สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตับแข็ง(Cirrhosis)

หมายถึง ภาวะที่ตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ เนื่องจากเซลล์ตับจำนวนมากถูกทำลายอย่างถาวรจนกลายเป็นเยื่อพังผืดที่แข็งกว่าปกติ ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโทรเจนที่ร่างกายสร้างขึ้นตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็นเหตุทำให้เกิดจุดแดงรูปแมงมุม ฝ่ามือแดง นมโตและอัณฑะฝ่อในผู้ชาย เกิดอาการดีซ่านจากการคั่งของสารบิลิรูบิน มีภาวะเลือดออกง่ายจากการสังเคราะห์สารที่ช่วยห้ามเลือดได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการท้องมาน มีน้ำคั่งในช่องท้อง หลอดเลือดขอดที่หลอดอาหาร ริดสีดวงทวารเนื่องจากภาวะความดันในหลอดเลือดดำของตับสูง ทำให้ระบบต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงตับแข็ง

มักเกิดในคนอายุระหว่าง 40-60 ปี ถ้าพบในคนอายุน้อยอาจเกิดจากโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดที่รุนแรง จากการใช้สารเคมีหรือยาบางชนิด

สาเหตุ
สาเหตุของตับที่ถูกทำลายเกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี การดื่มแอลกอฮอล์จัดนาน 5-10 ปี การใช้ยาจำพวกพาราเซตามอล เตตราไซคลีน ไอเอ็นเอช ไรแฟมพิซิน AZT เกินขนาด หรืออาจเกิดจากการใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เช่น คลอโรฟอร์ม คาร์บอนเตตราคลอไรด์ สารโลหะหนัก เป็นต้น

ยังอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคต่าง เช่น ทาลัสซีเมีย ภาวะหัสใจวายเรื้อรัง ภาวะทางเดินน้ำดีอุดกั้น ตับอักเสบเรื้อรังจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง ภาวะไขมันสะสมในตับ หรือภาวะขาดอาหาร

อาการ
อาจไม่มีอาการผิดปกติชัดเจนในระยะเริ่มแรก อาจมีแค่อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เท้าบวม น้ำหนักลด ตาเหลือง คันตามผิวหนัง ความรู้สึกทางเพศลดลง รู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย มีจุดแดงที่อก หน้าท้อง ฝ่ามือแดงผิดปกติ ในผู้หญิงประจำเดือนอาจมาไม่สม่ำเสมอ มีเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชาย มีหนวดขึ้น ในผู้ชายมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อัณฑะฝ่อตัว นมโตและเจ็บ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยบางราย

ในระยะสุดท้ายของโรค เมื่อเป็นโรคอยู่นานหลายปีหรือยังดื่มแอลกอฮอล์จัด จะพบมีอาการท้องมาน เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขา หลอดเลือดที่หน้าท้องพอง อาจอาเจียนออกมาเป็นเลือดสดๆ เนื่องจากหลอดเลือดที่หลอดอาหารขอดแล้วเกิดแตก อาจช็อกและตายได้ ผู้ป่วยมักลงเอยด้วยอาการซึม เพ้อ มือสั่น แล้วค่อยๆ ไม่รู้สึกตัว จนหมดสติไป

สิ่งตรวจพบ
พบมีจุดแดงรูปแมงมุมที่หน้าอก หน้าท้อง จมูก ต้นแขน ท้องบวม เท้าบวม ฝ่ามือแดงผิดปกติ ตาเหลืองเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้ ต่อมน้ำลายข้างหูโตคล้ายคางทูม ขนร่วง ไม่ไข้ต่ำๆ พบอาการนมโตและเจ็บในผู้ชาย ลักษณะตับที่คลำได้ค่อนข้างแข็ง ผิวเรียบ ในกรณีที่มีอาการรุนแรงมักจะพบว่ามีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง รูปร่างผอมแห้ง ซีด ท้องโตมาก หลอดเลือดพองที่หน้าท้อง มือสั่น ม้ามโต นิ้วปุ้ม

