สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ชนิดของนมวัวที่ใช้เลี้ยงทารก

นมวัว บางทีเรียกว่านมผสมหรือนมขวด ในกรณีที่แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของตนเองได้ ด้วยสาเหตุเพราะตัวแม่เองซึ่งเข้าลักษณะที่ต้องห้ามให้นมลูก หรืออาจจะเป็นที่ตัวเด็กเอง เช่น พิการ ปากแหว่ง หรือพิการทางสมอง จำเป็นต้องให้นมวัวแทน ซึ่งในการให้นมวัวแก่เด็กในวัยนี้ แม่ควรที่จะเข้าใจถึงการเลือกใช้นมผงชนิดต่างๆ เพื่อให้เหมาะแก่อายุของเด็กด้วย เพราะเด็กที่ดื่มนมวัวมีอันตรายมากกว่าดื่มนมแม่ ฉะนั้นก่อนใช้นมวัวควรพิจารณาให้ดี หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ พยาบาลหรือผดุงครรภ์ เนื่องจากนมวัวมีหลายชนิดด้วยกัน การเตรียมก็แตกต่างกัน ทั้งคุณค่าอาหารก็ต่างกันด้วยนมผงดัดแปลง

ในการเลี้ยงทารกด้วยนมวัวควรได้คำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ความสะอาดในการเตรียม ซึ่งรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ และวิธีการเตรียมด้วย
2. ต้องระมัดระวังเรื่องส่วนผสม ให้เพียงพอแก่ความต้องการของทารกแต่ละระยะ
3. ควรพยายามให้ทารกได้รับความอบอุ่นเช่นเดียวกับเมื่อดื่มนมแม่ เช่นอุ้มไว้ในขณะให้นมขวดเป็นต้น

ชนิดของนมวัว
1. นมผงคล้ายนมคน (Humanized Powdered Milk) หรือนมผงหวาน เป็นนมผงที่เอานมวัวมาดัดแปลงส่วนประกอบให้คล้ายคลึงกับส่วนประกอบของนมมารดา เช่นเติมน้ำตาล ราคาจึงค่อนข้างแพง แต่มีคุณค่าทางอาหารเทียบได้กับน้ำนมแม่ เป็นการทำขึ้นเพื่อใช้แทนนํ้านม แม่ เหมาะสำหรับเลี้ยงทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนเท่านั้น เราจะทราบได้ว่านมผงใดบ้างที่เหมาะสำหรับทารกก็ให้ดูที่ปริมาณของโปรตีนเป็นสำคัญ ซึ่งข้างกระป๋องนมทุกกระป๋องจะต้องบอกปริมาณโปรตีนไว้ด้วย โดยเฉลี่ยจะมีประมาณ 1.1-1.6 เปอร์เซนต์ ในลักษณะที่เป็นผง หรือ ประมาณ 1.1-1.6 เปอร์เซนต์ ในลักษณะที่ได้ผสมน้ำตามสัดส่วนที่ถูกต้องแล้ว นมผงคล้ายนมคนที่มีขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้

ก. ชนิดราคาแพงน้อย ได้แก่
แลคโตเจน (Lactogen), นมผงตราหมีชนิดหวาน (Bear Brand Standard Infant (Formular), บอร์เดน (Borden), ดูเม็กซ์ (Dumex), มาเม็กซ์ (Mamex), สโนว์มิลค์ (snow Milk), พี 7 เอฟ (P 7 F) และเมจิ (Maji)

ข. ชนิดราคาแพงมาก ได้แก่
แนน (Nan), เอส-26 (S-26), เอส เอม เอ (SMA), ซิมิแลค ชนิดธรรมดา และชนิดเติมธาตุเหล็ก (similac & Similac With Iron), เลแทรมา (Letrama) และเอนฟามิล ชนิดธรรมดา และชนิดเติมธาตุเหล็ก (Enfamil & Enfamil With Iron)

