สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Occupational Therapy

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 6 เรียกว่า Occupational Therapy
แพทย์ทั่วไปรู้จักจิตบำบัดชนิดนี้ดีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ การทำให้คนไข้มีเวลาว่างน้อยลง จะทำให้คนไข้โรคจิตโรคประสาทดีขึ้น แต่น่าเสียใจที่ว่าแพทย์ส่วนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ฝ่ายกายมีทัศนคติและท่าทีต่อการรักษาชนิดนี้ โดยถือว่าเป็นการลงโทษคนไข้ การรักษาโดยการ “ลงโทษ” คนไข้นั้น มีผลเสียมากกว่าผลดี แต่อย่างไรก็ตาม ในคนไข้บางคน การแสดงท่าทีเป็นการลงโทษแต่เพียงเบาๆ ก็อาจใช้ได้ผลดี แต่กับคนไข้ส่วนใหญ่นั้น จะไม่ได้ผล และอาจจะทำให้อาการเลวลงกว่าเดิมอีก

การที่จะทราบว่า คนไข้คนไหนจะได้รับผลดีจากการรักษา โดยแพทย์แสดงท่าที เป็นการลงโทษแต่เพียงเบาๆ นั้น แพทย์จะต้องเข้าใจ Psychodynamic ของคนไข้ดีตามสมควร เพราะฉะนั้น สำหรับแพทย์ฝ่ายกาย จึงควรหลีกเลี่ยงทัศนคติและท่าทีดังกล่าว จึงจะเป็นการ ปลอดภัย

มีข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ แพทย์ฝ่ายกายส่วนมากคิดว่าคนไข้โรคจิต โรคประสาทนั้นไม่มีความผิดปกติทางร่างกาย เพราะฉะนั้นก็ควรทำงานต่อไปได้เลย จริงอยู่ ผู้ป่วยดังกล่าวบางรายอาจจะเป็นอย่างนั้น แต่สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้ว เป็นการเข้าใจผิด อย่างยิ่ง

ผู้ป่วยด้วยโรคจิต โรคประสาทนั้น มีความผิดปกติภายในจิตใจแน่ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีโรคทางร่างกายร่วมด้วยก็ตาม นอกจากนี้ ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถจะทำงานต่อไปได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไข้โรคจิตที่เป็นมาก และคนไข้โรคประสาทในบางราย ผู้เขียนเคยมี ประสบการณ์ในเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเป็นโรคจิตที่เรียกว่า Schizophrenia นั้น หลายราย ที่ผู้เขียนพิจารณาดูแล้ว เห็นว่าไม่สามารถทำงานต่อ หรือต้องพักการเรียนไว้ชั่วคราว ถ้าให้คนไข้ฝืนทำงาน หรือเรียนต่อไปในขณะที่คนไข้ไม่มีความสามารถเช่นนี้ จะเป็นผลเสียหายแก่ตัวคนไข้

Occupational Therapy หรืออาชีวะบำบัดนี้ ไม่เหมือนกับงานที่คนไข้ต้องรับผิดชอบหรือเล่าเรียนให้ทันเพื่อน อาชีวะบำบัด เป็นงานที่จิตแพทย์จัดทำขึ้นตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน จึงเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เช่น คนไข้ที่เป็นโรคประสาท หรือซึมเศร้า แต่อาการไม่มากนั้น บุคคลเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะแยกตัวเองและหมกมุ่นอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตลอดเวลา การที่มีงานให้คนไข้ทำตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคนนั้น จะทำให้คนไข้ มีความคิดหมกมุ่นน้อยลง

ในคนไข้ที่เป็นโรคทางกาย และต้องรักษาตัวเป็นเวลานานๆ นั้น อาจจะเกิดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าร่วมด้วย เพราะฉะนั้น การใช้อาชีวะบำบัดเข้าช่วย ก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ

