สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Establishment of A Daily Routine

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 8 เรียกว่า Establishment of A Daily Routine
จิตบำบัดชนิดนี้ คือ การสร้างโปรแกรม และแจ้งให้คนไข้ทราบว่า เวลาไหนจะทำอะไรบ้าง ถ้าพิจารณาดูอย่างผิวเผินอาจจะเห็นว่าง่ายเกินไป ไม่น่าจะได้ประโยชน์อะไร แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การรักษาชนิดนี้ เป็นการรักษาที่มีความจำเป็นและสำคัญสำหรับคนไข้บางประเภท เช่น คนไข้เป็นโรคสมองเสื่อมหรือคนไข้โรคจิตชนิดที่มีการถอยหลังกลับของ โครงสร้างของจิตใจมากๆ (โครงสร้างของจิตใจคืออะไรหาอ่านได้จากหนังสือ “คู่มือทฤษฎีจิตวิเคราะห์”) ผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่สามารถทราบเวลา สถานที่ และบุคคลต่างๆ ในรายที่มีอาการมากๆ อาจจะทำอะไรไม่ได้ หรือช่วยตนเองไม่ได้เลย

ถ้าเรามองดูจิตใจของคนเราทั้งที่ป่วยและที่ไม่ป่วยก็ตาม จะพบว่าบางครั้ง บางเวลา หรือหลายครั้ง หลายเวลา ที่เราต้องการคนปลอบใจ สามารถพูดระบายสิ่งต่างๆ ที่มันบีบคั้นอยู่ในจิตใจออกมา ฉะนั้น คนเราทุกคนจึงต้องการจิตบำบัดชั้นต้น หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกันนี้เสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม ในคนไข้บางคนนั้น จิตบำบัดชั้นต้นอาจจะใช้ไม่ได้ผล ตัวอย่าง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องพึ่งผู้อื่นเสมอ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ที่เรียกว่า มี Dependency Needs มากเกินไป ถ้าใช้การรักษาแบบ Supportive มากเกินไปแล้ว จะทำให้คนไข้ต้องพึ่งผู้รักษาตลอดไป ไม่มีวันที่จะมีการเจริญเติบโตทางจิตใจ และพัฒนาบุคลิกภาพเหมือนคนปกติได้ คนไข้เหล่านี้ต้องใช้จิตบำบัดชั้นสูง จึงจะได้ผล

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแพทย์จะใช้จิตบำบัดชั้นสูงชนิดไหนก็ตาม ก็จะมีบางเวลา เช่น ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะวิกฤติจนเกินกว่าที่จะทนได้ เป็นต้น ในระยะเวลาเหล่านี้ แพทย์ต้องลดระดับการทำจิตบำบัดมาใช้แบบ Supportive อย่างน้อยก็จนกว่าคนไข้จะสามารถควบคุมตนเองได้

ในคนไข้จิตเวชนั้น จะมีบางคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลย อาจจะทำอะไรที่เป็นอันตราย ต่อตนเองหรือผู้อื่น ไม่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง ถ้าปล่อยให้คนไข้รับผิดชอบตนเองในระยะเวลาเช่นนี้ ก็ถือได้ว่าเป็นความผิดของผู้รักษา ตัวอย่างเช่น คนไข้อยู่ในสภาวะซึมเศร้ามาก อาจจะตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ หรือในกรณีที่คนไข้โรคจิตกำลังมีอาการเพ้อคลั่ง ไม่สามารถเข้าใจสิ่งแวดล้อมตามสภาพความเป็นจริงได้ อาจเห็นบุคคลอื่นเป็นศัตรูไปหมด ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่ถูกต้อง ก็อาจจะทำร้ายผู้อื่นได้

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ในการรักษาคนไข้  Alcoholism ที่กำลังหวาดกลัวและมีประสาทหลอน ในกรณีอย่างนี้ จำเป็นจะต้องมัดผู้ป่วยไว้กับเตียง ในระยะสิบกว่าบีที่ผ่านมานี้ คนไข้ Alcoholism ที่กำลังมีอาการประสาทหลอนอย่างน่ากลัวและรุนแรง ดิ้นหลุดจากเชือกที่มัดไว้กับเตียง กระโดดหน้าต่างหนีอาการประสาทหลอน ทำให้เกิดขาหักถึง 3 ราย ที่กล่าวมานี้ ก็เพื่อเน้นให้เห็นความสำคัญของจิตบำบัดระดับต้นชนิดนี้ว่า ยังมีความจำเป็นในกรณีต่างๆ ตามที่ได้กล่าวมา

มีข้อน่าสังเกตบางประการ เกี่ยวกับการใช้จิตบำบัดชนิด Supportive ดังนี้ ถ้าแพทย์เป็นคนอ่อนไหวง่าย สงสารและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากเกินไป หรือชอบช่วยเหลือผู้อื่นเป็นประจำแล้ว มักจะชอบใช้จิตบำบัดชนิดนี้มากเกินความจำเป็นเสมอ ทั้งนี้ เนื่องมาจากบุคลิกภาพของแพทย์เอง ในทำนองกลับกัน ถ้าแพทย์เป็นคนทำงานหนัก มีความมั่นใจและนิยมชมชอบบุคคลที่เข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ ดูถูกบุคคลที่อ่อนแอ แพทย์มักจะใช้การรักษาแบบ Supportive น้อยกว่าที่ควร เพราะว่า แพทย์เองไม่ชอบคนที่อ่อนแออยู่แล้ว ซึ่งบางครั้งอาจจะเป็นอันตรายต่อการรักษาได้