2. นมผงดัดแปลงและนมโปรตีนสูง (Modified Milk และ Protein Milk) เป็นนมผงดัดแปลงโดยเพิ่มปริมาณโปรตีนให้สูงขึ้นจากนมผงคล้ายนมคนอีกเล็กน้อย ใช้เลี้ยงทารกตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ที่ข้างกระป๋องจะบอกปริมาณโปรตีนไว้ว่ามีประมาณ 19 เปอร์เซนต์ ได้แก่ แลคโตเจนโปรตีนสูง (Lactogen Full Protein), ตราหมีโปรตีนสูง (Bear Brand Full Protein) และ โอแลค (olac)

3. นมผงครบส่วน (powdered Whole Milk) หรือนมแท้ หรือนมผงจืด เป็นนมวัว ผงธรรมดาที่เอานมวัวมาทำให้แห้งเป็นผง ไขมันและโปรตีนในนมชนิดนี้มีลักษณะละเอียดและย่อยง่าย มีปริมาณโปรตีนสูง 2-3 เท่าของนมผงคล้ายนมคน เหมาะสำหรับเลี้ยงเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่ สำหรับนมผงชนิดนี้ที่มีจำหน่ายในตลาดขณะนี้ มี

ก. ชนิดราคาพอสมควร บรรจุในถุงอาลูมีนัมฟอยหรือพลาสติค คุณภาพเชื่อถือได้ได้แก่
สวนดุสิต, ดูมิลค์ (Dumilk), และมอลลี่ (Molly)

ข. ชนิดราคาสูงกว่าในข้อ ก. บรรจุกระป๋อง ได้แก่
สวนดุสิต, เนสเปรย์ (Nespray), คลิม (Klim), ดุมิลค์ (Dumilk), อะแลคตา (Alacta), ตราหมีชนิดจืด (Bear Brand Infant & Bear Brand full Cream Powdered Milk) และ คาว และแกล๊กโซ (cow & Glaxo)

4. นมสดระเหย (Evaporated Milk) หรือนมข้นจืด ทำจากนมวัวสดแต่ ให้น้ำระเหยออกเสียครึ่งหนึ่ง ไขมันและโปรตีนในนมชนิดนี้ละเอียดย่อยง่าย มีปริมาณโปรตีนและใช้เลี้ยงเด็กได้เช่นเดียวกับนมผงครบส่วน เมื่อเอานมสดระเหยมาเติมน้ำหนึ่งเท่าตัวจะได้น้ำนมที่มีส่วนประกอบเช่นเดียวกับนมวัว ได้แก่ คาร์เนชั่น (Carnation), กลอเรีย (Gloria), ดัทช์เบบี้ (Dutch Baby), ลิบบี้ (Libby), อะลาสก้า (Alaska) และซี กอลล์ (sea Gall)

ข้อเสียของนมสดระเหยหรือนมระเหยน้ำนี้ คือ เมื่อเปิดกระป๋องแล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าเหลือไม่ควรนำมาให้ทารกดื่มกิน เพราะอาจท้องเดินได้ เนื่องจากมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเจริญเติบโตในนมนั้น

5. นมสด ใช้ดื่มได้ทันทีไม่ต้องเติมน้ำ แต่หากจะต้มให้เดือดแล้วเติมน้ำสุกแทนน้ำที่ระเหยไปให้เท่ากับระดับนมก่อนต้มก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้ย่อยง่ายและฆ่าเชื้อโรคอีกครั้งหนึ่ง นมสดที่มีในตลาดขณะนี้ได้แก่ นมสดสวนดุสิต, นมสดหนองโพ, นมสดเกษตร, นมสดไทยเดนมาร์ค และนมสดฟอร์โมสต์ เหมาะกับเด็ก 6 เดือนขึ้นไป และเมื่อเปิดแล้วก็ควรกินให้หมดภายใน 24 ชั่วโมงเช่นกัน

6. นมปลอดไขมัน (Skimmed Milk) คือนมที่ได้สกัดเอาไขมันออก มีโปรตีนสูงมาก เหมาะสำหรับเด็กที่เป็นโรคขาดโปรตีนอย่างรุนแรง ไม่เหมาะสำหรับเด็กปรกติธรรมดาทั่วไป เท่าที่เคยมีใช้อยู่ก็ได้แก่ นมผงของยูนีเซฟ (UNECEF) นมผงคาร์เนชั่นปลอดไขมัน (Carnation Non Fat Complan)

