สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดReassurance

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 4 เรียกว่า Reassurance
คือ การให้คำมั่นใจหรือให้กำลังใจแก่คนไข้ ได้กล่าวแล้วว่า การตรวจร่างกาย เป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่คนไข้อย่างหนึ่ง แต่ในที่นี้จะพูดถึงในประเด็นที่แตกต่างกัน

การให้คำมั่นใจหรือให้กำลังใจแก่คนไข้นี้ ต้องตั้งอยู่บนรากฐานของความจริงและจริงใจ สมมติว่าแพทย์บอกคนไข้ว่าอีก 2 สัปดาห์จะหาย แต่คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลอีกตั้ง 2 เดือน ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหาย การให้คำมั่นสัญญาผิดๆ เช่นนี้ เป็นอันตรายมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้คนไข้ไม่มีความศรัทธาในตัวแพทย์อีกต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่มีประสบการณ์และความเชื่อมั่นอย่างแท้จริงแล้ว ก็อาจ ให้คำมั่นสัญญากับคนไข้ได้ ถ้าแพทย์ทำด้วยความจริงใจ เช่น ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลไม่มาก และสามารถรักษาให้หายได้ แพทย์ก็สามารถบอกคนไข้ได้ หรือในบางกรณี ถ้าญาติผู้ป่วยเป็นโรคจิตและผู้ป่วยมีความกังวลใจว่า ตนเองจะเป็นโรคจิตด้วย ถ้าแพทย์ตรวจแล้วไม่พบอาการดังกล่าว ก็สามารถให้คำมั่นสัญญากับคนไข้ได้

ในบางกรณี ผู้ป่วยบางคนอาจจะมีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น เช่น มีความคิดในเรื่องเพศแบบแหวกแนว พิสดาร หรือคิดโกรธแค้น อยากทำร้ายผู้อื่นตลอดเวลา เป็นต้น ถ้าแพทย์มีความรู้ว่า ความคิดประเภทนี้เกิดขึ้นได้ในทุกๆ คน แต่ถ้าไม่มีการกระทำร่วมด้วย และไม่รบกวนคนไข้จนทำงานไม่ได้แล้วไม่ถือว่าเป็นสิ่งผิดปกติ แพทย์ก็อาจพูดกับผู้ป่วยว่า ที่เขากลัวว่าตนจะเป็นโรคจิตหรือวิกลจริตนั้น เป็นเรื่องที่คนไข้หวาดกลัวไปเอง ไม่มีทางจะเป็นไปได้ หรือในบางรายที่คนไข้มีอาการซึมเศร้าจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงมากและอาการซึมเศร้า ก็ไม่ได้มีมากนัก แพทย์ก็อาจจะให้คำมั่นและให้กำลังใจแก่คนไข้ได้ว่า เขาจะหายเป็นปกติได้ แต่อย่างไรก็ตาม ขอเตือนอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าแพทย์เองยังไม่แน่ใจแล้ว อย่าให้คำมั่นสัญญาผิดๆ เป็นอันขาด

แพทย์บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ที่จบใหม่ และยังมีประสบการณ์น้อย จะ รู้สึกอึดอัดหรือเสียหน้า เมื่อคนไข้ถามว่า “ผมจะหายหรือไม่ ?” ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เพราะว่า แพทย์เองก็ยังไม่ทราบว่าผู้ป่วยจะหายหรือไม่ ครั้นจะตอบว่า ไม่ทราบ ก็กลัวจะเสียหน้า เป็นต้น หลักในการตอบคนไข้ก็คือพูดความจริง ถ้ายังไม่ทราบก็ตอบตามความเป็นจริง และพูดในลักษณะที่นิ่มนวล เป็นมิตรและจริงใจแก่คนไข้ ถ้าคนไข้เป็นโรคจิตเวชที่ยากๆ จะพูดกับคนไข้อย่างไรนั้น จะกล่าวโดยละเอียดในบทที่เกี่ยวกับการทำจิตบำบัดชั้นสูง ปัญหาในขณะนี้ก็คือ ถ้าคนไข้เป็นโรคทางกาย ซึ่งมีทั้งรักษาให้หายได้ และรักษาไม่หาย หรืออาจจะต้องตาย แพทย์ควรจะพูดกับคนไข้อย่างไร

ถ้าเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร คือบอกความจริงกับคนไข้ ถ้าเป็นโรคที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด เช่น ความดันโลหิตสูงบางชนิด หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น

