สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Changing the Attitudes in the Environment

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 15 เรียกว่า Changing the Attitudes in the Environment
หมายถึงการเปลี่ยน “ท่าที” ของบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด และมีความสำคัญต่อคนไข้ เราใช้วิธีนี้มากในเด็ก และใช้ได้ในผู้ใหญ่บางคนด้วย

จากประสบการณ์ เราพบว่า เด็กส่วนมากที่มีปัญหานั้น มักจะมาจากสิ่งแวดล้อม คือ บิดามารดามีส่วนในการสร้างปัญหาให้แก่เด็ก หรือในบางราย บิดามารดาเป็นสาเหตุของความผิดปกติในเด็กโดยตรง จิตแพทย์บางท่านถึงกับกล่าวว่า “เด็กเกเรไม่มี มีแต่ผู้ใหญ่เกเร”

ลักษณะของบิดามารดาที่สร้างปัญหาให้แก่เด็ก คือ Perfectionistic หมายถึงจะทำอะไรก็ต้องให้ดีพร้อม ถูกต้องและสมบูรณ์ จะผิดพลาดไม่ได้ Over-Conscientious คือเคร่งครัดในศาสนาและศีลธรรมมากเกินไป Overly Critical หรือติเตียนเด็กมากเกินไป Spoiling หรือตามใจเด็กมากเกินไป Over-Ambitious หรือมุมานะเอาจริงเอาจังมากเกินไป Over- Anxious มีความวิตกกังวลมากเกินไป Rejecting Attitudes หรือทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ลูกๆ เพราะฉะนั้น การรักษาในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเหล่านี้ จะต้องเปลี่ยนแปลงลักษณะดังกล่าว หรือลดความรุนแรงต่างๆ ลง เท่าที่จะทำได้ บางครั้งบิดามารดาเองอาจจะต้องได้รับการทำจิตบำบัดด้วย เพื่อแก้ไขลักษณะและท่าทีที่ไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตามแพทย์จะต้องสังวรว่า การแนะนำให้บิดามารดาเข้ารับการรักษาเสียเองนี้ ต้องทำอย่างนิ่มนวลโดยไม่ให้รู้สึกตัว มิฉะนั้น บิดามารดาอาจจะโกรธ และเป็นศัตรูกับแพทย์ได้ การวิพากษ์วิจารณ์หรือทะเลาะกับบิดามารดานั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรักษา

จากประสบการณ์พบว่า โรคทางกายหลายชนิดในเด็ก เกิดเนื่องจากบิดามารดา เป็นต้นเหตุเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เด็กที่อ้วนเกินไป อาจจะเนื่องมาจากมารดาพยายามบังคับให้เด็กกินอาหารมากเกินไป สิ่งนี้จิตแพทย์และนักจิตวิเคราะห์เรียกว่าเป็น Neurotic Need ของมารดา ซึ่งอาจเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ คือ ประการแรก มารดามีปัญหาในการแสดงความรักความเอาใจใส่ หนทางเดียวที่มารดาจะทำได้ คือ ต้องให้อาหารแก่ลูก เป็นการแสดงว่าตนได้ทำหน้าที่มารดาที่ดีแล้ว ประการที่สอง คือ มารดามี Neurotic Need ในเรื่องอาหาร เพราะฉะนั้น การให้อาหารแก่ลูกมากๆ จึงเป็นการตอบสนองความต้องการของมารดาด้วย ประการที่สาม คือ มารดาไม่รักเด็ก ทอดทิ้งเด็ก ส่วนมากความรู้สึกเหล่านี้จะอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก เมื่อเป็นเช่นนี้ Superego ของมารดาจึงตำหนิหรือลงโทษ ทำให้เกิด ความรู้สึกผิดอยู่ในใจ มารดาประเภทนี้จึงทำการชดเชย หรือทำตรงกันข้าม (Reaction For¬mation) วิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับหักล้างความผิดก็คือ การให้อาหารแก่เด็ก ซึ่งมีความหมายว่า ได้ให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กทำให้มารดารู้สึกสบายใจขึ้น นอกจากบิดามารดาแล้ว ญาติใกล้ชิด เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา และพี่น้อง ก็มีอิทธิพลต่อเด็กเหมือนกัน เพราะฉะนั้น แพทย์จะต้องคิดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก การที่จะเปลี่ยนแปลงท่าที่ของสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องนั้น ต้องค่อยทำค่อยไป ถ้าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็ว เด็กจะเกิดความระแวงสงสัย หรือคิดว่าเป็นการหลอกลวงให้เด็กตายใจ เมื่อเด็กมีความรู้สึกอย่างนี้ จะทำให้เกิดมีความวิตกกังวลขึ้นมาอีก จึงเป็นหน้าที่ของผู้รักษาที่จะแนะนำให้บิดามารดา ฯลฯ เข้าใจสิ่งเหล่านี้ด้วย

ในรายที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบิดามารดาและผู้เกี่ยวข้องได้ ผู้รักษาก็อาจจะใช้วิธีสุดท้ายคือ ส่งเด็กไปอยู่กับผู้อื่น หรือ Foster-Home ซึ่งก่อนจะตัดสินใจใช้วิธีนี้ ต้องศึกษาครอบครัวของผู้ที่เด็กจะไปอยู่ด้วยอย่างละเอียดเสียก่อน ในต่างประเทศนั้น ถ้าบิดา มารดาไม่ยอมส่งผู้ป่วยไปอยู่กับคนอื่นในกรณีนี้ แพทย์ต้องขออำนาจจากศาล เมื่อศาลเห็นชอบจึงจะทำได้

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า