สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จิตบำบัดชั้นต้นชนิด Authoritative Firmness

จิตบำบัดชั้นต้นชนิดที่ 10 เรียกว่า Authoritative Firmness
การที่แพทย์เป็น Authority นี้ แพทย์อาจจะใช้การขู่คนไข้ หรือใช้ความแน่วแน่ เป็นผู้ใหญ่ และพูดจากับคนไข้โดยดี แต่มีลักษณะเป็นเชิงบังคับไปในตัว

การขู่คนไข้นั้น จิตแพทย์ในปัจจุบันไม่นิยมใช้ แต่แพทย์ฝ่ายกายบางคนยังนิยมใช้อยู่ ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคพิษสุรา ก็อาจจะขู่คนไข้ โดยพาไปดูผู้ป่วยโรคพิษสุราที่กำลังมีอาการหนักมาก หรือกำลังใกล้จะตาย เพื่อให้คนไข้เกิดความหวาดกลัว เป็นต้น หรือในรายที่คนไข้ได้รับการตามใจมาตั้งแต่เป็นเด็ก มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุกราน แพทย์ก็อาจจะใช้การขู่เป็นการลงโทษ เป็นต้น ปัจจุบันนี้มีแต่จิตแพทย์ที่ใช้ทฤษฎีของ Behavior Modification Technique เท่านั้น ที่ยังใช้การข่มขู่คนไข้เป็นบางครั้ง จิตแพทย์ที่ใช้ทฤษฎีอื่นๆ นั้น ไม่เห็นด้วยกับการข่มขู่คนไข้

ส่วน Authoritative Firmness นั้น ไม่ใช้การข่มขู่คนไข้ แต่แพทย์จะแสดงความมั่นคงแข็งแกร่งในท่าที และบางครั้งจะแสดงลักษณะเป็นเชิงบังคับกรายๆ ตัวอย่างเช่น ถ้าแพทย์เห็นว่า พฤติกรรมใดของคนไข้จะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่นแล้ว แพทย์จะแสดงความเข้มแข็ง โดยบอกให้คนไข้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว แต่ไม่ใช้วิธีข่มขู่โดยตรง แพทย์จะพูดว่า ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็จะเลิกรักษาหรือไม่ให้ความช่วยเหลือ เมื่อถูกตำรวจจับ เป็นต้น ท่าทีของแพทย์จะต้องมีลักษณะเข้มแข็งมั่นคง แต่ไม่ใช่หยาบกระด้าง หรือใช้อำนาจบาตรใหญ่

Authoritative Firmness นี้ ใช้เป็นรากฐานหรือตัว “นำ” สำหรับจิตบำบัดชนิดอื่น เช่น Guidance, Persuation เป็นต้น

ที่มา:ปราโมทย์  เชาวศิลป์

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า