สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตัวยาสำคัญที่ใช้ถ่ายพยาธิ

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันตัวยาสำคัญหลายชนิดที่มีฤทธิ์ขับพยาธิ ได้แก่ ลูกมะเกลือสด เปลือกมะหาด ปวกหาด ลูกเล็บมือนาง เมล็ดสะแก

ผลมะเกลือ(Diospyros mollis)
มีสารสำคัญที่เป็นไกลโคไซด์ คือ ไดออสไพรอล ไดกลูโคไซด์(diospyrol diglucoside) ที่จะไม่ดูดซึมในทางเดินอาหาร แต่ไปออกฤทธิ์กับพยาธในลำไส้ พยาธิหลายชนิดสามารถถ่ายออกได้ด้วยมะเกลือ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย และพยาธิตัวตืด การใช้มะเกลืออย่างผิววิธีอาจทำให้ตาบอดได้ เช่น ใช้ในขนาดที่สูงเกินไป นำไปต้ม หรือผสมกับน้ำปูนใส เพราะวิธีการเหล่านี้อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีขึ้น และเกิดเป็นสารไดออสไพรอล(diospyrol) ขึ้นมา แล้วกลายเป็นสารพวกแนพธาลีน(naphthalene) ที่กระเพาะสามารถดูดซึมได้ดี และอาจเปลี่ยนเป็นสารพวก ฟีนอลิค(phenolic) อื่นๆ ได้อีกหลายชนิด ที่มีผลต่อประสาทตาทำให้ตาบอด ดังนั้น ควรใช้มะเกลือตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดในการถ่ายพยาธิ สตรีมีครรภ์ เพิ่งคลอดบุตร หรือกำลังให้นมบุตร และเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไม่ควรใช้ ผลที่นำมาใช้ควรเป็นผลสดสีเขียว ไม่ใช้ผลที่สุก มีรอยช้ำ หรือเป็นสีดำ จำนวนผลที่ใช้จะเท่ากับอายุผู้ป่วย แต่ไม่เกิน 25 ผล ให้นำมาตำพอแหลกแล้วคั้นเอาน้ำผสมกับหัวกะทินำมาดื่ม ไม่ควรนำไปปั่นหรือผสมกับน้ำปูนใส เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีเกิดเป็นสารฟีนอลลิคขึ้นมา ทำให้การดูดซึมเพิ่มมากขึ้น ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันทีหากใช้มะเกลือถ่ายพยาธิแล้วมีอาการตาพร่ามัว

มะหาด(Artocarpus lakoocha) และปวกหาด
มีสารเตตราไฮดร๊อกซีสติลบีน เป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ขับพยาธิตัวแบน พวกตืดหมู ตืดวัวได้ผลดี ส่วนหัวของพยาธิที่เกาะกับลำไส้สามารถทำให้ขับออกมาได้

วิธีเตรียมปวดหาด โดยนำปวกหาดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เคี่ยวกับน้ำจนเกิดฟอง ตักฟองขึ้นมาทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผง ถ้าต้องการถ่ายพยาธิตัวตืด ให้ใช้ผงปวดหาด 1-2 ช้อนชา ชงกับน้ำเย็นกินก่อนอาหาร แล้วให้กินดีเกลือตามหลังจากที่กินผงปวกหาดไปแล้ว 2 ชั่วโมง ในเด็กให้ใช้ในปริมาณครึ่งเดียว การใช้ปวกหาดอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจทำให้เกิดการอาเจียนที่รุนแรงหากรับประทานปวกหาดกับน้ำร้อน เพราะทำให้ทางเดินอาหารเกิดการระคายเคืองมากขึ้น

เล็บมือนาง(Quisqualis indica)
มีกรดควิสควอลิค(quisqualic acid) และ โพแทสเซียม ควิสควอเลท(potassium quisqualate) ซึ่งเป็นสารสำคัญในผลของเล็บมือนาง ออกฤทธิ์ต่อพยาธิไส้เดือนในหมูที่ติดต่อถึงคนได้ และพยาธิเข็มหมุด ตัวยาสมุนไพรนี้ตามตำรายาจีนเรียกว่า ฉื่อจุนจื้อ(Shi Jun Zi) ใช้รับประทานร่วมกับน้ำว่านหางจระเข้ และให้รับประทานดีเกลือตามไปด้วยหลังจากที่กินลูกเล็บมือนางเข้าไปแล้ว 3 ชั่วโมง ในเด็กจะใช้สมุนไพรตัวนี้ได้ดีกว่าในผู้ใหญ่ หากผู้ใหญ่ใช้ควรมียาอื่นร่วมด้วย ลูกเล็บมือนางหากรับประทานเข้าไปเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือ สะอึก เวียนศีรษะ อาเจียน และจะทำให้สะอึกมากขึ้นหากรับประทานกับน้ำร้อน

สะแก(Combratum quadrangulare) หรือสะแกนา
ในเมล็ดสะแกไม่มีรายงานว่ามีสารใดออกฤทธิ์ขับพยาธิ แต่ตามตำรายาไทยบอกว่า ถ้าต้องการถ่ายพยาธิไส้เดือนในเด็ก ให้นำเมล็ดแก่ของสะแก 15-20 เมล็ด ตำให้ละเอียดนำไปผสมกับไข่ทอดให้เด็กกิน อาจทำให้เด็กมีอาการข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ และมีอาการมึนงง

โรคพยาธิเป็นสาเหตุของซางตานขโมยในเด็กด้วย จึงทำให้เด็กซูบผอมเพราะขาดอาหาร ดังนั้น ลูกสะแก เล็บมือนาง มะหาด ที่ใช้ถ่ายพยาธิก็ใช้แก้ซางตานขโมยได้ด้วยเช่นกัน

ที่มา:จากหนังสือวิทยาศาสตร์ในการแพทย์แผนไทย
โดยอาจารย์ ดร.อัญชลี จูฑะพุทธิ
หัวหน้างานวิจัย กลุ่มงานพัฒนาวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า