สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คุณค่าของน้ำนมแม่

ส่วนประกอบหลักๆ ในน้ำนมแม่ของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแต่ละชนิด จะมี 4 ส่วนที่คล้ายคลึงกันคือ น้ำ ไขมัน โปรตีนและน้ำตาล แต่ในสภาพแวดล้อมของเผ่าพันธุ์ สัตว์แต่ละชนิดก็จะมีน้ำนมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกอ่อนที่แตกต่างกันคุณค่าของน้ำนมแม่

มีส่วนประกอบของไขมันเกือบครึ่งหนึ่งในนมของแมวน้ำ เพราะอากาศที่หนาวเย็น จะทำให้ลูกแมวน้ำมีพลังงานสู้กับอากาศหนาวเย็นนี้ได้ เมื่ออายุเพียง 2-3 สัปดาห์ น้ำนมแมวน้ำจะทำให้ลูกของมันมีน้ำหนักเป็น 2 เท่าของน้ำหนักแรกเกิด ในน้ำนมของม้าและวัวจะทำให้กระดูกและกล้ามเนื้อเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้วิ่งได้เร็วตั้งแต่วันแรกๆ ที่คลอด เพราะในการหาอาหารและวิ่งหนีศัตรูการวิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก มีแคลเซียมและโปรตีนอยู่ในปริมาณที่สูงในน้ำนมวัว ส่วนในน้ำนมของสัตว์ชั้นสูงอย่างมนุษย์จะมีส่วนประกอบของสิ่งที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา

นมของสัตว์ชนิดหนึ่ง สามารถเลี้ยงสัตว์ต่างชนิดกันให้เจริญเติบโตได้ เช่น ลูกแมวที่กินนมแม่สุนัข ลูกแพะที่กินนมแม่แกะ แต่มันก็ไม่ได้เหมาะกับสัตว์ชนิดนั้น เพราะคุณค่าของน้ำนมจะแตกต่างกันมากถ้าเป็นสัตว์ที่มาจากเผ่าพันธุ์ที่ต่างกันมาก

ในนมวัวจะมีโปรตีนมากกว่านมแม่ หากจะนำมาใช้เลี้ยงทารกก็ต้องมีการดัดแปลงปรับสัดส่วนให้เหมาะสมเสียก่อน เพราะถ้านำมาเลี้ยงทารกแรกเกิด ไตของทารกจะรับโปรตีนจำนวนมากไม่ได้ ต้องทำให้นมวัวนั้นเจือจางลง แล้วเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มพลังงานลงไป นมผงดัดแปลงสำหรับทารกในปัจจุบัน มีทั้งโปรตีนและวิตามินที่จำเป็นสำหรับทารกอย่างครบถ้วน แต่สารอาหารดังกล่าวก็ไม่สามารถทดแทนนมแม่ได้ คือ ในนมแม่จะมีสารภูมิคุ้มกันแก่ทารก จะนำนมแม่มาต้มหรือให้เดือดหรือทำเป็นผงไม่ได้ เพราะสารนี้จะถูกทำลายด้วยความร้อน และส่วนประกอบบางตัวในนมแม่ นมผงดัดแปลงชนิดใดๆ ก็ไม่สามารถสังเคราะห์หรือเลียนแบบขึ้นมาได้เลย

เซลล์ที่มีชีวิตในน้ำนมแม่
ในสมัยก่อน นมแม่เป็นอาหารชนิดเดียวของทารกตั้งแต่แรกเกิด ต่อมาเมื่อมีการคิดค้นนมผงดัดแปลงที่บอกว่าใช้เลี้ยงทารกได้ใกล้เคียงกับนมแม่ ในซีกโลกตะวันตก นมผงจึงเป็นที่นิยมแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว เมื่อมีความนิยมนมผสมสูงมากขึ้นแม้แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนา การติดเชื้อของทางเดินอาหารในเด็กอ่อนก็มีอัตราพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

จึงเริ่มมีการตั้งคำถามว่า น้ำนมผสมแตกต่างจากนมแม่อย่างไร น่าจะมีเอกลักษณ์บางอย่างในนมแม่ที่แตกต่างจากนมผสม ต้องมีสารอะไรสักอย่างที่อยู่ในน้ำนมแม่ที่ช่วยป้องกันเชื้อโรค จึงทำให้ทารกที่กินนมแม่ท้องเสียน้อยกว่าการกินนมผสม

ในน้ำนมแม่ประกอบไปด้วยเซลล์ที่มีชีวิตเช่นเดียวกับเลือด และเนื้อเยื่ออื่นๆ ในร่างกาย ในนมแม่ 1 มิลลิลิตร จะมีเซลล์อยู่ประมาณ 1 ล้านตัว และหัวน้ำนม 1 มิลลิลิตร มีเซลล์อยู่ถึง 7 ล้านตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเชื้อแบคทีเรีย และนี่ก็คือความแตกต่างที่สำคัญของนมแม่

บริเวณผนังกระเพาะและลำไส้ เม็ดเลือดขาวชนิด นิวโตรฟิล ก็จะทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคอยู่ และเม็ดเลือดขาวชนิด แม็กโครเฟจ ก็จะยืดตัวออกโอบล้อมเชื้อโรคและย่อยสลายฆ่าเชื้อแบคทีเรียในเนื้อเยื่อ หรือทำหน้าที่ฉีดสารเข้าเซลล์เชื้อโรคจนเชื้อตาย

