สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Fostering of Socialized Living

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 17 เรียกว่า Fostering of Socialized Living
หมายถึงการช่วยเหลือคนไข้ให้มีชีวิตอยู่ในสังคม ในลักษณะที่ก่อประโยชน์ และนำความภาคภูมิใจมาให้ วิธีนี้คล้ายๆ กับการหางานอดิเรกให้คนไข้ แต่แตกต่างกันในประเด็นที่ว่า เพ่งเล็งความสำคัญในแง่ของสังคมที่คนไข้อยู่ด้วย เหตุผลของการทำจิตบำบัดชนิดนี้ คือ เราพบว่าโรคจิตเวชส่วนมากนั้น มักจะมีอาการลดลงหรือทุเลา ถ้าคนไข้สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม

Psychodynamic ของการรักษาประเภทนี้ คือ ผู้ป่วยโรคจิตเวชส่วนมาก มักจะมีปัญหาในด้านมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่นร่วมด้วย การที่แนะนำให้ผู้ป่วยทำตัวให้เป็นประโยชน์แก่สังคม จะสามารถลดปัญหานี้ลงไปได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกว่าตนเองอยู่โดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง หวาดกลัว วิตกกังวล กลัวผู้อื่นจะวิพากษ์วิจารณ์ ความรู้สึกเช่นนี้ อาจจะเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้ ถ้าแพทย์สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ โดยให้ทำประโยชน์แก่สังคม เช่น เป็นลูกเสือชาวบ้าน เป็นสมาชิกองค์การต่างๆ ที่ช่วยเหลือผู้อื่น เป็นสมาชิกสโมสรต่างๆ เป็นต้น ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกดีขึ้น และรู้สึกว่าตนเป็นที่ยอมรับของสังคม

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นการ “ดึง” ให้ผู้ป่วยสนใจเกี่ยวกับชีวิตความเป็นจริง เพราะว่าถ้าผู้ป่วยอยู่ว่างๆ ก็อาจจะหมกมุ่นอยู่กับจินตนาการของตนเอง การที่ผู้ป่วยสามารถทำประโยชน์ให้สังคมนี่ เป็นการสร้างความมั่นใจแก่ตนเองไปด้วยในตัว รู้สึกว่า เรายังเป็นประโยชน์ สังคมยังต้องการเรา ไม่ทอดทิ้งเรา และเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วย ไม่ต้องอยู่คนเดียวตามลำพังเหมือนเมื่อก่อน

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า