7. นมกรด (Acid Milk) เป็นนมที่มีกรดแลคติค (Lactic) อยู่ ซึ่งมีความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคที่เกิดขึ้นในลำไส้ได้ ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้ได้แก่ นมผงเพลาร์กอน (Pelargon) นมผงคาเมลโพ (camelpo) ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคท้องเสียได้ ในเด็กตั้งแต่แรกคลอด

8. นมถั่วเหลือง เหมาะสำหรับเด็กที่แพ้น้ำตาลแลคโทส (Lactose) ซึ่งมีอยู่ในน้ำนมอื่นทั่วๆ ไป อาการแพ้แลคโทส คือเมื่อเด็กดูดนมธรรมดาซึ่งมีแลคโทสอยู่แล้วจะทำให้ท้องเสีย ซึ่งมักจะเป็นตั้งแต่แรกคลอด ดังนั้นจึงควรให้เด็กได้ดื่มนมถั่วเหลืองแทน ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดขณะนี้มีทั้งเป็นนมผงและนมสด ในรูปของนมผงได้แก่ โซบี (Sobee) ไอโซมิล (isomil) และในรูปของนมสดได้แก่นมถั่วเหลืองเกษตร

9. นมข้นหวาน (Sweetened Condensed Milk) เป็นนมวัวที่เติมน้ำตาลลงร้อยละ40 ทำให้มีรสหวานจัด ไม่เหมาะที่จะใช้เลี้ยงทารกอย่างยิ่ง ด้วยมีปริมาณโปรตีนที่ได้เมื่อชงหรือผสมน้ำแล้วน้อยมากไม่เพียงพอกับความต้องการของทารก นอกจากนี้ในนมข้นหวานยังขาดไขมัน แร่ธาตุและวิตะมินด้วย ดังนั้นทารกที่เลี้ยงด้วยนมข้นหวานจะเป็นโรคขาดสารอาหารได้ง่ายมาก
นอกจากนี้ยังมีนมวัวอีกชนิดหนึ่งคือนมวัวที่ผสมด้วยแป้งข้าวมอลท์ (Malted Milk) เช่น นมฮอร์ลิค (Horlick) ก็ไม่เหมาะที่จะใช้เลี้ยงทารก

ภาชนะและเครื่องใช้ในการผสมนม
ในการเลี้ยงเด็กด้วยนมผสม ควรเตรียมสิ่งต่อไปนี้ไว้ให้พร้อม คือ
-ขวดนม มีขีดบอกจำนวนออนซ์ เพื่อประหยัดและได้ประโยชน์เต็มที่ควรใช้ชนิด 8 ออนซ์
-หัวนมยาง
-ฝาครอบหัวนมเท่าจำนวนขวดนม ปรกติจะติดมากับขวดนมแล้ว
-ช้อนตวง คือช้อนโต๊ะ หรือช้อนชา (1 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 3 ช้อนชา) ปรกติบรรจุติดมากับกระป๋องนมแล้ว
-ถ้วยตวง หรือแก้วสำหรับชงนม ขนาดใหญ่พอประมาณสำหรับชงนม และช้อนคน ถ้าชงทีละขวดก็ไม่จำเป็นต้องใช้ถ้วยชงนี้ เพราะตวงนมใส่ขวดผสมน้ำอุ่น เขย่าให้เข้ากันได้เลย
-แปรงล้างขวดนม และสบู่
-คีมสำหรับคีบหัวนม
-กาต้มน้ำร้อน และกระติกน้ำร้อน
-หม้อต้มขวด หรือหม้อนึ่งขวด อาจใช้ชามอ่างก็ได้ โดยใช้ชามอ่าง 2 ใบ ต้มขวด และเครื่องใช้ต่างๆ 2 ใบ ใช้ต้ม 1 ใบและปิดครอบขณะต้ม 1 ใบ ในการนึ่งขวดควรใส่ขวดในตะแกรงรูปกลมมีช่องสำหรับใส่ขวด

