สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ดีซ่านสรีระในทารกแรกเกิด(Physiologic jaundice)

ในทารกแรกเกิดร้อยละ 60 อาจมีอาการดีซ่านได้แม้จะแข็งแรงเป็นปกติ เนื่องจากตับยังทำงานได้ไม่เต็มที่จึงไม่สามารถขจัดสารสีเหลือง คือ บิลิรูบิน(bilirubin) ที่เกิดจากการแตกของเม็ดเลือดแดงในปริมาณมากจึงมีการคั่งของสารจนเกิดอาการดีซ่าน ที่เรียกว่า ภาวะดีซ่านสรีระ(physiologic jaundice) พบบ่อยในทารกที่กินนมหรือน้ำน้อยเกินไป ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่ตัวเล็กกว่าปกติ ซึ่งไม่พบโรคหรือความผิดปกติใดๆดีซ่านสรีระในเด็กทารก

อาการ
เมื่อพ้นระยะ 24 ชั่วโมงหลังคลอดทารกจะเริ่มมีอาการดีซ่านคือตาเหลือง ส่วนใหญ่มักอยู่ในช่วง 2-3 วันหลังคลอด และจะเหลืองเข้มที่สุดในราววันที่ 5-7 หลังคลอด และจางหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยที่ทารกมีอาการอื่นๆ ปกติทุกประการ อาการเหลืองเริ่มจากใบหน้า ไล่ลงมาที่ลำตัว แขน ขา ตามลำดับ แต่เมื่อเวลาจางจะย้อนในทางตรงกันข้าม

สิ่งตรวจพบ
ปัสสาวะมีสีเหลืองเหมือนขมิ้น ตาเหลือง ตัวเหลือง อาจมีภาวะขาดน้ำร่วมด้วยในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะเช่นนี้ไม่มีอันตรายต่อทารกแต่อย่างใด เว้นแต่ในรายที่มีอาการเหลืองจัดเนื่องจากระดับบิลิรูบินในเลือดสูง สารนี้อาจเข้าไปสะสมในเนื้อสมองทำให้สมองทำหน้าที่ผิดปกติและเกิดสมองพิการได้ ที่เรียกกันว่า โรคสมองจากบิลิรูบิน หรือภาวะบิลิรูบินสะสมในสมอง ซึ่งทารกจะแสดงอาการซึม ไม่ดูดนม อาเจียน หลังแอ่น ตาเหลือก ชัก อาจกลายเป็นเด็กพิการ ปัญญาอ่อน หูหนวก หรือเสียชีวิตได้

การรักษา
1. หากพบอาการดีซ่านในทารกแรกเกิดในวันที่ 2-5 หลังคลอด ควรตรวจให้แน่ใจว่าไม่มีสาเหตุจากอย่างอื่นทารกยังแข็งแรงเป็นปกติดี ก็ให้ดูดนมและน้ำมากขั้น ควรให้ทารกผึ่งแดดอ่อนๆ หรือใช้แสงไฟนีออนส่องเพื่อลดอาการเหลือง หากมีอาการตัวเหลืองเข้มขึ้นนานกว่า 1 สัปดาห์ ฝ่าเท้าเหลืองซึ่งมักมีระดับบิลิรูบินสูงกว่า20 มก./ดล. ควรนำส่งแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

2. หากเริ่มมีอาการดีซ่านภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดหรือมีอายุมากกว่า 3 วัน มีอาการไข้ ซีด ซึม ท้องเดิน ตัวอ่อน ไม่ดูดนม อาเจียน มีจุดแดงจ้ำเขียว ชัก ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ สาเหตุที่พบบ่อยคือ เม็ดเลือดแดงแตกเนื่องจากภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พีดี หรือหมู่เลือดเข้ากันไม่ได้ ภาวะโลหิตเป็นพิษ ท่อน้ำดีตีบแต่กำเนิด ภาวะเม็ดเลือดแดงมาก มักพบได้ในทารกที่มารดาเป็นเบาหวาน สูบบุหรี่ ภาวะขาดไทรอยด์ การใช้ยาประเภทไดอะซีแพม โพรเมทาซีน ออกซิโทซินในมารดา ภาวะพร่องสารอาหารในนมมารดา มีเลือดออกใต้ผิวหนัง เช่น ฟกช้ำ ห้อเลือด ก้อนเลือดใต้หนังศีรษะจากการบาดเจ็บระหว่างคลอด

ในทารกที่มีภาวะดีซ่านสรีระแต่เหลืองจัด อาจเป็นอันตรายต่อสมองได้ มักใช้การบำบัดด้วยเครื่องฉายแสง หากไม่ได้ผลหรือพบว่าระดับบิลิรูบินยังสูงอยู่ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเพื่อทำการเปลี่ยนถ่ายเลือด

ข้อแนะนำ
1. ควรตรวจดูอาการดีซ่านในทารกทุกรายโดยเฉพาะใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด หรือจนกว่าจะพ้นระยะ 1-2 สัปดาห์ หากมีสาเหตุร้ายแรงจะได้ทำการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัยและลดภาวะแทรกซ้อนทางสมองได้

2. หากพบอาการดีซ่านในทารกแรกเกิดแต่ไม่แน่ใจว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาระดับบิลิรูบินในเลือดเป็นระยะๆ

การป้องกัน
ภายใน ½-1 ชั่วโมงหลังคลอดควรให้ทารกดูดนมโดยเร็ว และบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้เคลื่อนตัวและถ่ายอุจจาระ อาจช่วยป้องกันภาวะดีซ่านและลดความรุนแรงลงได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า