สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Development of Hobbies

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 9 เรียกว่า Development of Hobbies
จิตบำบัดชนิดนี้ ก็มีความคล้ายคลึงกับชนิดอื่นๆ คือ การจัดหาหรือแนะนำให้คนไข้มีงานอดิเรกทำ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน

จิตบำบัดชนิดนี้ มีข้อแตกต่างเป็นพิเศษจากชนิดก่อนๆ คือ เป็นการป้องกันไม่ให้คนไข้กลับเป็นโรคได้อีก หรือเรียกว่า Preventive Psychiatry จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์ พบว่า การที่ผู้ป่วยมีงานอดิเรกที่เขาชอบหรือพอใจที่จะทำแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยมีความสุข ภูมิใจ ที่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์และในที่สุดผู้ป่วยจะมีความมั่นใจในตนเอง หรือ Self-Confidence เพิ่มขึ้นด้วย สิ่งนี้เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นโรคอีกได้มากเกินกว่าที่คนทั่วไปคิด หรือคาดคะเนไว้

งานอดิเรกนี้มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าคนไข้ชอบงานชนิดไหน ที่ใช้กันทั่วไป ได้แก่ การสะสมแสตมป์ สะสมหนังสือประเภทต่างๆ เล่นกีฬาตามความเหมาะสมและความสามารถของผู้ป่วย อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ วาดภาพ เล่นดนตรี ท่องเที่ยว ถ่ายรูป ปลูกต้นไม้ ทำสวน สะสมของเก่า ฯลฯ

งานอดิเรกเหล่านี้ นอกจากจะทำให้คนไข้มีความสุข พอใจในความสามารถของตนเองและใช้เป็นเครื่องมือในการสนทนากับผู้อื่นแล้ว ยังทำให้คนไข้มีความภาคภูมิใจ ที่ตนมีความสามารถในทางสร้างสรรค์ด้วย นอกจากนี้ งานอดิเรกยังมีคุณค่าต่อจิตใจ เพราะว่าเป็น สิ่งทดแทน หรือ Sublimation อีกด้วย งานอดิเรกหลายชนิดเป็นสิ่งทดแทนที่ภาษาทฤษฎีจิตวิเคราะห์เรียกว่า Unacceptable Id Impulse คือ ความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆ (รายละเอียดของสิ่งนี้ หาอ่านได้จากหนังสือ “คู่มือทฤษฎีจิตวิเคราะห์”) ความรู้สึกที่ไม่ดีนี้ ส่วนมากคือเรื่อง เพศและเรื่องความก้าวร้าวรุกรานต่างๆ

Sublimation หรือพฤติกรรมทดแทนนี้ จะกระทำไปในระดับจิตไร้สำนึก คือ คนไข้ไม่รู้สึกตัว สิ่งที่สำคัญ คือ พฤติกรรมทดแทนจะต้องเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยและสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเมื่อครั้งยังเป็นเด็กมีปัญหา เพราะมีความสนใจในเรื่อง Sex มาก หรือเรียกว่า Sexual Curiosity สูง ผู้ป่วยอาจจะใช้พฤติกรรมทดแทน โดยหางานอดิเรกเกี่ยวกับเรื่องธรรมชาติของสัตว์ การสืบพันธ์ของสัตว์ เลยกลายเป็นนักเลงเล่นเลี้ยงสัตว์บางชนิด เช่นนกเขา ไก่ฟ้า ปลากัด สุนัข แมว ฯลฯ ในทางทฤษฎีจิตวิเคราะห์ถือว่า ผู้ป่วยมีปัญหาหรือ Conflicts เกี่ยวกับเรื่องความรู้สึกที่ไม่ดีในวัยเล็ก ผู้ป่วยจึงหาทางออกโดยใช้พฤติกรรมทดแทน

