สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จินตภาพบำบัดหรือการใช้จินตนาการและการคิดภาพขึ้นในใจ(Imagery and Visualization)

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีคำเรียกในภาษาอังกฤษได้หลายอย่าง เช่น ครีเอทีฟอิมเมเจอรี่(Creative Imagery) ไกเด็ด อิมเมเจอรี่(Guided Imagery) เมนทัล อิมเมเจอรี่(metal Imagery) และครีเอทีฟ วิช่วลไลเซชั่น(Creative Visualization) ซึ่งคำเหล่านี้สามารถใช้แทนกันได้ทั้งหมด เป็นการใช้ภาพลักษณ์หรือสัญลักษณ์เพื่อพุ่งความคิดมาที่การทำงานของร่างกายและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพทางสรีระที่แท้จริงขึ้น

จินตภาพบำบัด ในทางปฏิบัติจะเป็นการสร้างความคิดและภาพลักษณ์ในเชิงบวกขึ้นในใจแล้วสื่อไปยังร่างกายเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่ปรารถนา สามารถนำวิธีการนี้มาใช้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด รักษาโรค หรือเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมได้

รูปแบบของจินตภาพบำบัดมีอยู่หลากหลาย เป็นภาษาที่สื่อรู้กันระหว่างร่างกายกับความคิดจิตใจ สามารถรับรู้ได้ทั้งในลักษณะของการเห็นเป็นภาพ การได้ยินเสียง การได้รับรู้เป็นความรู้สึก เป็นกลิ่นหรือรส

แม้ว่าจินตนาการจะเกี่ยวพันกับสิ่งที่เหลือเชื่อ สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หรือเป็นการฝันกลางวัน แต่มันก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการจินตภาพบำบัด มันสามารถสร้างภาพของสิ่งที่ปรารถนาให้เกิดขึ้นได้ในความคิด

ได้รับการยอมรับจากขนบประเพณีและวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งมวลที่ล้วนต่างก็เข้าใจว่าจินตภาพนั้น จะทำให้มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมของชีวิตของตนได้ และนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 มาแล้วที่ได้มีการสำรวจถึงบทบาทของจินตภาพที่มีต่อการกำหนดความมีสุขภาพดีและความเจ็บไข้ได้ป่วยกันอย่างเป็นระบบของนักวิจัยและแพทย์ทั่วสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

ข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ปัจจัยทางจิตวิทยาสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มีอยู่มากมาย หรืออาจกล่าวได้ว่า ความเกี่ยวพันระหว่างกายกับความคิดจิตใจนั้นมีอยู่จริง

ยังคงเป็นเรื่องลึกลับเกี่ยวกับการทำงานของกลไกจินตภาพ ถ้ามองในแง่ของการเป็นเครื่องมือในการเยียวยารักษาแล้วมันจะมีลักษณะของความเป็นองค์รวมสามารถรับรู้ถึงความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างร่างกายกับความคิดจิตใจได้ โดยผู้ที่ต้องการหายจากโรคต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการรักษาอย่างมีจิตสำนึก หรือด้วยความตั้งใจมั่น

แม้จะพิสูจน์แล้วว่าจินตภาพบำบัดมีประสิทธิภาพในด้านสรีระ แต่ก็ยังสามารถนำมาใช้ในการเยียวยารักษาได้ในขอบเขตที่กว้างขวางยิ่งไปกว่านั้นอีก คือ สามารถช่วยให้มองลึกเข้าไปถึงบริเวณอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้ฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ของชีวิต หรือรักษาสิ่งที่ทำได้แล้วให้คงไว้ และอาจรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสไตล์การดำเนินชีวิต ทัศนคติ ภาวะทางอารมณ์ หรือความสัมพันธ์ได้ด้วย

จินตภาพสามารถนำมาใช้กำจัดสิ่งเลวร้ายที่เกิดกับร่างกายในแบบต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง เช่น การปวดศีรษะเพราะความเครียด และในโรคที่คุกคามชีวิต สำหรับสภาวะที่มีสาเหตุมาจากความเครียด หรือเลวร้ายลงเพราะความเครียด การใช้จินตภาพจะได้ผลดีเป็นพิเศษ

เรื่องราวที่เล่าต่อกันมาและมีหลักฐานระบุว่า สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งขึ้นในร่างกายได้ด้วยจินตภาพ เช่น การรักษามะเร็ง หรือทำให้มันหยุดกำเริบ ลดความดันโลหิต ลดหรือกำจัดความเจ็บปวดของร่างกายทุกส่วน

จินตภาพยังมีผลกระทบต่อการเพิ่มพลังวังชาและฝีไม้ลายมือในการแข่งขันของนักกีฬาด้วย สามารถทำให้นักกอล์ฟเหวี่ยงไม้กอล์ฟได้อย่างดีเยี่ยม นักกระโดดน้ำก็สามารถดำดิ่งได้อย่างสวยงาม ส่วนนักกีฬาประเภทอื่นๆ ก็เกิดผลในทำนองเดียวกันนี้

การรักษาในรูปแบบอื่นๆ ก็มักจะมีความจำเป็นด้วยเหมือนกัน เพราะจินตภาพบำบัดไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ทุกประเภท โดยที่จินตภาพบำบัดจะเป็นส่วนเสริมของการรักษาบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ ที่ให้คุณและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะใช้การบำบัดรักษาประเภทไหนนับตั้งแต่การแพทย์แผนปัจจุบันและการผ่าตัด ไปจนถึงวิธีการที่มีลักษณะเป็นองค์รวมยิ่งกว่านั้น
ความรับผิดชอบและความสำเร็จในบั้นปลายของเทคนิคนี้ จะขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นผู้สร้างจินตภาพขึ้นเอง มันจึงเป็นเครื่องมือในการช่วยตนเองได้อย่างวิเศษอย่างหนึ่งแม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องจินภาพบำบัดคอยชี้แนะอยู่ด้วยก็ตาม

มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มากมาย ส่วนหนังสือที่ดีมากเป็นหนังสือที่มีชื่อว่า Healing Yourself: A Step-By-Step Program For Better Health Through Imagery ของนายแพทย์มาร์ติน แอล. รอสแมน(Martin L. Rosman) และอีกเล่มหนึ่งคือ Pyscheye: Self-analytic Consciousness ของ ดร. อัคห์เตอร์ อาห์เชน(Akhter Ahsen)

เรียบเรียงโดย:สุวิชญ์ ปรัชญาปารมิตา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า