ในการจัดโปรแกรมของอาชีวะบำบัดนี้ นอกจากจะต้องพิจารณาว่าคนไข้แต่ละคน ควรจะใช้โปรแกรมชนิดไหนแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการดำเนินโรคของคนไข้ด้วย ตัวอย่างเช่น ขณะที่คนไข้กำลังมีอาการมาก โปรแกรมที่มอบหมายให้จะต้องเป็นสิ่งที่ง่าย และคนไข้มีความ สามารถที่จะทำได้ เมื่อคนไข้มีอาการดีขึ้น ก็จะต้องปรับปรุงงานให้มีความเหมาะสมตามไปด้วย

อาชีวะบำบัดมีประโยชน์ในการรักษาโรคจิตเวชอย่างไรนั้น ได้มีผู้ทำการศึกษาในเรื่องนี้มาก และสามารถกล่าวเป็นหัวข้อตามลำดับดังนี้ คือ

ประการแรก คือ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความเพลิดเพลิน เกิดความสุขความพอใจที่ได้มีอะไรทำแทนที่จะหมกมุ่นกับเรื่องของตนเอง หรือใช้แต่จินตนาการอย่างเดียว

ประการที่ 2 ทำให้ผู้ป่วยเลิกคิดถึงปัญหาของตนเอง และลืมความวิตกกังวลลงไปได้บ้างอย่างน้อยก็ชั่วคราว

ประการที่ 3 ถ้าโปรแกรมเป็นไปในรูปแบบของการออกกำลังกายไปในตัว จะทำให้ความวิตกกังวลและความเครียดลดลง เพราะว่าได้ระบายออกไปบ้าง โดยการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ไปด้วยในตัว

ประการที่ 4 อาชีวะบำบัดทำให้คนไข้รู้สึกตัวว่า ตนเองสามารถทำงานในเชิงสร้างสรรค์ได้ สิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และคนทั่วไปจะมองข้ามความสำคัญอันนี้ไป การที่คนไข้มีความรู้สึกอย่างนี้ จะทำให้คนไข้สบายขึ้น เพราะว่าผู้ป่วยเหล่านี้ ล้วนแต่คิดว่าตนเอง ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์กับใคร และมีปมด้อย

ประการที่ 5 ผู้ป่วยเหล่านี้ มักจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตนเอง เวลาพูดกับผู้อื่น ก็จะพูดถึงแต่เรื่องของตนเอง ทำให้ผู้ป่วยเกิดละอาย หรือไม่สบายใจ เพราะพูดแต่เรื่องของตนเอง จนเกรงว่าคนอื่นจะรำคาญ จริงอยู่การได้พูดได้ระบายเรื่องของตนเองนี้ จะทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้นบ้าง แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยจะยิ่งหมกมุ่นกับตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น การที่ มีงานทำ คืออาชีวะบำบัดนี้ จะทำให้ผู้ป่วยสามารถจะพูดกับคนอื่นๆ ในเรื่องของงานที่ทำ เช่น อาจจะเป็นการไต่ถาม หรือพูดถึงรายละเอียดของการทำงาน ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยสามารถสังสรรค์กับผู้อื่น ในเรื่องที่ไม่ทำให้ผู้ป่วยไม่สบายใจด้ และยังเป็นการทำให้ผู้ป่วยสามารถมีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ด้วย

สำหรับจิตแพทย์อาจจะใช้ความรู้ด้าน Dynamic เพื่อที่จะตัดสินใจว่า คนไข้ชนิดไหนเหมาะกับอาชีวะบำบัดชนิดใด เป็นต้น แต่สำหรับแพทย์ฝ่ายกายนั้น ไม่สามารถจะทำได้ หากว่าไม่เข้าใจใน Dynamic ของคนไข้ดีพอ สรุปความว่า อาชีวะบำบัดเป็นการทำจิตบำบัดชั้นต้นชนิดหนึ่ง ซึ่งแพทย์ฝ่ายกายอาจจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า