สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตับอักเสบจากไวรัส(Viral hepatitis)

หมายถึงการอักเสบของเนื้อตับจากการติดเชื้อไวรัส หรือที่เรียกกันว่า ไวรัสลงตับ มักเข้าใจกันว่าเป็นโรคดีซ่านเพราะเป็นสาเหตุอันดับแรกของอาการดีซ่านคือ ตัวเหลือง ตาเหลือง พบโรคนี้ได้ในคนทุกวัยโดยเฉพาะในเด็กและคนหนุ่มสาว อาจพบระบาดในแหล่งชุมชมไวรัสตับอักเสบ

สาเหตุ
เชื้อไวรัสมีอยู่หลายชนิดแต่ที่พบทำให้เกิดโรคตับอักเสบมักเกิดจากเชื้อไวรัสที่สำคัญอยู่ 3 ชนิดคือ

1. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (hepatitis A virus/HAV) ทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเอ(hepatitis A) ชื่อเดิมเรียกว่า Infectious hepatitis โรคนี้ติดต่อโดยระบบทางเดินอาหารจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้เช่นเดียวกับโรคบิด อหิวาต์ ไทยฟอยด์ โรคสามารถแพร่กระจายได้ง่าย อาจพบระบาดในถิ่นที่การสุขาภิบาลไม่ดีพอ ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 15-45 วัน

2. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี (hepatitis B virus/HBV) ทำให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดบี(hepatitis B) ชื่อเดิมเรียกกันว่า Serum hepatitis พบเชื้อนี้ในเลือด น้ำลาย น้ำตา น้ำนม ปัสสาวะ น้ำอสุจิ น้ำเมือกในช่องคลอด เป็นต้น เชื้อเข้าสู่ร่างกายโดยการมีเพศสัมพันธ์ การถ่ายทอดจากมารดาไปสู่ทารกขณะคลอดหรือหลังคลอดใหม่ๆ เชื้อจึงอยู่ในร่างกายและแพร่สู่ผู้อื่นได้ โรคนี้ติดต่อได้โดยทางเลือด โดยการให้เลือด การฉีดยา การฝังเข็ม การสักตามร่างกาย การทำฟัน การใช้เครื่องมือแพทย์ที่ปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย เป็นต้น ระยะฟักตัวของเชื้อประมาณ 30-180 วัน

3. เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดซี (hepatitis C virus/HCV) ทำให้เกิดตับอักเสบชนิดซี (hepatitis C) ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 6-7 สัปดาห์ ติดต่อโดยทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ การถ่ายทอดจากมารดาไปสู่ทารกขณะคลอดหรือหลังคลอดใหม่ๆ ผู้ติดเชื้อชนิดนี้อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับตับอักเสบชนิดบี และอาจกลายเป็นพาหะของโรค และตับอักเสบเรื้อรังได้

ยังมีไวรัสชนิดอื่นๆ นอกเหนือจาก 3 ชนิดนี้ ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดอี(hepatitis E virus) ซึ่งติดต่อโดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ และเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดจี(hepatitis G virus) ติดต่อทางเลือด เช่น การใช้เลือด การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ใช้ยาเสพติด และยังพบเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดดี(hepatitis D virus) มักพบร่วมกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี สามารถทำให้อาการตับอักเสบจากเชื้อไวรัสบีรุนแรงมากขึ้น พบมีการติดต่อมากในผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน

อาการ
อาการแสดงจะคล้ายๆ กันในตับอักเสบจากไวรัสทุกชนิด ดังนั้นจึงควรตรวจหาเชื้อในเลือดให้แน่ชัดดังนี้

ระยะนำ จะมีอาการตาเหลืองประมาณ 2-14 วัน มีไข้ประมาณ 38-39 องศาเซลเซียส คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อิดโรย อาจมีอาการเหม็นเบื่อบุหรี่มาก ปากคอจืด ปวดเสียดหรือจุกแน่นแถวลิ้นปี่หรือชายโครง ถ่ายเหลวหรือท้องเดิน เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปวดตามข้อ มีผื่น ลมพิษ เกิดขึ้นได้ในบางราย

ผู้ป่วยจะปัสสาวะสีเหลืองเข้มเหมือนขมิ้น อุจจาระสีซีดกว่าปกติ ก่อนมีอาการตาเหลืองประมาณ 1-5 วัน มักจะพบว่าตับโต และเคาะเจ็บในระยะนี้

