สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ตะกั่วเป็นพิษ(Lead poisoning)

เป็นภาวะที่พบได้เป็นครั้งคราวทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อร่างกายรับสารโลหะหนักจากตะกั่วเข้าไปมากๆ ก็จะเป็นพิษต่อระบบประสาทและสมอง และระบบต่างๆ เรียกว่า ภาวะตะกั่วเป็นพิษสารตะกั่ว

สาเหตุ
เกิดจากร่างกายสะสมสารตะกั่วไว้จนถึงระดับที่เป็นพิษจากการดูดไอตะกั่วเข้าไป หรือกิน หรือสัมผัสสารตะกั่วเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการประกอบอาชีพในโรงงานที่มีสารตะกั่ว จากความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจากการเล่นซนของเด็กๆ

การรับพิษสารตะกั่วมักมาจากแหล่งต่างๆ เช่น
1. ทำงานในโรงงานทำแบตเตอรี่ หรือถ่านไฟฉาย ร้านอัดแบตเตอรี่ หรือขายแบตเตอรี่ ร้านเจียระไนเพชรพลอย โรงพิมพ์ หรือร้านเชื่อมโลหะ เป็นต้น

2. การเคี่ยวน้ำตาลด้วยเปลือกแบตเตอรี่ที่ทิ้งแล้วมาทำเป็นเชื้อเพลิง
หรือใช้ปูลาดเป็นทางเดิน

3. ดื่มน้ำจากบ่อที่แปดเปื้อนสารตะกั่ว หรือน้ำจากท่อที่มีส่วนผสมของตะกั่วมากเกินไป

4. สารตะกั่วที่ปนอยู่ในสีทาบ้าน และสีที่ใช้ทาของเล่นซึ่งเด็กอาจหยิบกินด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

5. แป้งทาเด็กที่มีสารตะกั่วเจือปน อาจทำให้เกิดพิษตะกั่วเรื้อรัง

บางครั้งอาจเป็นพร้อมกันหลายๆ คน ด้วยการรับสารตะกั่วจากการดื่มน้ำบ่อเดียวกัน หรือทำงานในแหล่งที่มีสารตะกั่วเหมือนกัน

อาการ
อาการแสดงในผู้ป่วยอาจเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น ปวดบิดอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ร่วมกับอาการท้องผูก หรือถ่ายเป็นเลือด และเนื่องจากพิษของตะกั่วที่มีต่อระบบเลือดอาจทำให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายและสร้างได้น้อยลงจนมีอาการซีด หรืออาจมีอาการปลายประสาทอักเสบ ที่พบได้บ่อย คือ ประสาทมือเป็นอัมพาต ทำให้ข้อมือตก เหยียดไม่ขึ้น และประสาทเท้าเป็นอัมพาต ทำให้ปลายเท้าตก เดินขาปัด ซึ่งจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก

ที่พบมากในเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดภาวะที่ร้ายแรง เช่น ภาวะผิดปกติทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการนำมาก่อนด้วยอาการเดินเซ อาเจียน ซึม เพ้อ บุคลิกภาพเปลี่ยน และจะมีอาการชัก หมดสติตามมา ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตหรืออาจกลายเป็นสมองพิการ และปัญญาอ่อนได้ถ้าไม่ได้รับการรักษา แต่ภาวะนี้พบได้น้อยในผู้ใหญ่ หรืออาจมีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ หงุดหงิด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ขาเป็นตะคริวในรายที่มีพิษตะกั่วเรื้อรัง หรืออาจพบรอยสีเทาๆ ดำๆ ของสารตะกั่วที่ขอบเหงือกในบางราย แต่จะไม่พบอาการนี้ในผู้ที่ไม่มีฟัน และพบอาการดังกล่าวได้น้อยในเด็ก

การรักษา
หากไม่แน่ใจหรือสงสัยว่าเกิดโรคควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือให้ฉีดไดอะซีแพมก่อนส่งถ้าผู้ป่วยมีอาการชักเกิดขึ้น

แพทย์มักจะวินิจฉัยด้วยการตรวจดูระดับตะกั่วในเลือด และในปัสสาวะ สารคอโพรพอร์ไฟรินในปัสสาวะจะมีค่าสูงกว่า 50 ไมโครกรัม/ปัสสาวะ 100 มล. และจะพบลักษณะที่เรียกว่า basophilic stippling เมื่อตรวจเม็ดเลือดแดงดู หรืออาจพบรอยทึบแสงของสารตะกั่วในลำไส้ และรอยสะสมของตะกั่วที่ปลายประดูกแขนขาเมื่อเอกซเรย์ดู

แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการฉีดยาขับตะกั่ว เป็นเวลา 5-7 วัน ได้แก่ ไดเมอร์แคปรอล เช่น บีเอแอลร่วมกับแคลเซียมไดโซเดียมอีดีเทต เช่น อีดีทีเอ

ควรให้ผู้ป่วยกินเพนิซิลลามีน ต่ออีก 1-2 เดือนในผู้ใหญ่ หรือ 3-6 เดือนในเด็ก หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว ถ้าไม่มีอาการทางสมองผลการรักษาก็มักจะหายเป็นปกติได้ แต่อาจมีอันตรายถึงทุพพลภาพถ้ามีอาการทางสมองเกิดขึ้น และอาจถึงตายได้ถ้าพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

ข้อแนะนำ
1. โรคตะกั่วเป็นพิษอาจมีอาการได้หลายแบบ หากมีความสงสัยควรส่งผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล หรือหากพบผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง ซีด ข้อมือตก ข้อเท้าตก บุคลิกภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เพ้อ ชัก หรือหมดสติ เป็นต้น

2. ไม่ควรนำผู้ป่วยไปรักษาทางไสยศาสตร์เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าถูกผีเข้า หรือวิกลจริต จากอาการผิดปกติทางสมองเนื่องจากตะกั่ว ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการแสดงแปลกๆ เช่น เพ้อ คลุ้มคลั่ง ชัก และมักจะเสียชีวิตลง ทางที่ดีควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเพราะมีทางรักษาให้หายได้

การป้องกัน
1. ควรหามาตรการป้องกันโดยการจัดสภาพการทำงานให้ปลอดภัยในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารตะกั่ว เช่น เสื้อคลุมป้องกันพิษตะกั่ว มีอ่างน้ำและห้องอาบน้ำอย่างเพียงพอ มีทางระบายไม่ให้มีฝุ่นตะกั่วสะสม ไม่ควรสูบบุหรี่และกินอาหารให้ห้องที่มีสารตะกั่ว และทุก 6 เดือนควรมีการตรวจหาระดับตะกั่วในเลือดและปัสสาวะ และควรหยุดงานหรือเปลี่ยนไปทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารตะกั่วหากตรวจพบว่ามีสารตะกั่วสูง หรือให้กินยาลดสารตะกั่วในรายที่มีตะกั่วสูงมาก ถึงแม้จะไม่มีอาการแสดงก็ตาม

2. เพื่อป้องกันมิให้นำอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีสารตะกั่วเจือปนไปใช้ในทางที่ผิดๆ จึงควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของตะกั่วที่อาจปะปนอยู่ในสิ่งของต่างๆ เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย สีทาบ้าน หรือของเล่นเด็ก เป็นต้น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า