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า การใช้พฤติกรรมทดแทนความรู้สึกที่ไม่ดี หรือ Conflicts ในวัยเด็กนี้จะเป็นสิ่งที่ดีหรือ ในเมื่อ Conflicts เหล่านี้ มาจากความรู้สึกที่ไม่ดีของเราเอง คำตอบก็คือ การที่จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์จะตัดสินว่า พฤติกรรมอันไหนดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้อยู่ที่ Conflicts ว่าจะดีหรือไม่ดี แต่ขึ้นอยู่กับว่าพฤติกรรมนั้นๆ ถ้าไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อตนเองและสังคมแล้ว ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ปกติ ตามความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ทุกคน ทั้งผู้ป่วยและคนปกติ ต่างก็มีพฤติกรรมทดแทนด้วยกันทั้งนั้น ส่วนผู้ใดจะชอบพฤติกรรมทดแทนชนิดไหน เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หรือแล้วแต่รสนิยมของผู้นั้นเอง และรสนิยมนี้ นักจิตวิเคราะห์ ถือว่ามีแรงผลักดันมาจากชีวิตในวัยเด็กอีกต่อหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม บางครั้งงานอดิเรกก็อาจจะมีผลเสียบ้างเหมือนกัน คือ ผู้ป่วย อาจจะทุ่มเทเวลาและพลังงานให้กับงานอดิเรกมากเกินไป จนไม่สามารถทำงานประจำที่ควรจะทำได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็กนักเรียน แต่ทึ่มเทเวลาให้งานอดิเรกจนเสียการเรียนอย่างนี้เป็นต้น

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ แพทย์ไม่ควรเป็นเจ้ากี้เจ้าการหางานอดิเรกให้คนไข้ทำเสียเอง แพทย์ควรจะทำเพียงให้คำแนะนำผู้ป่วยเท่านั้น ให้ผู้ป่วยเป็นคนเลือกงานอดิเรกที่เขาชอบเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่าผู้ป่วยมักจะเลือกงานอดิเรกของตนเอง ตาม Conflicts และพลังงาน ของจิตไร้สำนึกของผู้ป่วย ถ้าผู้รักษาเป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิเคราะห์ซึ่งทราบ Psychodynamics ของผู้ป่วยดี ก็อาจจะแนะนำได้ดีกว่าแพทย์ฝ่ายกาย ถึงกระนั้นก็ตาม ต้องให้ผู้ป่วยเป็นผู้ตัดสินใจเองในขั้นสุดท้ายเสมอ

แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์จะต้องเข้าใจว่า พฤติกรรมทดแทนนี้ ไม่ใช่เป็นทางออกเพียงทางเดียวที่จะแก้ไข Unconscious Conflicts ของคนไข้ ในบางครั้ง Conflicts เหล่านี้ อาจจะมีความรุนแรงเกินกว่าที่จะใช้พฤติกรรมทดแทนได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจจะมีความรู้สึกผิด หรือ “Guilt” ที่รุนแรงมาก เพราะว่าในวัยเด็กนั้น มี Sexual Curiosity สูง และมี Superego ที่เกรี้ยวกราดหยาบกระด้างมากเกินไป เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยจึงไม่สามารถมีพฤติกรรมทดแทนได้ โดยทั่วไป ผู้ป่วยเหล่านี้ควรจะต้องได้รับการรักษาโดยวิธีจิตบำบัดชั้นสูง

งานอดิเรกนี้ มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คนทั่วไปมักจะสนใจเฉพาะอาชีพการงานของตนเองเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ผู้ชายก็มักจะสนใจแต่ธุรกิจหรืองานของตน ผู้หญิงก็มักจะสนใจแต่เลี้ยงลูกเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ผู้หญิงบางคนอาจจะประกอบอาชีพอย่างอื่นด้วยก็ตาม ปัญหาที่พบบ่อยก็คือ เมื่อทำงานจนครบเกษียณอายุแล้วหรือเมื่อลูกโตขึ้นมีงานทำและแต่งงานไปแล้ว บุคคลเหล่านี้จะมีความรู้สึกว่า ต่อไปนี้เราจะเป็นคนไร้ค่าทำให้เกิดความว้าเหว่ เหงา ซึมเศร้าท้อแท้ บางรายอาจมีอาการระแวงเกิดขึ้นร่วมด้วย วิธีแก้ไขสิ่งเหล่านี้คือ ต้องทำงานอดิเรกที่น่าสนใจทำ จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มาก สำหรับประเทศไทยเรานี้ นับว่าโชคดี ที่เป็นเมืองพระพุทธศาสนา เราจึงพบว่าผู้สูงอายุในประเทศเรามักจะหันเข้าหาพระศาสนา ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้มีจิตศรัทธา

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า