สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Physical Examination as Psychotherapy

จิตบำบัดชั้นต้น
จิตบำบัดชั้นต้นนี้ ก็คล้ายคลึงกับจิตบำบัดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ที่เลือกนำมากล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อยต่างหากนี้ ก็เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญ และเพื่อให้ง่ายแก่การอธิบายและเข้าใจเท่านั้น จิตบำบัดชั้นต้นนี้ แบ่งออกเป็น 25 ชนิด แต่ละชนิดมีการเหลื่อมล้ำกันได้ คือ แยกจากกันไม่ได้ชัดเจน ในทางปฏิบัตินั้น เรามักจะใช้หลายๆ ชนิดรวมกันไปเสมอ คือ ในผู้ป่วยคนเดียวกันอาจจะใช้จิตบำบัดนี้ถึง  5 หรือ 6 ชนิด หรือในบางรายก็มากกว่านี้อีก

จิตบำบัดชั้นต้นนี้ เหมาะสำหรับแพทย์ฝ่ายกายทุกท่านที่สนใจและลองทำได้ โดยไม่ต้องพึ่งจิตแพทย์ จิตบำบัดชั้นต้นนี้ มีบางข้อที่ผู้จะกระทำจิตบำบัดต้องเป็นแพทย์ แต่ก็มีอีกหลายข้อที่นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ พยาบาลจิตเวช และผู้ที่สนใจในเรื่องนี้ อาจจะเลือกเอาไปใช้ได้ในบางกรณีที่เหมาะสม

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่  1 เรียกว่า Physical Examination as Psychotherapy
การตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ก่อนจะลงมือรักษาผู้ป่วยโดยวิธีจิตบำบัด ผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวล ใจสั่น หงุดหงิด นอนไม่หลับ ถ้าดูผิวเผิน อาจจะคิดว่าเป็นโรคประสาท แต่ว่าเมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว อาจจะเป็นโรคคอหอยพอกที่เป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์เป็นพิษก็ได้ ผู้ป่วยที่ปวดศีรษะบางราย ดูผิวเผินอาจคิดว่าเป็นโรคประสาท แต่เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดแล้ว ปรากฏว่าเป็นโรคทางประสาทวิทยา หรือประสาทศัลยกรรม เช่น เป็นเนื้องอกของสมอง เป็นต้น ส่วนการตรวจที่ใช้เครื่องมือพิเศษนั้น ควรจะกระทำให้สมบูรณ์ตามความจำเป็นทางวิชาการ เราพบเสมอว่า แพทย์มักจะใช้การตรวจพิเศษมากเกินความจำเป็นหรือน้อยเกินไปก็ด้ ตัวอย่างเรื่องจริงที่ผู้เขียนพบมามีดังนี้

ผู้ป่วยเป็นหญิงอายุ 18 ปี ไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยร้ายแรงอะไรมาก่อน คืนวันก่อนมาพบแพทย์ ผู้ป่วยไปฟังผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ปรากฏว่าผู้ป่วยสอบไม่ได้ คืนนั้น ผู้ป่วยนอนไม่หลับ วันรุ่งขึ้นมีอาการปวดมึนศีรษะเล็กน้อย จึงไปตรวจกับแพทย์คนหนึ่ง แพทย์ตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติอะไรเลย แต่ส่งผู้ป่วยไปทำการตรวจด้วยเครื่อง Computer ซึ่งต้องเสียเงินไปเป็นจำนวนหลายพันบาท ในกรณีนี้ถือว่ากระทำไปโดยเกินความจำเป็น

ในทางตรงกันข้าม แพทย์บางคนที่มีปัญหาในเรื่องการเงินของตนเอง แพทย์เหล่านี้มักจะประหยัดจนเกินความพอดี บางรายทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ เคยมีผู้รายงานว่า หลังจากตรวจทางร่างกายไม่ละเอียดพอ แพทย์ส่งคนไข้ไปพบนักจิตบำบัด เพื่อจะให้การรักษาโดยวิธีจิตบำบัด ผลปรากฏว่า ผู้ป่วยเป็นเนื้องอกในสมอง กว่าจะทราบได้ ก็สายเกินไปเสียแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดปัญหาขึ้นมาว่า ควรจะทำการตรวจพิเศษที่มีราคาแพงๆ แค่ไหน ในต่างประเทศที่เขามีการประกันสังคม เช่น ที่สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ นั้น เขาจะทำการตรวจพิเศษทุกอย่างเพื่อป้องกันความผิดพลาด สำหรับประเทศไทยเรา ประชาชนส่วนใหญ่ยากจน จะมีก็แต่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือลูกจ้างของธนาคารและ บริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าตรวจพิเศษจากที่ๆ ตนทำงานอยู่ เพราะฉะนั้น แพทย์ทั้งหลายควรจะใช้ดุลยพินิจของตนเองว่า จำเป็นจะต้องตรวจพิเศษราคาแพงๆ แค่ไหนจึงจะเป็นการสมควร

