สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

จอตาลอก(Retinal detachment)

อาจทำให้เกิดอาการตามัวมองไม่เห็นได้ถ้าจอตาเกิดการฉีกและหลุดลอกออกจากผนังลูกตาชั้นกลางหรือเนื้อเยื่อคอรอยด์ที่อยู่ข้างใต้ ซึ่งจะมีหลอดเลือดส่งสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงจอตา ทำให้จอตาขาดเลือดมาเลี้ยงจนทำให้เกิดอาการนี้ขึ้นได้จอตาลอก

ถือเป็นภาวะฉุกเฉินในอาการจอตาลอก อาจทำให้สายตาพิการอย่างถาวรได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

พบโรคนี้ได้บ่อยในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ หรืออาจพบว่าผู้ป่วยมีประวัติของญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน

สาเหตุ
อาจเกิดจากมีรอยฉีกหรือเป็นรูบริเวณจอตา แล้วทำให้น้ำวุ้นลูกตาที่เป็นของเหลวแทรกซึมเข้าไปเซาะทำให้จอตาลอก หรือจอตาส่วนที่ยึดติดแน่นกับส่วนผิวของน้ำวุ้นลูกตาถูกแรงดึงรั้งจากน้ำวุ้นลูกตา ทำให้จอตาลอกจากผนังลูกตา หรือใต้ชั้นจอตามีสิ่งซึมเยิ้มสะสมอยู่

น้ำวุ้นลูกตาด้านหลังที่เสื่อมตามอายุเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของภาวะนี้ ทำให้เกิดการหดตัวหรือแรงดึงรั้งต่อจอตาจนมีการหลุดลอกออกจากจอตา

ในผู้ที่มีสายตาสั้น เป็นเบาหวานที่มีโรคของจอตาแทรกซ้อน การได้รับบาดเจ็บที่ลูกตา การผ่าตัดต้อกระจกหรือภายในลูกตา การติดเชื้อหรือการอักเสบภายในลูกตา เนื้องอกหรือมะเร็งที่เกิดภายในลูกตาหรือแพร่กระจายจากที่อื่น มักพบโรคนี้ได้บ่อย

อาการ
ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการปวดตาและมองเห็นได้ปกติ
ขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืด ผู้ป่วยมักจะมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูปในตาข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง และมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เห็นเงาหยากไย่ ยุงหรือแมลงวันลอยไปมา และตามัว เป็นต้น

ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกเห็นเงาอยู่ที่ขอบของลานสายตา ซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นจนเต็มลานสายตาภายในไม่กี่วันถ้าปล่อยให้เป็นอยู่นานๆ โดยไม่ได้รับการรักษา

สิ่งตรวจพบ
มักจะไม่พบสิ่งผิดปกติเมื่อตรวจดูภายนอกลูกตา แต่เมื่อตรวจวัดสายตามักพบมีความผิดปกติเกิดขึ้น อาจพบว่าสายตาสั้น หรือเป็นเบาหวานในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
มักจะทำให้สายตาเสื่อมลงหรือสายตาพิการอย่างถาวรหากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษา

การรักษา
ควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาจักษุแพทย์โดยเร็วหากพบผู้ป่วยมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป เพื่อทำการตรวจวัดสายตา ตรวจลานสายตา ความดันลูกตา ใช้เครื่องมือส่องตรวจจอตา หรืออาจต้องตรวจจอตาด้วยการอัลตราซาวนด์เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่ชัด

มักจะให้การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ในรายที่เป็นเพียงจอตาฉีกหรือเป็นรู หรือใช้วิธีจี้ด้วยความเย็นบริเวณรอบๆ รูหรือรอยฉีกขาดเพื่อช่วยยึดจอตากลับเข้าที่และปิดรูที่ฉีกขาด

จำเป็นต้องทำการผ่าตัดแก้ไขในรายที่มีจอตาลอก สายตามักจะฟื้นตัวได้ดีถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเมื่อเกิดภาวะจอตาฉีกหรือเป็นรูหรือจอตาลอก แต่จะไม่ช่วยให้สายตาดีขึ้นถ้าให้การรักษาในระยะที่จอตาลอกมากแล้ว หรือมีเลือดออก หรือเป็นแผลเป็นแล้ว

ข้อแนะนำ
ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วหากขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืดมีอาการมองเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบหรือแสงแฟลชถ่ายรูป ซึ่งอาจเป็นอาการเตือนก่อนที่จะเกิดภาวะจอตาลอกก็ได้ และจะช่วยป้องกันไม่ให้สายตาพิการได้ถ้าได้รับการรักษาเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า