ระยะตาเหลือง อาการอื่นๆ จะทุเลาและไข้จะลดทันทีเมื่อมีอาการตาเหลืองเกิดขึ้น ในสัปดาห์ที่ 1-2 ตาจะเหลืองเข้มมากที่สุด และจะจางหายไปใน 2-4 สัปดาห์ โดยทั่วไปมักพบน้ำหนักตัวลด 2-3 กก. และมีอาการตาเหลืองอยู่ประมาณ 3-5 สัปดาห์

ปัสสาวะสีจะค่อยจางลง และอุจจาระจะมีสีเข้มปกติในขณะที่ตาเหลืองเริ่มจางลง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณหลังคอและม้ามอาจโตได้ ตับยังโตและเจ็บในระยะนี้แต่จะค่อยๆ ลดน้อยลง

ระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยจะรู้สึกสบายขึ้นหลังจากหายตาเหลืองแล้ว แต่ยังรู้สึกอ่อนเพลีย ตับยังโตมีอาการเจ็บเล็กน้อย ใช้เวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ หลังมีอาการแสดงส่วนใหญ่มักจะหายเป็นปกติได้ในเวลา 3-4 เดือน

ในบางรายมีเพียงอาการเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ ปวดเสียดชายโครงขวา ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน แต่ไม่แสดงอาการของตับ และตาเหลืองให้เห็น

สิ่งตรวจพบ
ตาเหลือง ตับโตมีลักษณะนุ่ม ผิวเรียบ กดเจ็บเล็กน้อย

ภาวะแทรกซ้อน
มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนและหายเป็นปกติได้ โดยเฉพาะตับอักเสบชนิดเอ ภาวะแทรกซ้อนมักพบในผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบีหรือซี มักเกิดในผู้สูงอายุ และมีโรคหัวใจวาย เบาหวาน มะเร็ง โลหิตจางรุนแรง อยู่ก่อนแล้ว

อาการแทรกซ้อนร้ายแรงถึงชีวิตได้อย่างรวดเร็วได้แก่ ตับอักเสบชนิดเร็วร้าย (fulminant hepatitis) เนื้อตับจะถูกทำลายเกือบทั้งหมดมักแสดงอาการตาเหลืองจัด บวม และหมดสติ ซึ่งพบได้น้อยมาก

ผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดบีประมาณร้อยละ 5-10 และผู้ป่วยที่เป็นตับอักเสบชนิดซีประมาณร้อยละ 75 อาจกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการอยู่นานเกิน 6 เดือน ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืดเฟ้อ ดีซ่าน มีไข้ต่ำๆ อาจมีอาการตับแข็งในบางราย หรือไม่แสดงอาการใดๆ เลยก็ได้ ควรวินิจฉัยหาสาเหตุในแน่ชัดด้วยการตรวจเลือดหาเอนไซม์เอเอสที(AST) และเอแอลที(ALT) ว่าสูงถึง 100-150 หน่วยหรือไม่

การรักษา
หาไม่แน่ใจว่าเป็นโรค ควรเจาะเลือดทดสอบการทำงานของตับว่าพบระดับเอนไซม์เอเอสที, เอแอลที และระดับบิลิรูบินว่าสูงกว่าปกติหรือไม่ และเพื่อจะได้ทราบผลที่แน่นอนว่ามีสาเหตุจากเชื้อไวรัสชนิดใดด้วย

การรักษาเมื่อเป็นโรคตับอักเสบจากไวรัส
1. หากพบในคนหนุ่มสาวและไม่มีอาการรุนแรงควรปฏิบัติดัง
-พักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามทำงานหนักจนกว่าจะรู้สึกหายเพลีย
-ดื่มน้ำสะอาดประมาณวันละ 10-15 แก้ว
-กินอาหารประเภทโปรตีนให้มากๆ
-ให้กินน้ำหวานหรือน้ำตาลกลูโคสหากมีอาการเบื่ออาหาร
-ในรายที่ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน ให้งดอาหารมันๆ
-ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย
-ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือหลังจากถ่ายอุจจาระ

ในรายที่เบื่ออาหารให้กินวิตามินรวม หรือวิตามินบีรวม วันละ 2-3 เม็ด ให้ยา เมโทโคลพราไมด์ หรือดอมเพอริโดนหากมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
ให้ฉีดกลูโคสหรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำหากรับประทานอาหารไม่ได้ เป็นต้น

2. ถ้าในระยะ 2 สัปดาห์อาการตาเหลืองยังไม่จาง ยังมีอาการไข้สูง อ่อนเพลียมาก น้ำหนักลดมาก ปวดท้องมาก อาเจียนมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุควรรีบส่งแพทย์โดยด่วน