แพทย์ต้องพูดความจริงกับคนไข้ แต่ต้องค่อยๆ พูดจาในลักษณะที่นิ่มนวล พร้อมที่จะให้คนไข้ได้มีโอกาลระบายความรู้สึกว่า การที่เขาเป็นโรคเรื้อรังนี้ เขามีความรู้สึกอย่างไร คนไข้ อาจจะปฏิเสธความจริงเอาดื้อๆ หรือโกรธเคือง โทษคนอื่น บางรายอาจจะโกรธเคืองแพทย์ด้วย และบางรายก็แสดงความเป็นศัตรูกับแพทย์อย่างเปิดเผยก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไข้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ไม่ดีกับ Authority มาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าแพทย์มีความอดทน สามารถทนฟังคนไข้ระบายความรู้สึกที่ไม่ดีได้ ผลการรักษาก็จะดียิ่งขึ้น คนไข้จะร่วมมือกับแพทย์ มากขึ้น ทำให้ผลการรักษาเป็นไปในทางก่อประโยชน์ทั้งแก่ตัวแพทย์และคนไข้ด้วย

ปัญหาสุดท้ายสำหรับโรคทางกายก็คือ ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายและจะต้องตายภายในระยะเวลาไม่นาน จะทำอย่างไร ควรจะบอกความจริงแก่คนไข้หรือไม่    แพทย์ฝ่ายกายส่วนมากมักจะมีความคิดเห็นว่า ควรจะบอกญาติเท่านั้น ไม่ควรจะบอกคนไข้    เพราะจะทำให้คนไข้หมดกำลังใจและถึงแก่กรรมเร็วขึ้น

จากการศึกษาของจิตแพทย์หลายท่านพบว่า คนไข้ทุกคนรู้ตัวดีว่าตนจะต้องตาย ยกเว้นในรายที่ต้องตายทันที เช่น โรคหัวใจวายอย่างเฉียบพลัน ซึ่งคนไข้ไม่มีเวลาสำหรับคิด เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาว่าควรจะทำอย่างไรดี จิตแพทย์พบว่าคนไข้ส่วนมากจะมีปฏิ กิริยาโต้ตอบเมื่อทราบว่าตนจะต้องตาย ดังต่อไปนี้

ระยะแรก จะปฏิเสธว่า ไม่จริง แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยผิดแน่ๆ เรียกว่า Denial ระยะที่สอง ผู้ป่วยจะโกรธแค้นมาก อาจจะใช้สำนวนที่ชอบพูดกันสมัยนี้ว่า “ทำไม ถึงต้องเป็นเรา?” ระยะนี้เรียกว่า Anger ระยะที่สาม ผู้ป่วยจะมีอาการซึมเศร้า หรือ Depression ระยะที่สี่ ผู้ป่วยจะใช้การต่อรอง เช่น ขอให้ทำงานเสร็จเสียก่อน เป็นต้น เรียกว่า Bargaining และระยะสุดท้ายผู้ป่วยจะยอมรับความจริง เรียกว่า Acceptance

เมื่อเป็นอย่างนี้ จิตแพทย์ส่วนใหญ่จึงมีความเห็นว่า การที่จะบอกให้คนไข้รับทราบหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของคนไข้แต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร ถ้าคนไข้สุขภาพจิตดี มีกำลังใจมั่นคง ก็ควรจะบอกให้เขาทราบความจริง เพราะว่าเขาจะได้มีเวลาจัดการกับตัวเอง หรือมีเวลาทำในสิ่งที่เขาต้องการจะทำในวาระสุดท้ายของชีวิต ส่วนผู้ป่วยที่มีสุขภาพจิตไม่ดี มีความหวาดกลัวมาก จิตแพทย์ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ว่า ควรจะบอกให้คนไข้ทราบหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้รักษาจะต้องไม่แสดงอาการผิดปกติธรรมดา หรือทอดทิ้งคนไข้ เพราะจะทำไห้คนไข้ผิดหวัง และเสียกำลังใจมากขึ้นไปอีก