การล้างขวดนม
เมื่อซื้ขวดนมมาใหม่ๆ หรือเมื่อเด็กกินนมเสร็จแล้วทุกครั้งควรล้างเลย หรือแช่น้ำไว้ทันทีแล้วล้างรวมๆ กันวันละครั้งเดียวเป็นการทุ่นแรงดี แต่อย่าวางทิ้งไว้ เพราะคราบนมจะเกาะทำให้ล้างลำบาก การล้างต้องใช้ผงซักฟอก สบู่ หรือน้ำยาล้างแก้วล้างจาน แล้วใช้แปรงแปรงให้สะอาด และใช้ส่วนของแปรงที่เล็กล้างหัวนมและฝาครอบให้สะอาดทุกซอก ทุกมุม เสร็จแล้วเอาทั้งขวด หัวนม ฝาครอบและของใช้ต่างๆ ไปฆ่าเชื้อโรคด้วยการต้ม นึ่ง หรือแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อ

การนึ่งหรือต้ม
นำขวดที่ใช้ในวันหนึ่งๆ ซึ่งมีประมาณ 8-9ใบ สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3เดือน รวมทั้งขวดน้ำต้มด้วย 1 ใบ หลังจากล้างเสร็จแล้วมาต้มหรือนึ่งรวมกันทั้งขวดนม หัวนม ฝาเกลียว ฝาครอบ และเครื่องใช้อื่นๆ ที่ใช้ผสมนม ถ้าเป็นการนึ่งจะนึ่งด้วยรังถึง หรือเครื่องนึ่งอื่นๆ ก็ได้ตามแต่จะมี ให้นึ่งหรือต้มนานประมาณ 15-20 นาที โดยจับเวลาตั้งแต่น้ำเดือดจึงยกลงเก็บครอบฝาไว้

การผสมนมหรือชงนม ก่อนผสมนม มารดาหรือผู้ผสมล้างมือฟอกสบู่และล้างเล็บให้สะอาด แล้วเอาเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผ่านการต้มหรือนึ่งแล้วมาทำการผสมนม ระวังอย่าให้มือถูกภายในขวด หัวนม ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะเด็กมีความต้านทานโรคต่ำ อาจเป็นโรคท้องเดินได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่มากฉะนั้นในการชงนมความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

วิธีชงนมมี 2 วิธี คือ
1. ชงทีละขวด รินน้ำสุกอุ่นๆ (อย่าใช้นํ้าร้อนจัดเพราะจะทำลายวิตะมินในนม)ใส่ในขวดเติมนมเท่าที่ต้องการลงไป คีบหัวนมปิดปากขวด ปิดฝาเขย่าให้นมละลายและให้เด็กดูดกินได้ทันที การชงวิธีนี้ดีตรงที่วิตะมินไม่ถูกทำลาย แต่ไม่ดีที่ต้องชงทุกครั้งที่จะให้เด็กกิน และบางครั้งอาจไม่ทันใจเด็กซึ่งตื่นขึ้นมาร้อง หรือไม่สะดวกในเวลาค่ำคืนที่พ่อแม่แสนจะง่วงและเพลีย สำหรับบ้านที่ไม่มีตู้เย็นสำหรับเก็บนมวิธีนี้เหมาะที่สุด

2. ชงทีละหลายๆ ขวด ตามจำนวนขวดที่เด็กกินใน 24 ชั่วโมง ตามขั้นตอนต่อไปนี้

(1) ชงในขวดแต่ละใบโดยตรง โดยตักนมใส่ขวดแล้วรินน้ำสุกอุ่นลงไปตามสัดส่วนที่กำหนด หรือชงในถ้วยตวงขนาดใหญ่ให้ถูกสัดส่วนมาตรฐานที่กำหนดไว้ คือนมผง 1 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 8 กรัม) ต่อน้ำ 2 ออนซ์ (60 cc) ก่อน แล้วแบ่งกรอกใส่ขวดๆ ละเท่าๆ กัน เช่น เด็กกินวันละ 6 ครั้งๆ ละ 4 ออนซ์ เราก็ชงในถ้วยตวง 24 ออนซ์ โดยใส่น้ำสุก 24ออนซ์ แล้วเติมนมผง 12 ช้อนโต๊ะ ใช้ช้อนคนให้เข้ากันจึงกรอกใส่ขวดๆ ละ 4 ออนซ์ 6 ขวดใส่หัวนมและครอบฝาหัวนมด้วย

