สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Provision of Acceptable Outlets for Aggressiveness

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 18 เรียกว่า Provision of Acceptable Outlets for Aggressiveness
หมายความว่า คนเรานั้นมักจะมีปัญหาเกี่ยวกับ Aggressive Drive ของตนเอง ไม่สามารถหาทางออกที่เหมาะสม หรือสังคมยอมรับได้ จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์พบว่า ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มี Neurotic Conflict มาจากแรงผลักดันของจิตใจ คือ Aggressive Drive แรงผลักดันชนิดนี้ หมายถึง ความต้องการก้าวร้าวรุกราน ทำลายล้าง ต่อต้าน แก้แค้น ชิงดีชิงเด่น อิจฉาริษยา อาฆาตมาดร้าย ฯลฯ

เมื่อผู้ป่วยมีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นมา Superego ของผู้ป่วยก็จะลงโทษ ติเตียน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าได้กระทำผิดหรือ Guilt ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดอาการซึมเศร้า เป็นบาป เป็นที่น่าตำหนิติเตียน สมควรจะได้รับโทษ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ Ego ของผู้ป่วยก็จะพยายามต่อสู้ ขัดขวางความรู้สึกก้าวร้าวรุกรานเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมีพฤติกรรมในลักษณะก้าวร้าว ทำลายล้าง ฯลฯ

ผลของการต่อสู้ระหว่าง Ego กับแรงผลักดันของจิตใจหรือ Id ทำให้เกิดอาการของโรคประสาทได้หลายชนิด ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วย Hysteria ที่มีอาการเป็นอัมพาตของแขน อาจจะเนื่องมาจากต้องการทำร้ายผู้ใดผู้หนึ่ง แต่ Ego ของผู้ป่วยยอมไม่ได้ จึงทำให้แขนเป็นอัมพาดเสีย หรือผู้ป่วยที่กลัวเชื้อโรคและต้องล้างมือบ่อยๆ ทีเรียกว่า Compulsive Hand Washing อาจจะเนื่องมาจากความปรารถนาร้ายที่ต้องการทำร้ายผู้อื่น เมื่อจิตใจมีความปรารถนาที่ไม่ดี ผู้ป่วยจะใช้กลไกของจิตใจ และขบวนการคิดแบบ Primary Process Thinking (ดูรายละเอียดจากหนังสือ “คู่มือทฤษฎีจิตวิเคราะห์”) ทำให้เกิดพฤติกรรมใหม่ คือล้างมือ บ่อยๆ ซึ่งมีความหมายในระดีบจิตไร้สำนึกว่า เป็นการล้างความปรารถนาที่ไม่ดีของผู้ป่วย

เนื่องจากผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ป่วยเนื่องมาจาก Aggressive Drive ที่ไม่ได้รับการระบายออกอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าแพทย์หรือผู้รักษาสามารถหาทางออก สำหรับความก้าวร้าวรุกรานเหล่านี้ และทำได้โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยกับผู้ใดแล้ว ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้ดีขึ้นได้

วิธีหนึ่งที่จิตแพทย์นิยมใช้ก็คือ กระตุ้นให้ผู้ป่วยพูดถึงความรู้สึกของตนเองโดยเปิดเผย ตัวอย่างเช่น เราโกรธกับใคร เพราะอะไร หรือรู้สึกอย่างไรในเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ฯลฯ สำนวนภาษาอังกฤษเรียกวิธีนี้ว่า Ventilation หรือเรียกอย่างชาวบ้านว่า “Bring it up into the open” จิตแพทย์ที่หัว “ก้าวหน้า” มากๆ ถึงกับแนะนำว่า เด็กๆ ควรจะได้รับ อนุญาตให้แสดงความรู้สึกว่าเด็กเกลียดหรือโกรธบิดามารดาได้ และในบางครั้ง ควรจะให้เด็กๆ ทะเลาะกันบ้าง ด่าว่ากันบ้าง หรือชกต่อยกันบ้างเป็นครั้งคราว นอกจากนี้ ควรจะจัดให้มีการเล่นกีฬาชนิดที่ต้องออกกำลังมากๆ เช่น หัดชกมวย ชกกระสอบทราย เล่นฟุตบอล เทนนิส ฯลฯ

จิตแพทย์ที่มีความรู้ทาง Psychodynamic อาจจะสามารถหาทางระบายออกของ Aggressive Drive ของคนไข้แต่ละคนได้ดีกว่าแพทย์ฝ่ายกาย ตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยหญิงสาวรายหนึ่ง มีอาการถอนผมตนเอง จนศีรษะเกือบจะไม่มีผมเหลืออยู่เลย เมื่อได้ศึกษาผู้ป่วยรายนี้อย่างละเอียด พบว่าในระดับจิตไร้สำนึกของผู้ป่วยนั้น มีความรู้สึกเกลียดและอิจฉามารดา เพราะว่ามารดาเป็นคนที่มีผมสวยงามมาก จิตแพทย์จึงให้ผู้ป่วยวาดภาพมารดา โดยทำให้ภาพของมารดามีผมรกรุงรังน่าเกลียด เมื่อวาดภาพเสร็จแล้วก็ให้ผู้ป่วยขยำแล้วฉีกทิ้ง ทำให้ผู้ป่วย มีอาการดีขึ้นมากจนเป็นที่น่าพอใจ

สำหรับแพทย์ฝ่ายกาย ผู้เขียนไม่แนะนำให้ใช้วิธีเฉพาะเป็นคนๆ ไป ดังตัวอย่างที่กล่าวมา ควรจะใช้วิธีทั่วๆ ไป เช่น ชกมวย ชกกระสอบทราย ดูมวย เล่นกีฬาที่ต้องออกแรงมากๆ การหยอกล้อเพื่อนฝูงในลักษณะที่จะพอทนกันได้ การเขียนหนังสือที่แสดงความก้าวร้าวพอสมควร เป็นต้น แต่ทั้งนี้จะต้องเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับได้ด้วย

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า