สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตับอ่อนอักเสบ(Pancreatitis)

ตับอ่อนอักเสบเป็นภาวะร้ายแรงที่มีอัตราตายค่อนข้างสูง มักพบในผู้ดื่มแอลกอฮอล์จัด ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วน้ำดี แต่พบโรคนี้ได้ไม่บ่อยนักตับอ่อนอักเสบ

สาเหตุ
ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่มักเป็นผลมากจากการรั่วของน้ำย่อยของตับอ่อนมาที่เนื้อเยื่อของตับอ่อน มักพบในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วน้ำดี และผู้ดื่มแอลกอฮอล์จัด ภาวะแทรกซ้อนเป็นส่วนน้อยที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ เช่น คางทูม ภาวะขาดพาราไทรอยด์ร่วมด้วย ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้อง การใช้ยาสตีรอยด์ ยาขับปัสสาวะประเภทไทอาไซด์ เป็นต้น

อาการ
มักปวดท้องรุนแรงทันทีบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักปวดร้าวไปที่บริเวณหลังและปวดอยู่ตลอดเวลา มักทำให้ปวดมากเมื่อเคลื่อนไหวหรือนอนหงาย มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน

สำหรับรายที่เป็นขั้นรุนแรงอาจอ่อนเพลียมาก มีจ้ำเขียวที่หน้าท้องหรือรอบๆ สะดือ มือเท้าเกร็งจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ และอาจเกิดภาวะช็อกได้

สิ่งตรวจพบ
มีไข้ กดเจ็บบริเวณหน้าท้องแต่ไม่มีอาการท้องแข็ง ท้องอืด เสียงโครกครากของลำไส้ลดลงเมื่อใช้เครื่องตรวจฟัง อาจมีอาการดีซ่าน ภาวะช็อกเกิดขึ้นได้

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรังทำให้มีภาวะท้องเดินเรื้อรังเนื่องจากการดูดซึมผิดปกติ น้ำหนักลด และเป็นเบาหวาน ถุงน้ำไม่แท้ในช่องท้อง ฝีตับอ่อน ปวดบวมน้ำ ภาวะไตวาย เป็นต้น

การรักษา
หากสงสัยจะเกิดโรคควรรีบนำส่งโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือไประหว่างทางหากมีภาวะขาดน้ำหรือช็อก

แพทย์มักตรวจวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดตรวจหาระดับเอนไซม์อะมิเลส(amylase) และไลเพส (lipase) ว่าสูงกว่าปกติหรือไม่ หรืออาจต้องต้องอัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ควรงดอาหารและน้ำจนกว่าอาการอักเสบจะทุเลา ป้องกันภาวะขาดน้ำและช็อกด้วยการให้น้ำเกลือและสารอาหารทางหลอดเลือดดำให้เพียงพอ ฉีดยาแก้ปวด เช่น pentazocaine ชื่อการค้า Sosegon ถ้ามีอาการปวดท้องมาก ถ้าซีดอาจต้องให้เลือด

ควรตรวจหาสาเหตุของโรคและรักษาตามสาเหตุนั้นๆ ต่อไป

ข้อแนะนำ
1. ห้ามดื่มแอลกอฮอล์อีกเด็ดขาดเมื่อหายดีแล้วเพราะอาจทำให้อาการกำเริบขึ้นใหม่ได้ ควรงดอาหารที่มีไขมันมาก

2. ผู้ป่วยอาจกลายเป็นอักเสบเรื้อรัง ซึ่งมีอาการปวดท้องตรงใต้ลิ้นปี่ หรือชายโครงซ้าย ปวดร้าวไปที่บั้นเอวซ้าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มีลมในท้อง น้ำหนักลด อาจเป็นอยู่นานไม่กี่ชั่วโมงหรือเป็นสัปดาห์ อาจทำให้กลายเป็นเบาหวานเนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ผู้ป่วยควรติดตามรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันอาการเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อน

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า