(2) นำขวดนมทั้งหมดใส่หม้อนึ่งฆ่าเชื้อโรค นึ่งนาน 15-20 นาที จับเวลาตั้งแต่น้ำเดือด และในการนำขวดลงนึ่งนั้นอย่าปิดฝาขวดให้แน่น เพราะเมื่อขวดได้รับความร้อนขยายตัวออกจะทำให้ฝารัดแน่น แต่เมื่อจะนำขวดนมเข้าเก็บในตู้เย็นจึงจะหมุนเกลียวเข้าไปให้แน่นพอดี

(3) ยกลงจากเตาแล้วตั้งทิ้งไว้ทั้งหม้อรอให้ความร้อนลดลงจนเย็นแล้ว จึงเก็บเข้าในตู้เย็นที่มีความเย็นประมาณ 40°F

การชงนมตามวิธีที่ 2 นี้ จะได้น้ำนมที่สามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอดวัน เมื่อต้องการให้เด็กกินก็เอาออกจากตู้เย็นให้เด็กดูดกินได้เลยไม่จำเป็นต้องอุ่นอีก เพราะไม่ทำให้ปวดท้องหรือมีอาการผิดปรกติแต่อย่างใด ในเวลากลางคืนถ้าขี้เกียจเดินลงมาหยิบนมจากตู้เย็นข้างล่าง ก็อาจเอา ขวดนมสัก 2-3 ขวดตามจำนวนที่เด็กต้องการในคืนหนึ่งๆ แล้วใส่น้ำแข็งลงรอบๆ ขวดตั้งไว้ข้างเตียงนอน เมื่อลูกหิวตื่นขึ้นมาปลุกในเวลาดึก เพียงแต่เอื้อมมือเปิดกระติกนํ้าแข็งข้างๆ เตียงก็เสร็จเรื่องแล้ว ทำให้โลกนี้น่าอภิรมย์ขึ้นอีกเยอะใช่ไหม

แต่ถ้าตะขิดตะขวงใจที่จะให้ลูกกินนมเย็น หรือลูกกินนมเย็นๆ ไม่ได้ ก็ให้ดัดแปลง สูตรการผสมนมเสียใหม่สักเล็กน้อย โดยแทนที่จะผสมนมในสัดส่วน 1 : 2 (คือนม 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ออนซ์) ก็เปลี่ยนเป็นสัดส่วน 1:1 (คือนม 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ออนซ์) เสีย เมื่อนำน้ำนมออกจากตู้เย็นเพื่อจะให้เด็กกินก็เติมน้ำอุ่นจากกระติกน้ำร้อนลงไปเท่าตัว ก็จะได้น้ำนมที่มีสัดส่วน 1:2 ถูกต้องตามต้องการและได้น้ำนมที่อุ่นพอดี รวดเร็วไม่ต้องมือไม้สั่น เพราะลูกร้องไม่ทันใจ ไม่ต้องเสียเวลาอุ่นอีก ตัวอย่างเช่น จะชงนมให้ลูกวันละ 24 ออนซ์ ลูกดื่มครั้งละ 4 ออนซ์ วันละ 6 ครั้ง เราก็ตวงนมผง 12 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำสุกให้ได้ 12 ออนซ์ ก็จะได้สัดส่วน 1 : 1 แบ่งใส่ขวด 6 ขวดๆ ละ 2 ออนซ์ เสร็จแล้วก็นึ่งฆ่าเชื้อดังข้อ (2) แล้วเก็บเข้าตู้เย็นดังข้อ (3) เมื่อถึงเวลาจะให้นมลูก ก็เติมน้ำร้อนลงไปอีกขวดละ 2 ออนซ์ รวมเป็น 4 ออนซ์ ก็ได้สัดส่วน 1 : 2 ถูกต้อง และได้น้ำนมที่อุ่นพอดี และเด็กไม่ต้องรอนานอีกด้วย

ตารางสูตรและการใช้นมผสมในอายุต่างๆ กัน
ของคณะอนุกรรมการสาขาโภชนาการทารกและเด็กวัยก่อนเรียน ในคณะกรรมการโภชนาการแห่งชาติ

