สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

งูสวัด(Herpes zoster/Shingles)

เป็นโรคที่พบได้มากขึ้น มีอาการรุนแรงขึ้น และระยะเวลาที่เป็นจะนานขึ้นตามอายุ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ถ้าพบในเด็กทารกมักมีอาการไม่รุนแรงและพบได้เป็นส่วนน้อย เมื่อเป็นโรคนี้แล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก ยกเว้นในผู้ป่วยเอดส์อาจเป็นงูสวัดซ้ำได้หลายครั้งงูสวัด

สาเหตุ
เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส-งูสวัด ที่หลบเข้าปมประสาทใต้ผิวหนังหลังจากติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ครั้งแรก เชื้อมักจะแฝงตัวอยู่นานหลายๆ ปี หรืออาจเป็นสิบๆ ปี และจะไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่จะมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเกิดการปลุกฤทธิ์คืนและกระจายในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ เชื้อจะกระจายไปตามเส้นประสาทที่อักเสบและปล่อยเชื้อไวรัสออกมาที่ผิวหนังเกิดเป็นตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาทเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น อายุมาก ถูกกระทบกระเทือน มีความเครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ติดเชื้อเอชไอวี เป็นมะเร็ง ใช้ยาต้านมะเร็งหรือยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น จึงมักมีประวัติเคยเป็นอีสุกอีใสในวัยเด็ก หรือเคยมีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาก่อน โดยไม่มีอาการแสดงในผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งสามารถตรวจเลือดและพบว่ามีสารภูมิต้านทานต่อโรคในผู้ป่วย

อาการ
ประมาณ 1-3 วันก่อนจะมีผื่นขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบบริเวณเส้นประสาทที่เป็นงูสวัด อาจมีอาการคันและแสบร้อนคล้ายถูกไฟไหม้เป็นพักๆ หรือตลอดเวลาตรงบริเวณผิวหนังตามแนวเส้นประสาทที่จะเกิดผื่นงูสวัด ผู้ป่วยอาจคิดว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อได้เพราะมักมีอาการดังกล่าวบริเวณชายโครง ใบหน้า แขนหรือขาเพียงข้างเดียว หรืออาจทำให้คิดว่าเป็นโรคหัวใจ โรคกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วไต ไส้ติ่งอักเสบได้ถ้าปวดที่ชายโครง หรืออาจทำให้คิดว่าเป็นไมเกรนหรือโรคทางสมองได้ถ้าปวดที่ใบหน้าข้างเดียว หรืออาจมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเดินร่วมด้วยในบางราย

ต่อมาบริเวณที่ปวดจะมีผื่นแดงๆ ขึ้น แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตามแนวผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาท ใน 4 วันแรกตุ่มน้ำจะทยอยขึ้น วันที่ 3 จะเริ่มเป็นตุ่มน้ำขุ่น และจะค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดใน 7-10 วัน แล้วหลุดออกไป อาการปวดก็จะทุเลาไปด้วย รวมแล้วจะมีผื่นอยู่นานประมาณ 10-15 วัน กว่าจะหายเป็นปกติอาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือนในผู้ที่มีอายุมาก

สิ่งตรวจพบ
มักตรวจพบว่าผู้ป่วยมีตุ่มน้ำใสเรียงเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงมักโตและเจ็บร่วมด้วย หรืออาจพบมีไข้ร่วมด้วยในบางราย

ภาวะแทรกซ้อน
อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะเป็นรุนแรงและนานขึ้น อาการปวดของผู้ป่วยอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่แรกหรือภายหลังจากผื่นหายหมดแล้ว ลักษณะการปวดผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดลึกๆ แบบปวดแสบปวดร้อนตลอดเวลา หรือปวดแปลบๆ เสียวๆ คล้ายถูกมีดแทงเป็นพักๆ แม้สัมผัสถูกเบาๆ ก็จะรู้สึกปวด เวลาตอนกลางคืนหรืออากาศเปลี่ยนแปลงก็จะปวดมากขึ้น อาจปวดรุนแรงจนทนไม่ได้ในบางครั้ง และจะหายไปได้เอง ผู้ป่วยบางรายอาจปวดอยู่นานเป็นแรมปี โดยเฉพาะผู้ที่มีงูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า

ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่พบได้ เช่น
-เนื่องจากใช้เล็บเกาหรือการดูแลบาดแผลไม่ถูกสุขลักษณะจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้าจนกลายเป็นแผลเป็น

-อาจทำให้เกิดกระจกตาอักเสบ แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ ต้อหิน ประสาทตาอักเสบถึงขึ้นทำให้สายตาพิการได้ในรายที่เป็นงูสวัดขึ้นตา

-อาจทำให้เกิดอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก มีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ หูอื้อ หูตึง ตากระตุก เรียกว่า Ramsay-Hunt syndrome ได้ในรายที่เป็นงูสวัดบริเวณหูด้านนอกหรือแก้วหู ซึ่งจะมีการอักเสบของประสาทหูคู่ที่ 7 และ 8 เพื่อป้องกันหรือลดอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกแพทย์มักจะให้ยาเม็ดเพร็ดนิโซโลนตั้งแต่เริ่มแรก

-อาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงเสียชีวิตได้ในรายที่เป็นผื่นงูสวัดชนิดแพร่กระจาย ซึ่งมักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยเอดส์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยจะมีตุ่มขึ้นมากกว่า 20 ตุ่มอยู่นอกแนวเส้นประสาท หรือขึ้นตามแนวเส้นประสาทมากกว่า 1 แนว ซึ่งมักจะมีอาการรุนแรงและเป็นอยู่นาน จนอาจกระจายเข้าสู่สมองและอวัยวะภายในอื่นๆ เช่น ปอด หรือตับได้

-ทารกในครรภ์อาจเป็นกลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิดได้ถ้ามารดาเป็นงูสวัดขณะตั้งครรภ์จนเชื้อกระจายไปสู่ทารกในครรภ์ โดยทารกมักจะมีอาการเช่น มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก ศีรษะเล็ก ปัญญาอ่อน เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากมารดาที่เป็นอีสุกอีใสมากว่างูสวัด

การรักษา
1. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้าปวดให้ยาแก้ปวด ถ้าปวดแสบปวดร้อนให้ทายาแก้ผดผื่นคัน หรือครีมพญายอขององค์การเภสัชกรรม และให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน อีริโทรไมซิน ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเฟะจากการติดเชื้อแทรกซ้อน

2. ควรให้กินอะไซโคลเวียร์ ครั้งละ 800 มก. วันละ 5 ครั้ง ทุก 4 ชั่วโมง นาน 7 วัน ในคนอายุมากกว่า 50 ปี หรือในรายที่ขึ้นบริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แต่ถ้าจะให้ได้ผลในการลดความรุนแรง และย่นเวลาให้หายเร็วขึ้น รวมทั้งอาจลดอาการปวดประสาทแทรกซ้อนในภายหลังควรเริ่มให้ยาภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

3. ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วถ้าพบเป็นชนิดแพร่กระจายในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีความสงสัยว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนทางตา เช่น เจ็บตา เคืองตา ตาแดง ตามัว หรือมีอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกร่วมด้วย หรือสงสัยเป็นโรคเอสด์ เป็นต้น

แพทย์อาจต้องให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล และให้อะไซโคลเวียร์ชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดในขนาด 10-12.5 มก./กก. ทุก 8 ชั่วโมง นาน 7 วัน ในรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเป็นชนิดแพร่กระจาย

ควรปรึกษาจักษุแพทย์ในรายที่ขึ้นที่ตา แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยการให้กินอะไซโคลเวียร์ ครั้งละ 800 มก. วันละ 5 ครั้ง นาน 10 วัน และอาจให้ขี้ผึ้งป้ายตาอะไซโคลเวียร์ ชนิด 3% ป้ายตาวันละ 5 ครั้งร่วมด้วย หรืออาจต้องใช้ยาหยอดตาสตีรอยด์ และยาหยอดตาอะโทรพีนชนิด 1% ในรายที่เป็นรุนแรงหรือมีม่านตาอักเสบ

