สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Suggestion Therapy

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 11 เรียกว่า Suggestion Therapy
หมายถึง การให้คำแนะนำแก่คนไข้ ในการทำจิตบำบัดชั้นสูงนั้น นักจิตบำบัด จะไม่ให้คำแนะนำปรึกษาแก่คนไข้เลย เพราะว่าต้องการให้คนไข้ช่วยตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะทำจิตบำบัดชั้นสูง ก็ยังมีบางเวลาที่จะต้องลดตัวลงมาให้คำแนะนำแก่คนไข้เหมือนกัน เช่นคนไข้กำลังอยู่ในสภาวะวิกฤตต่างๆ เป็นต้น เพราะฉะนั้น Suggestion Therapy จึงมีคุณค่ามากกว่าที่เราเคยคาดคะเนไว้

จากการศึกษาของจิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ พบว่า มนุษย์เรานั้น มักจะมีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังผู้อื่น ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใดก็ตาม พูดเก่ง แสดงอารมณ์เก่ง เล่นละครเก่ง มักจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่คล้อยตามหรือนิยมเลื่อมใส ที่เห็นได้ชัด ก็คือนักการเมือง ซึ่งถ้าพูดเก่ง แสดงอารมณ์เก่ง เล่นละครเก่ง ก็จะสามารถชักจูง หรือโน้มน้าวความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อย ให้มีความคิดเห็นคล้อยตามหรือนิยมชมชอบได้ การที่มนุษย์เรามีแนวโน้ม ที่จะถูกชักจูงได้อย่างนี้ จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์พบว่า มนุษย์เรานั้น เวลาฟังหรืออ่าน หรือดูการแสดงอะไรก็ตาม เรามักจะรู้สึกตาม “อารมณ์” ของเราเองเป็นส่วนมาก หาใช่ขึ้นอยู่ กับเหตุผล หรือความเป็นจริงไม่ ! ! !
สาเหตุต่อไปคือ มนุษย์เรานั้นมักจะคล้อยตามความเห็นของผู้อื่น เพราะว่าต้องการ “เอาใจ” หรือแสดงความสึภาพอ่อนโยน รักษาไมตรีจิตของผู้อื่นเอาไว้ ทั้งนี้ เป็นเพราะว่า การที่ไม่เป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่นนั้น เป็นสาเหตุของความวิตกกังวล วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราเป็นที่ยอมรับของผู้อื่นก็คือ ต้องคล้อยตามความเห็นของผู้อื่นบ้าง มีไมตรีจิตต่อผู้อื่นบ้าง และเอาใจผู้อื่นบ้าง จะเห็นได้ชัดว่า ความต้องการที่จะให้ผู้อื่นชอบและยอมรับเรานั้น เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องคล้อยตามความเห็นของผู้อื่น ในบางกรณีที่คนเราต้องคล้อยตามความเห็นของผู้อื่นจนมากเกินความพอดีนั้น อาจจะเนื่องมาจากชีวิตในวัยเด็กของบุคคลเหล่านี้ ขาดความอบอุ่น ไม่สามารถพึ่งตนเอง หรือถูกทอดทิ้ง จึงทำให้บุคคลเหล่านี้ “หวาดกลัว” และ “อ่อนไหว” ต่อการถูกทอดทิ้งเป็นอย่างมาก การที่ต้องคล้อยตามความเห็นของผู้อื่นจนเกินขอบเขตของความพอดี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีโทษ เพราะจะไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้

นอกจากนี้ บุคคลที่ต้องพึ่งผู้อื่นเป็นประจำ หรือเรียกว่า Dependency and Passivity มักจะนิยมชมชอบบุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้นำ มีอำนาจ และเด็ดขาด หรือเรียกว่า Authority บุคคลเหล่านี้จะมีความรู้สึกต่อ Authority เช่นเดียวกับเด็กเล็กๆ ที่มีความรู้สึกต่อบิดามารดา

สำหรับแพทย์นั้น ก็คือบุคคลที่เป็น Authority เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยจึงหวังความคุ้มครองป้องกันอันตราย และความรักความอบอุ่นจากแพทย์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางคนจะพยายาม “เอาใจ” แพทย์เสมอ เพื่อให้แพทย์รักผู้ป่วยเป็นการตอบแทน ผู้ป่วยหลายคนจะมีความรู้สึกทั้งในระดับที่รู้สึกตัวและในระดับจิตไร้สำนึกว่า แพทย์เป็น Omnipotent คือ รู้ทุกอย่าง สามารถบันดาลได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยจึงจำเป็นที่จะต้อง “เอาใจ” แพทย์ไว้เสมอ ความรู้สึกอย่างนี้ ทำให้ผู้ที่อ้างตัวเป็นแพทย์ทางไสยศาสตร์ สามารถรักษาผู้ป่วยโรคจิตเวชได้ในบางกรณี