อายุ

ชนิดของนม

น้ำตาลช้อนชา

เติมน้ำจนครบออนซ์

ให้มื้อละออนซ์

จำนวนมื้อใน 1 วัน

นมผงจืดช้อนโต๊ะ

นมผงหวานช้อนโต๊ะ

นมข้นจืดออนซ์

12 ชั่วโมงแรก
12 ชั่วโมงหลัง ½ ½ 3
2-3 วัน ½ ช้อนชา ½ ช้อนชา ½ ช้อนชา 1 1 6
4-6 วัน 2 ช้อนชา 2 ช้อนชา 2 ช้อนชา ½ 2 2 6
7-10 วัน 1 1 1 1 3 2 ½ -3 6
11 วัน-1 เดือน 1-1 ½  1-1 ½  1-1 ½  1 3-4 ½ 3-4 ½ 6
1-2 เดือน 1 ½ -2 1 ½ -2 1 ½ -2 1 4 ½ -5 4 ½ -5 5-6
2-3 เดือน 2-2 ½ 2-2 ½ 2-2 ½ 1 5-6 5-6 5-6
3-4 เดือน 2 ½-3 2 ½-3 2 ½-3 ½-1 5-7 5-7 4-5
4-6 เดือน 3-3 ½ 3-3 ½ 3-3 ½ ½-1 6-7 6-7 4-5
6-12 เดือน 3-4 3-4 6-8 6-8 4-5
เกิน 12 เดือน 3 4 8 8 2-3

จะให้นมทารกวันละกี่ครั้ง ปฏิบัติเช่นเดียวกับการให้ทารกดื่มนมมารดา คือกะเวลารับประทานให้ดื่มห่างกันทุก 3-4 ชั่วโมง แต่ถ้าทารกหิวก่อนเวลาที่กะไว้ก็ให้ดื่มได้ แต่ไม่ถึงกับปลุกให้ลุกขึ้นดื่มถ้าเด็กกำลังหลับ นั่นคือยึดถือสายกลาง ไม่เคร่งครัดต่อเวลา เพราะถือว่าเด็กอายุน้อยดื่มครั้งละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ ส่วนอายุมากขึ้นดื่มครั้งละมากๆ แต่ดื่มน้อยครั้งกว่า และธรรมชาติของเด็กแต่ละคนจะจัดเวลาในการดื่มของเขาเองว่าวันละกี่ครั้ง เวลาไหนบ้าง

ควรให้ครั้งละเท่าไร นมที่ชงโดยสูตรมาตรฐาน จะมีค่าของอาหาร 20 แคลอรี / ออนซ์ ในวันหนึ่งๆ เด็กต้องการประมาณ 90-110 แคลอรี ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วแต่เด็กเล็กเด็กโต ด้วยเด็กยังเล็กยังต้องการจำนวนแคลอรีต่อน้ำหนักตัวมาก เพราะฉะนั้นก็อาจจะคำนวณจำนวนที่เด็กต้องการในแต่ละวันได้คร่าวๆ ว่าเด็กอายุ 5 เดือนแรก ต้องการนมประมาณวันละ 5-6 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ใน 6 เดือนหลัง ควรได้นมวันละ 4-5 ออนซ์ ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม นั่นคือเด็กอายุ 3 เดือน ถ้าหนัก 6 กิโลกรัม ควรจะได้นมประมาณวันละ 600 แคลอรี แต่นมชงออนซ์ละ 20 แคลอรี ดังนั้นเด็กต้องการนมวันละ 30 ออนซ์ แบ่งให้ 31-4 ออนซ์ ทุก 3 ชั่วโมง หรือ 5-6 ออนซ์ทุก 4 ชั่วโมง