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคประสาท มีความวิตกกังวลว่า ตนเป็นคนโง่ ไม่อาจเรียน หรือทำงานสูงๆ ได้ ถ้าแพทย์ตรวจคนไข้แล้ว พบว่าผู้ป่วยไม่ได้โง่ แพทย์อาจจะสร้างความมั่นใจ หรือให้กำลังใจ โดยวิธีส่งตรวจความเฉลียวฉลาดที่เรียกว่า I.Q. Tests ถ้าแพทย์มีความแน่ใจว่า ความเฉลียวฉลาดของผู้ป่วยนั้น สูงเกินกว่าที่ผู้ป่วยมีความวิตกกังวล ผลการ ตรวจ I.Q. นี้ จะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ป่วยได้ มีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ คือ คนไข้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามากๆ และคิดว่าตนเองต่ำต้อย หรือโง่เง่า ในภาวะอย่างนี้ จะทำให้ขบวนความคิดของคนไข้ช้าไปด้วย ถ้าตรวจ I.Q. จะพบว่าต่ำเกินความเป็นจริง ในกรณีเช่นนี้ ไม่ควรทำ I.Q. Tests เพราะเท่ากับว่าเป็นการยืนยันความคิดของคนไข้ ที่คิดว่าตนเองต่ำต้อยหรือโง่เง่า

แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ทุกท่านจะต้องทราบไว้ด้วยว่า การให้กำลังใจหรือสร้างความมั่นใจแก่คนไข้นี้ จะใช้ไม่ได้ในหลายกรณี และวิธีนี้ เป็นวิธีชั้นต้นวิธีหนึ่งเท่านั้น ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาที่ยากและลึกๆ ในจิตใจ จะใช้ไม่ได้ผล การที่เรียนให้ทราบอย่างนี้ ก็เพราะว่าแพทย์หลายท่านจะไม่พอใจ หรืออาจจะโกรธเคืองคนไข้ เพราะว่าจิตบำบัดชนิดนี้ใช้ไม่ได้ผล ทำให้แพทย์รู้สึกว่าตนไม่ได้เป็น Authority อย่างที่คิดไว้ และอาจจะรู้สึก “เสียหน้า” ร่วมด้วย

นักจิตวิเคราะห์อธิบายเรื่องนี้ว่า ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคประสาทนั้น มีอยู่ 2 ระดับคือ ระดับตื้นๆ หรือ Superficial Anxiety กับ ระดับที่ลึกๆ หรือ Deep Anxiety ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้า หรือ Depression ในบางรายนั้น เป็นกลไกของจิตใจ หรือ Defense เพื่อต่อต้านความคิด ความรู้สึก ความปรารถนา และจินตนาการที่เลวร้ายที่ผู้ป่วยมีอยู่ เช่น อยากทำร้ายผู้มีบุญคุณ เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ มโนธรรม หรือ Superego ของผู้ป่วย จะลงโทษโดยการทำให้เกิดอาการซึมเศร้า ซึ่งเป็นการลงโทษตัวของผู้ป่วยเอง เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยจึงมาพบแพทย์ด้วยอาการซึมเศร้า

ปัญหาต่อไปก็คือ เมื่อผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าเกิดขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะมี Anxiety หรือความวิตกกังวลเกิดขึ้นมาใหม่อีก เช่น กลัวว่าจะต้องป่วยหนัก ไม่มีทางหายจากโรค หรือคิดกลัวว่าตนจะต้องเป็นบ้า เป็นต้น สิ่งนี้คือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นมาใหม่ หรืออาจเรียก Secondary Anxiety ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ต้องเจ็บป่วย ไม่ใช่สาเหตุของการเจ็บป่วยโดยตรง

การใช้ Reassurance นั้น จะได้ผลดีเฉพาะ Secondary Anxiety เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังนับว่าเป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน และบางรายจะทำให้คนไข้ดีขึ้น หรือหายจากโรคได้ แต่ว่าการใช้ Reassurance นี้ ไม่ได้แก้ไขต้นตอ หรือ Deep Anxiety ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคโดยตรง

ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างจิตบำบัดชั้นต้น กับจิตบำบัดชั้นสูง คือ จิดบำบัดชั้นต้นสามารถจัดการกับ Secondary Anxiety หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Superficial Anxiety ส่วนจิตบำบัดชั้นสูงนั้น จะสามารถจัดการกับต้นตอคือ Deep Anxiety เมื่อทำให้คนไข้เข้าใจต้นตอของการเจ็บป่วยแล้ว จิตแพทย์หรือผู้ที่ทำจิตบำบัดชั้นสูง ก็จะสามารถใช้ Reassurance เข้าช่วยคนไข้อีกต่อหนึ่ง

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า