สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Diversion and Entertainment

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 7 เรียกว่า Diversion and Entertainment
คือการทำให้คนไข้มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และหันเหความสนใจที่เคยหมกมุ่นกับปัญหาของตน ถ้าจะว่ากันโดยเนื้อหาแล้ว วิธีนี้ก็คล้ายกับอาชีวะบำบัด การที่เราสามารถจัดหาหรือจัดโปรแกรมให้คนไข้มีความสนุกเพลิดเพลิน เพื่อหันเหความสนใจเสียบ้างนี้ จะทำให้คนไข้รู้สึกสบายขึ้น

Diversion and Entertainment นี้ มีแพทย์หลายท่านให้ความสนใจนอยเกินไป ความจริงวิธีนี้ ถ้าใช้อย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยคนไข้ได้มาก เช่น คนไข้โรคจิตที่มีอาการยังไม่มากและคนไข้โรคประสาท ที่มักจะหมกมุ่นอยู่กับปัญหาของตนเองตลอดเวลา หรือในรายที่วิตกกังวลเกินกว่าเหตุ นอกจากนี้ ยังใช้ได้ผลดีในผู้ป่วย Schizophrenia ด้วย เพราะเท่ากบ “ดึง” คนไข้ให้ออกมาจาก “โลกแห่งความเพ้อฝัน” ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น

Diversion and Entertainment นี้ เป็นวิธีการอันหนึ่ง ที่จะทำให้บรรยากาศของ “โลก” หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก มีลักษณะสดใส น่าอภิรมย์ น่าสนใจ จึงใช้เป็นเครื่องมือ ในการดึงดูด หันเหความสนใจของคนไข้มาสู่โลกภายนอกยิ่งขึ้น เป็นการป้องกันไม่ให้คนไข้หมกมุ่นกับตนเองมากเกินไป ซึ่งจะเป็นผลเสียแก่คนไข้

การที่แพทย์จะจัดโปรแกรม Diversion and Entertainment นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ฝ่ายกาย ต้องมีความรู้ล่วงหน้าว่า ในระยะแรกๆ นั้น คนไข้มักไม่ยอมร่วมมือ หรือไม่สามารถ “เข็น” ผู้ป่วยให้ร่วมในโปรแกรมที่จัดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเฉพาะตอนแรกๆ เท่านั้น ถ้าแพทย์มีความพยายามและอดทนเพียงพอ ก็จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ และในที่สุดผู้ป่วยจะยอมร่วมมือโดยดี

ในการจัดโปรแกรมสำหรับคนไข้นี้ แพทย์จะต้องไม่จัดโปรแกรมซ้ำซาก เป็นที่น่าเบื่อสำหรับคนไข้ ตามอุดมคติจริงๆ แล้ว แพทย์ต้องคำนึงถึงคนไข้แต่ละคนว่าควรจะจัดโปรแกรมอย่างไรจึงจะเหมาะสม พร้อมทั้งพิจารณาดูตามอาการของคนไข้ด้วย เช่น ขณะที่ป่วยมาก ควรจะใช้โปรแกรมอะไร เมื่อดีขึ้นแล้ว ก็ควรจะใช้โปรแกรมที่เหมาะสมกันยิ่งขึ้น ฯลฯ โดยมากโปรแกรมตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วไปนั้น มักจะได้แก่การจัดงานปาร์ตี้ การฉายภาพยนตร์ ฟังเพลง ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ เล่นกีฬา การพาไปทัศนศึกษานอกสถานที่ ฯลฯ

ที่กล่าวมานี้ เป็นการเพิ่มความสามารถให้คนไข้มีประสบการณ์ใหม่ๆ เสมอ ทำให้คนไข้สามารถแสวงหาความสุข ความพอใจเพิ่มขึ้น และยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่คนไข้ไปในตัวด้วย

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า จิตบำบัดชนิดนี้ มีประโยชน์มากเกินกว่าที่คนธรรมดา ซึ่งไม่ใช่จิตแพทย์จะเห็นความสำคัญได้

ที่โรงพยาบาลประสาทซึ่งผู้เขียนทำงานอยู่ เรามีโปรแกรมเช่นนี้หลายชนิด แต่ที่อยากเรียนให้ทราบนั้นคือ โปรแกรมพิเศษที่เรียกว่า “Party” โดยจัดให้มีขึ้นประมาณเดือนละครั้ง ในการจัดงาน “ปาร์ตี้” นี้ คนไข้เป็นคนเลือกเองว่า พวกเข้าต้องการอาหารชนิดใด เมื่อตัดสินใจแล้ว คนไข้จะแบ่งหน้าที่กัน คือ ไปจ่ายตลาดเอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไปด้วยในฐานะพี่เลี้ยงเท่านั้น เมื่อไปจ่ายตลาดกลับมาแล้ว คนไข้ก็จะช่วยกันทำกับข้าว เมื่อเสร็จแล้วก็จะรับประทานอาหารร่วมกัน อิ่มแล้วจะจัดงานรื่นเริงต่างๆ ตามสมควรแก่เวลาแล้วก็ช่วยกันล้างจาน ทำความสะอาดต่างๆ ให้เรียบร้อยด้วย การจัด “ปาร์ตี้”  นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้เกิดความรื่นเริงแก่คนไข้ และยังทำให้คนไข้รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ ที่ตนได้รับมอบหมายด้วย จึงได้ประโยชน์คุ้มค่า

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า