ควรตรวจเลือดหาระดับเอนไซม์เอเอสที และเอแอลที ในระยะทุก 2-4 สัปดาห์ เพื่อติดตามผลการรักษา จนกว่าจะแน่ใจว่าหายเป็นปกติแล้ว ส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติในเวลา 3-16 สัปดาห์ มีเป็นส่วนน้อยที่เป็นตับอักเสบเรื้อรังนานเกิน 6 เดือน ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจเลือดและชิ้นเนื้อตับเพื่อหาสาเหตุความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการฉีดสารอินเตอร์เฟอรอน(interferon) ให้ยาต้านไวรัสลามิวูดีน(lamivudine)สำหรับไวรัสตับอักเสบบี และไรบาไวริน(ribavirin) สำหรับไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น มักต้องให้ยาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ โดยทั่วไปการสนองตอบต่อการรักษาของไวรัสตับอักเสบซีจะดีกว่าไวรัสตับอักเสบบี

ข้อแนะนำ
1. ห้ามดื่มแอลกอฮอล์นาน 1 ปีในผู้ป่วยโรคนี้เพราะอาจทำให้กำเริบใหม่หรือเป็นเรื้อรังได้

2. ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีพิษต่อตับในระหว่างที่เป็นโรคนี้ เช่น พาราเซตามอล เตตราไซคลีน ไอเอ็นเอช อีริโทรไมซิน ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้น

3. ไม่ควรนำเข็มฉีดยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคนี้ไปใช้ต่ออีกเพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อได้

4. บางรายอาจมีเชื้ออยู่ในร่างกายเพียงชั่วคราวและจะหายไปเองโดยไม่เป็นโรค และผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นโรคตับอักเสบเสมอไป ในบางรายมีเชื้อทั้งชนิดบีและซีอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใดๆ แต่สามารถเป็นพาหะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ และในบางรายจะมีแค่อาการไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัดใหญ่ คลื่นไส้ อาเจียน จุกเสียดท้อง แต่ไม่พบอาการตาเหลืองก็ได้

5. ผู้ที่เป็นพาหะของโรคตับอักเสบชนิดบีหรือซี ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ตรวจพบเชื้อในกระแสเลือด ควรพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายตามปกติ ไม่ลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร งดบริจาคโลหิต ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หมั่นตรวจเลือดดูเชื้อและทดสอบการทำงานของตับ และตรวจหาสารแอลฟาฟีโตโปรตีนเพื่อค้นหามะเร็งตับระยะเริ่มแรกทุกๆ 3-6 เดือน

ผู้ที่เป็นพาหะส่วนน้อยเท่านั้นที่อาจเกิดโรคตับแข็ง มะเร็งตับแทรกซ้อน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ที่ติดเชื้อไวรัสชนิดบีหรือซีจากมารดาตั้งแต่แรกเกิด เมื่ออายุเข้าวัย 40-50 ปี เชื้อที่อยู่ในร่างกายก็อาจแสดงผลแทรกซ้อนตามมาในผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่นในผู้ที่ทำงานหนัก หรือดื่มแอลกอฮอล์

6. ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยควรตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อสาเหตุเป็นระยะๆ หรือฉีดวัคซีนป้องกันถ้ายังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค

7. ควรตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย หากพบเชื้อต้องฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบในทารกที่เกิดมาทุกคนเป็นจำนวน 3 ครั้ง ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่ออายุครบ 1-6 เดือน ในมารดาที่ตรวจพบ HBeAg เป็นผลบวกทารกจะต้องได้รับการแดสารอิมมูนโกลบูลิน(hepatitis B immune globulin/HBIG) ร่วมกับวัคซีนดังกล่าวเพื่อป้องกันการติดเชื้อชนิดนี้

การตรวจเลือดวินิจฉัยตับอักเสบชนิดบี
โรคตับอักเสบชนิดบี มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง มีวิธีการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคนี้ ซึ่งมีศัพท์เฉพาะหลายคำที่จะแนะนำในที่นี้คือ

HBsAg หมายถึง สารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจนที่อยู่บนผิวของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า hepatitis B surface antigen เดิมเคยเรียกว่า Australia antigen หรือ hepatitis associated antigen (HAA)

HBcAg หมายถึง สารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจนที่อยู่ตรงแกนกลางของเชื้อไวรัสชนิดบี เรียกว่า hepatitis B core antigen

