซาโซล แอมพิซิลลิน เจนตาไมซิน เป็นต้น ในรายที่เป็นรุนแรง แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นชนิดกินหลังจากไข้ลดลงแล้ว

เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังควรให้ยาปฏิชีวนะนานประมาณ 30 วัน

ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง
ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าจะเกิดโรค เมื่อแพทย์กรวดน้ำเมือกจากต่อมลูกหมากมักพบว่ามีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ และมักตรวจพบเชื้อจากการนำน้ำเมือกจากต่อมลูกหมากหรือปัสสาวะไปเพาะเลี้ยงถ้าเป็นชนิดติดเชื้อแบคทีเรีย

ให้การรักษาตามอาการ เช่น นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัดๆ วันละ 2-3 ครั้ง ให้ยาแก้ปวด ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวด หรือแพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มปิดกั้นแอลฟา เช่น พราโซซิน ดอกซาโซซิน หรือไฟนาสเตอไรด์ ในรายที่มีอาการปัสสาวะลำบาก หรือแพทย์อาจจะให้ยาปฏิชีวนะชนิดกินแบบเดียวกับต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลัน เช่น โคไตรม็อกซาโซล นาน 3 เดือน โอฟล็อกซาซิน หรือไซโพรฟล็อกซาซิน นาน 1 เดือน ถ้าตรวจพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย หลังการรักษาควรติดตามดูอาการเป็นระยะ หากมีการติดเชื้อกำเริบขึ้นใหม่ก็ให้ยาปฏิชีวนะกินซ้ำเนื่องจากโรคนี้อาจกำเริบได้อีก

แพทย์มักจะให้การรักษาเพื่อบรรเทาอาการในรายที่ตรวจไม่พบเชื้อแบคทีเรีย หรืออาจพิจารณาลองให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโทรไมซิน ดอกซีไซคลีน นาน 2 สัปดาห์ ในผู้ป่วยรายที่สงสัยว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หากได้ผลควรให้ต่ออีกประมาณ 3-6 สัปดาห์

ข้อแนะนำ
1. ต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลันมักมีอาการคล้ายกับกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน คือ มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่น แต่ในต่อมลูกหมากอักเสบจะไม่มีอาการเคาะเจ็บตรงสีข้าง และมีอาการขัดเบาคล้ายกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ในกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะไม่มีไข้สูงหนาวสั่น

ควรนึกถึงต่อมลูกหมากอักเสบเฉียบพลันมากกว่ากรวยไตอักเสบเฉียบพลันถ้าพบผู้ชายมีอาการไข้สูงร่วมกับขัดเบา โดยไม่มีอาการเคาะเจ็บตรงสีข้าง

ทั้งสองโรคนี้ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังเพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ หากไม่แน่ใจหรือสงสัยควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว แม้จะหายเป็นปกติแล้วเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้กลายเป็นต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังหรือกรวยไตอักเสบเรื้อรังก็ควรตรวจปัสสาวะ ตรวจน้ำเมือกจากต่อมลูกหมากเป็นระยะทุก 3-6 เดือน

2. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกโต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีอาการปัสสาวะลำบากคล้ายกับภาวะต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรัง แต่จะต่างกันตรงที่ต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังมักมีอาการปวดบริเวณก้นกบ หัวหน่าว อวัยวะเพศ ฝีเย็บ ขณะหลั่งน้ำกามจะรู้สึกเจ็บปวด มีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง และมักพบในผู้ชายอายุน้อยกว่า 50 ปี อย่างไรก็ตามควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงหากพบผู้ชายมีอาการปัสสาวะลำบาก

3. หากตรวจไม่พบร่องรอยของการติดเชื้อและการอักเสบของต่อมลูกหมากในผู้ชายที่มีอาการแบบต่อมลูกหมากอักเสบเรื้อรังชนิดไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย อาจเป็นภาวะที่เรียกว่า ต่อมลูกหมากอักเสบเทียม ก็ได้ โรคนี้มักมีอาการเป็นๆ หายๆ เรื้อรังหรือตลอดชีวิต และยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกี่ยวกับการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเชิงกราน อันเกิดจากภาวะเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ และการหลั่งน้ำกาม โรคนี้มักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อยหรือเริ่มเข้าวัยหนุ่ม หลังจากนั่งนานๆ สวมใส่กางเกงที่คับ หรือรัดเข็มขัดแน่นเกินไปมักจะทำให้เกิดอาการกำเริบขึ้นได้ ในโรคนี้แพทย์มักให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยาคลายกล้ามเนื้อเชิงกราน นั่งแช่น้ำอุ่นจัดๆ บริหารกล้ามเนื้อเชิงกราน และอาจให้ยาทางจิตประสาทและฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ ในรายที่มีความเครียด วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า

4. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น การดื่มกาแฟหรือแอลกอฮอล์ อาหารบางชนิด การยกของหนักขณะปวดปัสสาวะ หรือการขี่จักรยานหรือขี่ม้า เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า