แพทย์มักจะให้กินเพร็ดนิโซโลน 45-60 มก./วัน จนกว่าผื่นจะหายและอาจให้อะไซโคลเวียร์ร่วมด้วยในรายที่เป็นอัมพาตใบหน้าครึ่งซีก

4. ควรให้พาราเซตามอล ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ หรือทรามาดอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง หรือให้กินอะมิทริปไทลีน เริ่มด้วยขนาด 10-25 มก./วัน แล้วค่อยๆ เพิ่มขนาดทุกสัปดาห์ จนได้ผลในรายที่มีอาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัด และควรให้ระหว่างที่มีอาการปวดประสาท ควรแบ่งให้วันละ 3 ครั้งถ้าใช้ในขนาดสูง อาจทำให้ง่วงนอน ปากคอแห้งเมื่อใช้ยาชนิดนี้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถ้ายังไม่ได้ผลหรือปวดรุนแรงขึ้น อาจต้องใช้ยาชาฉีด ทา หรือพ่น หรือทาด้วยแคปไซซิน ในบางรายแพทย์อาจบรรเทาอาการปวดประสาทด้วยยารักษาโรคลมชัก เช่น คาร์บามาซีพีน หรือกาบาเพนทิน เป็นต้น

ข้อแนะนำ
1. โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงและสามารถหายได้เองเป็นส่วนใหญ่ แพทย์มักให้การรักษาไปตามอาการ แต่อาจต้องให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสชนิดกินหรือฉีดในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่เป็นงูสวัดบริเวณใบหน้า และผู้ที่ปวดรุนแรงตั้งแต่เริ่มมีผื่นขึ้น

2. ได้มีการวิจัยพบว่าต้นเสลดพังพอนมีสรรพคุณในการรักษาโรคนี้ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณ ปัจจุบันมีครีมพญายอ ที่ผลิตเป็นครีมสำเร็จรูปโดยองค์การเภสัชกรรม สามารถใช้ทารักษาร่วมกันไปด้วย หรือในผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ปี ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ไม่มีผื่นบริเวณใบหน้า และเป็นไม่รุนแรงอาจใช้วิธีเอาต้นเสลดพังพอนสดล้างน้ำให้สะอาดแล้วบดให้ละเอียดคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณแผลงูสวัสก็ได้

3. ในระยะเริ่มแรกที่เป็นงูสวัดเดิมแพทย์เคยนิยมใช้สตีรอยด์เพื่อป้องกันอาการปวดประสาทแทรกซ้อนตามมา ถึงแม้ยานี้จะสามารถลดอาการปวดที่เกิดขึ้นในระยะที่เริ่มเป็นใหม่ๆ ก็ตาม แต่มีการศึกษาพบว่าไม่ได้ผลจริง ซึ่งการให้ยาต้านไวรัส-อะไซโคลเวียร์ กินตั้งแต่แรกๆเป็นวิธีป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวได้ผลดีจริง

4. โรคนี้มีโอกาสทำให้ตายได้น้อยมาก และมักจะขึ้นเพียงข้างเดียวเท่านั้น แต่ก็อาจเป็นอันตรายได้ถ้าเกิดการอักเสบซ้ำจากเชื้อแบคทีเรียจนกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ ซึ่งปัจจุบันก็สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ จึงไม่เป็นความจริงในความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า ถ้างูสวัดเป็นรอบเอวเมื่อใดจะทำให้ตายได้

งูสวัดที่จะเป็นรุนแรงทั่วร่างกายซึ่งอาจมีอันตรายถึงเสียชีวิตได้ อาจพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เอดส์ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน

5. ควรส่งตรวจเลือดดูว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ในผู้ที่เป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายหรือเป็นซ้ำซาก

6. ผู้ป่วยไม่ควรใกล้ชิดกับเด็กๆ หรือผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ถ้าพบว่าเป็นงูสวัด เพราะอาจแพร่เชื้อให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดได้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยรับเชื้อนี้มาก่อนอาจทำให้เป็นอีสุกอีใสได้

การป้องกัน
การฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็นอีสุกอีใสสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ได้

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า