HBeAg หมายถึง สารก่อภูมิต้านทานหรือแอนติเจนส่วนแกนกลางของไวรัสที่ละลายอยู่ในน้ำเลือด(เซรุ่ม) สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะฟักตัวของโรคก่อนมีอาการแสดง

Anti-HBs หมายถึง สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีต่อแอนติเจน HBsAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลังติดเชื้อประมาณ 4-6 เดือนไปแล้ว ผู้ที่มี anti-HBs จะไม่ติดเชื้อไวรัสชนิดบีอีก

Anti-HBc หมายถึง สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีต่อแอนติเจน HBcAg ซึ่งจะตรวจพบตั้งแต่ระยะหลังติดเชื้อ 4-6 สัปดาห์ไปแล้ว และจะพบอยู่ตลอดไป

โดยทั่วไปมักจะเจาะเลือดตรวจหา HBsAg, anti-HBs และ anti-HBc ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยโรคดังนี้

1. ถ้าตรวจไม่พบสารตัวใดตัวหนึ่งดังกล่าวเลย ก็แสดงว่าไม่เคยติดเชื้อ และไม่มีภูมิคุ้มกันต่อตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี ควรฉีดวัคซีนป้องกัน

2. ถ้าตรวจพบ HBsAg เพียงอย่างเดียว แสดงว่ากำลังติดเชื้อ หรือเพิ่งเป็นโรคนี้ สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้

3. ถ้าตรวจพบ anti-HBc เพียงอย่างเดียว แสดงว่าเคยติดเชื้อมาไม่นาน แต่เวลานี้ไม่มีเชื้อแล้วและไม่ติดต่อหรือแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

4. ถ้าตรวจพบ HBsAg ร่วมกับ anti-HBc แสดงว่ากำลังติดเชื้อ อาจเป็นแบบเฉียบพลัน หรือเป็นพาหะเรื้อรัง สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ สำหรับผู้ที่เป็นพาหะเรื้อรังการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถช่วยกำจัดเชื้อ หรือกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้ได้

5. ถ้าตรวจพบ anti-HBc ร่วมกับ anti-HBs แสดงว่าเคยติดเชื้อมาก่อน และมีภูมิคุ้มกันแล้ว จะไม่ติดเชื้อซ้ำอีก

6. ถ้าตรวจพบ anti-HBs เพียงอย่างเดียวแสดงว่าเคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน จะไม่เป็นโรคนี้

การป้องกัน
ตับอักเสบชนิดเอ ควรกินอาหารปรุงสุกใหม่ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาด ถ่ายในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนเตรียมอาหาร ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือหลังจากถ่ายอุจจาระ

วัคซีนป้องกันตับอักเสบชนิดเอราคาค่อนข้างแพง จึงแนะนำให้ฉีดเฉพาะผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ผู้ประกอบอาหาร บุคลากรทางการแพทย์ นักเรียน ทหาร เป็นต้น โดยฉีด 2 เข็มห่างกัน 6 เดือน ควรตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันก่อนในผู้ที่อายุเกิน 18 ปี และไม่จำเป็นต้องฉีดให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายหากตรวจพบว่ามีภูมิคุ้มกันอยู่แล้ว

ตับอักเสบชนิดบีและซี ควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการฉีดยาและให้น้ำเกลือโดยไม่จำเป็น หรือใช้เข็มฉีดยาที่ปลอดภัยจากเชื้อหากมีความจำเป็น

2. ตรวจเช็กเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีในผู้บริจาคทุกราย

3. บุคลากรทางการแพทย์ควรระมัดระวังในการสัมผัสเลือดของผู้ป่วยเช่น สวมถุงมือขณะเย็บแผล ผ่าตัด หรือสวนปัสสาวะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

4. วัคซีนป้องกันตับอักเสบบีมีราคาค่อนข้างแพง ไม่แนะนำให้ฉีดในคนทั่วไป แต่จะฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ทารกแรกเกิด บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคเลือดที่ต้องถ่ายเลือดบ่อยๆ เท่านั้น

ปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นพาหะของโรคลดลงได้มากจากการที่ทารกแรกเกิดได้รับวัคซีนนี้ในครั้งแรก ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 จะห่างจากครั้งแรก 1-2 เดือน และ 6 เดือนตามลำดับ ในผู้ใหญ่ควรตรวจเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันเสียก่อน หากพบว่าเป็นพาหะหรือมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนนี้อีก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า