แต่ในทางปฏิบัติเรามักให้เด็กกินตามชอบใจ เพราะถือว่าตามธรรมชาติแล้วเด็กอายุ 1 เดือนสามารถปรับเวลาและปริมาณของนมได้เอง พ่อแม่จึงควรสังเกตว่าบุตรของท่านว่ามักดูดนมเวลาใดและสามารถดูดได้มากที่สุดครั้งละกี่ออนซ์ ดังนั้นถึงแม้เด็กจะกินได้มากกว่าที่คำนวณ ถ้าไม่อาเจียนหรือมีอาการผิดปกติแต่อย่างใดแล้วก็ไม่น่าขัดข้องอะไร พึงระลกว่าการให้นมแต่ละครั้งมากพอนั้น เด็กจะอิ่มและนอนหลับสบาย ถ้าให้แต่ละครั้งน้อยเกินไป เด็กจะร้องไห้กวนบ่อยๆ เพราะหิว แต่อย่างไรก็ดีหากเด็กต้องการนมมากกว่าวันละ 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร หรือ 1 ลิตร หรือประมาณ 34 ออนซ์ (ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 1 เดือนขึ้นไปแล้ว) ควรที่จะต้องหาอาหารอย่างอื่นที่อยู่ท้องมาเสริมได้แล้ว ไม่ควรให้เด็กดื่มนมอย่างเดียวเกินวันละ 1 ลิตร อย่างมากที่สุดควรได้น้ำนมวันละประมาณ 32-34 ออนซ์ ถ้าเด็กยังหิว ก็ควรจะเสริมด้วยอาหารประเภทแป้งเช่น น้ำข้าว หรือข้าวครูด เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้อิ่มอยู่นาน

การให้ลูกดูดนม
การให้เด็กดูดนมขวดไม่ควรปล่อยให้เด็กดูดนมเอง โดยใช้ผ้าหรือ หมอนรองหนุนขวดเพราะเด็กอาจสำลักนมเป็นอันตรายได้ง่าย ควรอย่างยิ่งที่แม่หรือคนเลี้ยงอุ้มเด็กทานนมในท่าที่เหมือนกับให้เด็กดูดนมของเราเอง โดยให้ห*วนมของขวดนมอยู่ในระด’นเดียว- กบห*วนมของเรา ทั้งนี้เพื่อให้การไหลของน้ำนมลงไปตามอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายตามลำดับอย่างถูกต้อง จะช่วยไม่ให้เด็กสำลัก และในการให้เด็กดูดน้ำนมจากขวด ต้องคอยเอียงขวดให้หัวนมและคอขวดมีน้ำนมเต็มอยู่เสมอเพื่อป้องกันมิให้เด็กดูดลมเข้าไป อันจะทำให้เด็กท้องอืด เพราะมีลมอยู่ในท้องมากเกินไป เมื่อเด็กดื่มนมเสร็จแล้วควรจะอุ้มพาดบ่าลูบหรือตบหลังเบาๆ เพื่อให้เด็กเรอ จะช่วยให้เด็กสบาย ไม่อึดอัด

การอุ้มเด็กให้ดื่มนมช่วยให้เด็กเกิดความอบอุ่น สุขภาพจิตดี และยังช่วยให้แม่ได้มีโอกาสตรวจดูเนื้อตัวของเด็กได้อย่างถี่ถ้วนอีกด้วย

ปัญหาการเปลี่ยนนมให้เด็กเมื่ออายุ 6 เดือน โดยปรกติเมื่อเด็กอายุประมาณ 6 เดือน ควรจะเปลี่ยนนมจากนมคล้ายนมคนเป็นนมแท้หรือนมผงครบส่วน เพื่อให้เด็กได้รับปริมาณสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะโปรตีนอย่างเพียงพอแก่การเจริญเติบโตของร่างกาย แต่การเปลี่ยนนมในเด็กบางคนอาจจะมีปัญหาบ้าง เช่น
1. เด็กไม่ยอมรับนมที่เปลี่ยนให้ใหม่ ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะเด็กยังไม่เคยชินกับกลิ่นและรสใหม่
2. ปัญหาเรื่องท้องผูก เด็กที่เปลี่ยนนมจากนมคล้ายนมคนมาเป็นนมผงครบส่วนอาจจะมีอาการท้องผูก
3. เด็กบางคนจะอาเจียน ซึ่งอาจจะเนื่องจากเด็กรับประทานน้ำนมมากเกินไป หรือเด็กดูดนมจากขวดไม่ถูกต้อง ทำให้ดูดอากาศเข้าไปมาก หรืออาจจะเกี่ยวกับความไม่สมดุลยของ อาหารที่รับประทานด้วย