เมื่อแพทย์เป็น Authority เช่นนี้ การให้คำแนะนำสั่งสอน หรือ Suggestion จะได้ผลในหลายกรณี ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลมาก และอยู่ในสภาวะวิกฤต เป็นต้น ในกรณีอย่างนี้ แพทย์อาจจะต้องตัดสินใจแทนผู้ป่วย หรือแนะนำผู้ป่วยว่าควรจะทำอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร ฯลฯ สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงบ้าง แต่ไม่ถึงกับวิกฤตนั้น แพทย์อาจจะให้คำแนะนำ หรืออธิบายถึงธรรมชาติของอาการเหล่านี้ และควรจะปฏิบัติตนอย่างไร แพทย์บางท่านมีความสามารถเป็นพิเศษที่จะให้คำแนะนำและชักจูงให้คนไข้มีศรัทธา ในตัวแพทย์ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้เหมือนกัน

แต่อย่างไรก็ตาม Suggestion Therapy นี้ ก็ใช้ไม่ได้ผลในหลายๆ กรณี เช่นเดียวกับจิตบำบัดชั้นต้นชนิดอื่นๆ จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์มีความเห็นว่า Suggestion Therapy ไม่ควรใช้ในกรณีต่อไปนี้

กรณีแรก ผู้ป่วยมีความเฉลียวฉลาด และสามารถเข้าใจการทำงานของจิตใจ ที่เรียกว่า Psychological Minded ผู้ป่วยประเภทนี้ต้องการการรักษาที่จะช่วยให้เขาเข้าใจตนเอง รวมทั้งเข้าใจว่า การที่เขาป่วย หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น เนื่องมาจากสาเหตุอะไร ซึ่งเรียกว่า Insight การให้คำแนะนำผู้ป่วยประเภทนี้ จะไม่ได้ผลเลย และในบางครั้งผู้ป่วยอาจจะดูถูก “ภูมิปัญญา” ของแพทย์ด้วย ทำให้แพทย์บางคนรู้สึกโกรธเคืองและเป็นศัตรูกับผู้ป่วย

กรณีที่สอง ในรายที่ผู้ป่วยต้องการการรักษาที่สาเหตุ และผู้ป่วยเองที่มีความสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า Insight ได้ รวมทั้งแพทย์เองก็มีความสามารถในการทำจิตบำบัด “ชั้นสูง” ได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นหญิง มีอาการนอนไม่หลับ และมีความดันโลหิตสูง เมื่อทำการตรวจดูพบว่าผู้ป่วยมีความเครียดมาก ทำให้เกิดอาการดังกล่าว สาเหตุของความเครียด พบว่า เกิดจากการทะเลาะเบาะแว้งกับแม่ผัวเป็นประจำ ถ้าจะใช้ Suggestion Therapy ก็จะสามารถลดอาการป่วยลงได้บ้างเป็นครั้งคราวเท่านั้น ในที่สุดก็จะมีอาการป่วยอีก ซึ่งอาจจะเปลี่ยนรูปเป็นอาการอย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้เพราะว่า ไม่ได้รักษาสาเหตุของการเจ็บป่วย การทำจิตบำบัดชั้นสูง หรือ Insight Psychotherapy นั้น เพ่งเล็งไปที่สาเหตุ คือให้ผู้ป่วยกับแม่ผัว เข้าใจว่า ที่ต้องทะเลาะกันเป็นประจำนั้น เนื่องมาจากสาเหตุอะไร และทำให้ทั้งสองฝ่ายเข้ากันได้ และปรองดองกัน และถ้าทำได้สำเร็จ ก็เท่ากับว่าได้รักษาสาเหตุของโรค ทำให้หายขาดได้

กรณีที่สาม คือเมื่อใช้ Suggestion Therapy แล้ว ผู้ป่วยยังไม่หาย หรือหายเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ในกรณีอย่างนี้ ต้องใช้จิตบำบัดชั้นสูง จึงจะได้ผล

กรณีสุดท้ายคือ ผู้ป่วยไม่เชื่อฟังแพทย์ ไม่ไว้วางใจ หรือมีความรู้สึกต่อแพทย์ ในทางที่ไม่ดี หรือในรายที่มีความรู้สึกต่อต้าน Authority

สรุปความว่า การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยนี้ ใช้ได้ในบางราย หรือใช้ในเมื่อไม่สามารถทำจิตบำบัดชั้นสูงได้ ตัวอย่างของการรักษาชนิดที่ใช้การชักจูงแนะนำอย่างรุนแรง ได้แก่ การสะกดจิตและแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในขณะที่ถูกสะกดจิต แต่โดยทั่วไปเราพบว่า ผลของการรักษาโดยวิธีสะกดจิตนั้นเป็นของที่ไม่ยั่งยืน คือมักจะไม่หายขาด

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า