ภาวะแทรกซ้อน
เป็นโรคติดเชื้อเช่น วัณโรค ปอดบวม ได้ง่ายเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคลดลง

อาจพบอาการหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารทำให้อาเจียนเป็นเลือด ทำให้ช็อกถึงตายได้หากเป็นชนิดเรื้อรัง

เมื่อตับทำงานไม่ได้หรือตับวายในระยะสุดท้าย ก็จะเกิดอาการทางสมองและหมดสติ ผู้เป็นโรคนี้มีโอกาสเป็นมะเร็งเซลล์ตับมากกว่าคนปกติทั่วไป

การรักษา
1. ควรตรวจพิเศษเพิ่มเติมโดยตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ทดสอบการทำงานของตับ ตรวจอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สแกนตับ ตรวจชิ้นเนื้อตับ หากไม่แน่ใจว่าเป็นโรคนี้หรือไม่

หากเป็นตับแข็งในระยะเริ่มแรกมักให้วิตามินรวมและกรดโฟลิกเสริมบำรุงและรักษาตามอาการ

ผู้ป่วยต้องงดแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด หลีกเลี่ยงยาที่อาจส่งผลต่อตับ

ให้ยาขับปัสสาวะ สไปโรโนแล็กโทน หรือฟูโรซีไมด์ จำกัดปริมาณน้ำดื่ม งดอาหารเค็ม ถ้ามีอาการท้องมานหรือบวม

ให้ยาเม็ดบำรุงโลหิตหากเกิดการขาดธาตุเหล็กและมีอาการซีด

2. หากมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้สึกตัว มีเลือดออกตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล แพทย์อาจพิจารณาให้เลือดและรักษาตามสาเหตุแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้น ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคติดเชื้อ ภาวะตับวาย ตกเลือด เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. เซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้วไม่อาจฟื้นตัวกลับมาได้อีก และโรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงควรปฏิบัติตัวดังนี้
-รักษากับแพทย์คนเดิมเป็นประจำ อาจต้องตรวจเลือดเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของโรคเป็นระยะๆ
-งดดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาดเพื่อป้องกันเซลล์ตับที่เหลืออยู่ไม่ให้ถูกทำลาย เพื่อการมีชีวิตที่ยาวนานหากเป็นในระยะเริ่มแรก
-กินอาหารพวกผักผลไม้สด แป้ง ของหวานและโปรตีนเป็นประจำ แต่จำเป็นต้องลดอาหารพวกโปรตีนลงเหลือวันละ 30 กรัม หากอยู่ในระยะท้ายของโรคและเริ่มมีอาการทางสมองร่วมด้วย เพราะอาจอาหารเหล่านั้นอาจไปสลายตัวเป็นสารแอมโมเนียที่ส่งผลต่อสมองได้
-ควรงดอาหารเค็ม ห้ามดื่มน้ำเกินวันละ 1500 มล.ถ้ามีอาการบวมหรือท้องมาน
-อย่าซื้อยากินเอง เพราะในยาบางชนิดอาจมีพิษต่อตับมากขึ้น

2. กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับสูงคือผู้ป่วยตับแข็งที่ตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรตรวจเลือดหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีน ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจกรองหาโรคในระยะเริ่มแรก

3. ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 5-10 ปีขึ้นไปหากพบโรคในระยะเริ่มแรกและปฏิบัติตัวได้เหมาะสม แต่ก็อาจอยู่ได้แค่ 2-5 ปี หากปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจนขึ้น เช่น ดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น

4. ในปัจจุบันมีการปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยตับแข็งซึ่งช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่การหาตับที่มีผู้บริจาคซึ่งเข้ากับเนื้อเยื่อของผู้ป่วยได้ค่อนข้างยาก วิธีการรักษามีความยุ่งยาก และราคาค่อนข้างแพง

การป้องกัน
1. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ควรงดดื่มหากตรวจพบว่าเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี
2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบจากไวรัสบีในทารกแรกเกิดทุกราย
3. หลีกเลี่ยงยาที่อาจมีพิษอันตรายต่อตับ หรือไม่ซื้อยามากินเอง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า