นอกจากนี้ แพทย์บางคนที่ต้องต่อสู้ ดิ้นรนด้วยความมานะอุตสาหะอย่างยิ่ง เพื่อสร้างตนเองและครอบครัวแล้ว แพทย์อาจจะมีความรู้สึกทั้งในระดับที่รู้สึกตัว และในระดับจิตไร้สำนึกว่า ทุกคนต้องต่อสู้อุปสรรคต่างๆ และช่วยเหลือตนเองโดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น

การที่แพทย์หรือผู้รักษามีความรู้สึกเช่นนี้นัน แพทย์หรือผู้รักษาได้เอามาตรฐาน หรือค่านิยมของคนไป “ยัดเยียด” ให้คนไข้ ซึ่งแพทย์ “ลืม” ไปว่า คนเรานั้น ไม่สามารถทำอย่างเดียวกันได้ บางคนก็เข้มแข็ง บางคนก็อ่อนแอ เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่แพทย์และนักจิตบำบัดต้องคำนึงถึงอยู่เสมอ

นอกจากนี้ แพทย์ทุกคนจะต้องทราบล่วงหน้าว่า คนเราทุกคน (ที่เป็นปุถุชน) นั้น จะต้องมีการ “ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่” หรือ Exaggeration เสมอ บางคนทำมาก และบางคนก็ทำน้อย แต่ทุกๆ คน แม้แต่แพทย์เองก็เคยทำมาเหมือนกัน เมื่อเข้าใจเรื่องนี้แล้ว แพทย์จึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่า Exaggeration ชนิดไหน ควรจะปล่อยไว้ และ ชนิดไหนควรจะได้รับการแก้ไข

โปรแกรมที่จัดขึ้นสำหรับผู้ป่วยนั้น โดยมากมักจะได้แก่วันๆ หนึ่ง ควรจะทำอะไรบ้าง เช่น ตื่นนอน 6.00 น. อาบน้ำแปรงฟันเวลา 6.30 น. รับประทานอาหารเช้า เวลา 7.00 น. พักผ่อนอ่านหนังสือหรือหนังสือพิมพ์จนถึงเวลา 9.00 น. ไปทำอาชีวะบำบัด เวลา 9.00-11.30 น. รับประทานอาหารกลางวันเวลา 12.00 น. เข้าร่วมกิจกรรมและการ บันเทิงต่างๆ เวลา 13.00-16.00 น. ออกกำลังกาย 16.00-17.50 น. อาบน้ำแล้วรับประทานอาหารเย็นเวลา 18.30 น. ดูโทรทัศน์หรือพักผ่อนเวลา 19.00-21.00 น. สวดมนต์ ไหว้พระเวลา 21.00 น. เข้านอนเวลา 21.30 น. ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงตัวอย่างของการจัด โปรแกรมเท่านั้น แพทย์แต่ละโรงพยาบาลควรจะมีโปรแกรมให้เหมาะสมกับสถานที่และความสะดวกของโรงพยาบาลที่ตนทำงานอยู่

การที่จัดโปรแกรมให้คนไข้ทราบว่า เวลาไหนจะทำอะไรนั้น เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่คนไข้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนไข้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เพราะว่าคนไข้ ไม่ทราบว่าตนควรจะทำอะไรเวลาไหน การที่จะให้คนไข้เหล่านี้ตัดสินใจด้วยตนเองนั้น เป็นการเพิ่ม Anxiety ในตัวคนไข้ การที่แพทย์และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจัดกิจกรรมขึ้น บอกให้ทราบว่า เวลาไหนให้ทำอย่างไรนั้น จึงเป็นการลดความวิตกกังวลในคนไข้ไปด้วย เพราะไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ซึ่งคนไข้ประเภทนี้ไม่พร้อมที่จะกระทำ

นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมหรือโปรแกรมขึ้น ยังมีผลต่อจิตใจของผู้ป่วยในเรื่องอื่นๆ อีก ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยจะรู้สึกว่า แพทย์ผู้รักษามีความสนใจที่จะรักษาผู้ป่วยอย่างจริงจัง เพราะได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยมีความรู้สึกอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าแพทย์ได้ยอมรับผู้ป่วย ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วย ผู้ป่วยบางคนจะรู้สึกว่าตนได้รับความคุ้มครองป้องกัน โดยแพทย์ ซึ่งเท่ากับว่า แพทย์ได้กระทำตนเหมือนบิดามารดาที่ดูแลเอาใจใส่ต่อลูกๆ นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์ต้องไม่ลืมว่า การเป็นบิดามารดาที่ดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องตามใจลูกทุกๆ อย่าง บิดามารดาที่ดีนั้น ต้องส่งเสริมให้ลูกเป็นคนดีและพึ่งตนเองได้ เพราะฉะนั้น การช่วยเหลือของแพทย์จะต้องอยู่ในขอบเขตของความพอเหมาะพอดี จึงจะเกิดผลดีทั้งต่อผู้ป่วยและผู้รักษา

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า