การตรวจร่างกายและการตรวจพิเศษที่มีความจำเป็นนี้ มีผลต่อจิตใจหลายอย่าง เช่น ในคนไข้ที่มีความวิตกกังวล กลัวจะเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เป็นต้น ถ้าบุคลิกภาพเดิมของคนไข้อยู่ในเกณฑ์ดีพอสมควรแล้ว เมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์ พบว่าตนไม่ได้เป็นโรคเหล่านี้ จะทำให้คนไข้มีความมั่นใจ และลดความวิตกกังวลไปได้ ในรายที่เป็นน้อยๆ ก็อาจจะหายป่วยเลยก็ได้

สิ่งที่สำคัญยิ่งในกรณีนี้ก็คือ แพทย์ต้องมีความมั่นใจในตนเอง ถ้าแพทย์แสดงความวิตกกังวลให้คนไข้เห็น จะทำให้คนไข้หวาดกลัวและวิตกกังวลเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ แพทย์ยังเป็นบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูงและมีอำนาจ ภาษาอังกฤษใช้ คำว่า Authority เนื่องจากผู้เขียนไม่สามารถหาคำแปลภาษาไทยที่ได้ความหมายชัดเจนและกะทัดรัด เหมือนคำในภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้น จึงขออนุญาตใช้คำเดิมในที่นี้

การที่แพทย์เป็น Authority นี้ มีความหมายเท่ากับเป็นบุคคลสำคัญและมีอำนาจ คือ เหมือนกับบิดามารดา ครูอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา ฯลฯ ผู้ป่วยเหล่านี้ เคยมีประสบการณ์ กับ Authority เหล่านี้ในวัยเด็กอย่างไร ก็จะถูกถ่ายทอดความรู้สึกอันนี้มายังแพทย์ด้วย ผู้ป่วย ส่วนมากเคยกลัวบุคคลดังกล่าวลงโทษหรือตำหนิติเตียนมาแล้ว เมื่อแพทย์แสดงไมตรีจิตที่ดีต่อผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นเหมือนกับว่า เมื่อจนยังเป็นเด็กเล็กๆ อยู่ ได้รับความรู้สึกเช่นนี้จากบิดามารดาของตน

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งในเรื่อง Authority นี้ ก็คือ ผู้ป่วยหลายคนมีความรู้สึกว่าตนได้กระทำผิด ความรู้สึกอันนี้ส่วนมากผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว คืออยู่ในระดับจิตไร้สำนึก จากการศึกษาของจิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์พบว่า ความรู้สึกที่ว่าตนได้กระทำผิดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเพศกับเรื่องความก้าวร้าว หรือความรู้สึกอยากทำลายล้างต่างๆ ที่พบบ่อยก็คือ ผู้ป่วยสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง สำส่อนทางเพศ เคยคิดร้ายต่อบิดามารดา เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ รู้สึกว่าตนได้กระทำผิดจึงสมควรจะถูกลงโทษ คือ เจ็บป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคที่เกี่ยวกับ อวัยวะเพศ หรือโรคที่มีความหมายใกล้เคียงกับเรื่องเพศ เช่น กลัวเป็นกามโรค กลัวเป็นมะเร็งของอวัยวะเพศ กลัวเป็นโรคลำไส้ ซึ่งมักจะมาจากความรู้สึกว่าตนได้กระทำผิด เพราะว่ามีความปรารถนาอยากร่วมเพศทางทวารหนัก เป็นต้น

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ซึ่งเป็น Authority และแพทย์ไม่ได้ลงโทษผู้ป่วย ก็เท่ากับว่าแพทย์ยกโทษให้ จึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกพ้นผิดและหายจากอาการของโรคได้

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า