ปัญหาต่างๆ ที่ประสบไม่ควรท้อแท้ใจ หรือวิตกกังวลเพราะนั่นเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก เราควรจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยเริ่มต้นให้จำนวนน้อยๆ ก่อนในมื้อแรกๆ จากนั้นคอยสังเกตอาการตอบโต้ของเด็ก เช่น ยอมรับสักนิดไหม ถ้าเด็กไม่ยอมรับก็ไม่ควรฝืนใจ คงให้นมที่เขาเคยกินต่อไปก่อน และพยายามให้นมใหม่นี้อีกวันละเล็กวันละน้อย โดยสลับกับนมเดิมบ้างก็ได้และในที่สุดเด็กก็ยอมรับนมใหม่ทั้งหมดได้เอง ในการเริ่มให้ในระยะแรกๆ ครั้งละน้อยๆ จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องท้องผูกและอาเจียนเพราะนมใหม่ได้ด้วย
ในกรณีที่ไม่สามารถจะให้นมแท้แก่เด็กได้จะด้วยเหตุใดก็ตาม จะเลี้ยงด้วยนมคล้ายนมคนต่อไปก็ได้ แต่ควรจะเพิ่มปริมาณโปรตีนให้เพียงพอด้วยอาหารเสริมต่างๆ

สูตรทำน้ำนมให้ทารกแบบประหยัด
เนื่องจากขณะนี้ราคานมผงคล้ายนมคนแพงกว่านมผงครบส่วนมาก ดังนั้นถ้าซื้อนมผงครบส่วนมาทำเป็นนมผงคล้ายนมคนให้เด็กแรกเกิดก็
ย่อมจะประหยัดเงินได้มาก ในการทำใช้สูตรดังนี้
นมผงครบส่วน    1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาล        1 ช้อนชา (5 กรัม)
น้ำสุก        3 ออนซ์ (90 cc)

จากสูตรนี้จะได้ปริมาณน้ำนมมากขึ้น คือได้ถึง 3 ออนซ์ ดังนั้นราคาก็ ยิ่งจะถูกลงอีก สำหรับปริมาณคุณค่าอาหารนั้น ก็จะได้ครบถูกต้องเท่ากับที่ได้จากนมคล้ายนมคน ซึ่งจะคิดให้ดูง่ายๆ ดังนี้
นมผงครบส่วน     1 ช้อนโต๊ะ        ให้ 40 แคลอรี่
น้ำตาล         1 ช้อนชา          ให้ 20 แคลอรี่
ดังนั้นจะได้แคลอรี่ทั้งหมด              60 แคลอรี่
ปริมาณ 60 แคลอรี่นี้ได้จากนม 3 ออนซ์ ก็เท่ากับนม 1 ออนซ์ ให้ 20 แคลอรี่

สำหรับน้ำตาลที่ใช้เติมในน้ำนม เพื่อความสะดวกและปลอดภัยขอให้ใช้น้ำตาลกลูโคส (glucose) หรือน้ำตาลป่นที่สะอาดเติมลงไป

การหย่านมขวด
เด็กจะพร้อมที่จะหย่านมขวดได้เมื่ออายุประมาณ 1 ½ ขวบขึ้นไป แต่ ถ้าไม่จำเป็นควรให้เด็กได้ดื่มนมขวดไปเรื่อยๆ เพราะจะเป็นการช่วยในการเสริมโปรตีน โดยการเปลี่ยนมาให้ดื่มจากถ้วยทีละน้อยๆ เช่นครั้งละอึกก่อน แล้วค่อยเพิ่มปริมาณให้มากขึ้น อาจจะให้เริ่มหัดดื่มจากถ้วยตั้งแต่อายุประมาณ 6 เดือน ถ้วยที่ใช้ดื่มควรทนทานไม่แตกง่าย และมี สีสันหรือลวดลายเป็นรูปตุ๊กตา จะจูงใจให้อยากดื่มนมหรือน้ำจากถ้วยนั้นได้มากขึ้น

ที่มา:ค้วน  ขาวหนู
วท.บ.(สุขศึกษา).ค.ม.

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า