จะมีการทำงานกันอย่างขยันขันแข็งของเซลล์มีชีวิตในน้ำนมแม่ จากการทดลองของนักชีววิทยาผู้หนึ่งพบว่า เมื่อนำน้ำนมแม่สดๆ มานับจำนวนแบคทีเรีย จะพบแบคทีเรียอยู่ตามปกติ และแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคก็มีเป็นส่วนน้อย และนำน้ำนมแม่เปิดฝาทิ้งไว้บนโต๊ะในห้องที่อบอุ่น 36 ชั่วโมง ปกติในสภาพแวดล้อมเช่นนี้เชื้อแบคทีเรียจะเจริญได้ดีมาก แต่กลับพบว่าจำนวนแบคทีเรียกลับลดลงเมื่อลองนับดูอีกครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กลไกป้องกันเชื้อโรคในนมนมแม่ของเม็ดเลือดขาวแม็กโครเฟจ จะเข้าทำลายเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นได้

น้ำนมแม่ทุกหยดที่ลูกดื่มเข้าไปในกระเพาะและลำไส้ ก็จะมีกองทัพเซลล์เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรคอยู่

ทันทีหลังจากคลอด เม็ดเลือดขาว แม็กโครเฟจ จะออกมากับนมแม่มากที่สุด และจะมีต่อไปอีก 4-5 เดือน และทนต่อการแช่แข็ง นมแม่จึงสามารถแช่แข็งไว้ให้ลูกรับประทานได้ โดยที่จะไม่เสียสารชนิดนี้ไป เมื่อจะนำนมแช่แข็งมาให้ลูกดื่มควรทำให้อุ่นทีละน้อย ไม่ควรต้ม ใส่เครื่องไมโครเวฟ หรือพาสเจอไรซ์ เพราะแม็กโครเฟจจะทนความร้อนสูงไม่ได้ เซลล์มีชีวิตจึงมีในน้ำนมแม่เท่านั้น จะไม่มีในนมผสม และไม่มีวิธีที่จะสังเคราะห์แม็กโครเฟจขึ้นมาได้

การทำงานของภูมิต้านทานในนมแม่
เมื่อหลายสิบปีก่อน เรายังไม่รู้ว่านมแม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างไร แต่ก็รู้ว่าป้องกันได้ แต่ปัจจุบัน นักวิจัยทางชีวโมเลกุลและเทคนิคใหม่ๆ ทางห้องทดลองที่มีความก้าวหน้า ก็สามารถทำให้เห็นได้ว่า นมแม่มีสารภูมิต้านทานที่ป้องกันเชื้อโรคได้ และสารนี้ก็ไม่ถูกทำลายจากน้ำย่อยในกระเพาะของลูก แต่สามารถที่จะถูกดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ได้ และสารนี้จะให้ความคุ้มกันตลอดระยะเวลาที่ยังกินนมแม่อยู่ตั้งแต่หยดแรกจนหยดสุดท้าย ไม่ใช่เฉพาะ 2-3 วัน หรือสัปดาห์แรกๆ เท่านั้น

หลังจากคลอด หากทารกได้ดื่มหัวน้ำนมจากแม่ทันที ทารกก็จะได้รับภูมิต้านทานเชื้อเกี่ยวกับโรคลำไส้และทางเดินปัสสาวะอักเสบ ซึ่งในน้ำนมแม่จะมีสารนี้สูงกว่าในเลือดอีกด้วย

ร่างกายจะมีระบบข้อมูลจำเชื้อเมื่อเข้าสู่ร่างกาย ว่าชนิดนี้เคยพบหรือยัง และจะส่งสารภูมิต้านทานโดยเฉพาะมาทำลายเชื้อนั้น ในน้ำนมแม่มีสารภูมิต้านทานที่สำคัญคือ secretory lgA (หรือ SIgA คือ immunoglobulin A ที่หลั่งทางสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย) SIgA จะผลิตโดยเต้านม และหลั่งมากับน้ำนม SIgA จะมีรหัสเฉพาะต่อเชื้อแต่ละชนิด เมื่อเชื้อชนิดใดเข้าไป SIgA ชนิดนั้นก็จะเข้าไปเกาะติดกับเชื้อ ทำให้เชื้อไปเกาะติดผนังลำไส้ไม่ได้ และในที่สุดก็ถูกกำจัดออกไปจากร่างกาย

แต่ถ้าเป็นเชื้อที่ร่างกายไม่เคยพบมาก่อน ก็จะมีขบวนการเร่งรีบสร้างสารภูมิต้านทานตัวใหม่ขึ้นมาและจะอยู่ตลอดไป โรคบางชนิดจึงเป็นครั้งเดียวในชีวิต การฉีดวัคซีนจากเชื้อที่ตายแล้ว หรือเชื้อที่อ่อนฤทธิ์แล้วให้กับเด็ก เพื่อเป็นการหลอกระบบภูมิคุ้มกันให้สร้างสารภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้นขึ้น เมื่อได้รับเชื้อจริงๆ เข้าไปก็จะได้มีสารภูมิต้านทานนี้ไว้กำจัดได้ทันที

วัคซีนชนิดแรกที่ลูกจะได้รับคือ นมแม่
ภูมิต้านทานต่อเชื้อต่างๆ ที่แม่เคยได้รับมาก่อนจะอยู่ในนมแม่แล้ว การกินนมมื้อแรกของทารกเท่ากับว่าได้รับภูมิคุ้นกันนั้นทันที

หากแม่ได้รับเชื้อหวัดชนิดใหม่เข้าไปในช่วงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ร่างกายของแม่ก็จะเร่งผลิตสารภูมิต้านทาน แล้วส่งเม็ดเลือดขาวชนิดพิเศษไปยังเต้านม เต้านมก็จะหลั่งสารภูมิต้านทานชนิดใหม่นั้นเข้าสู่นมแม่ หลังจากที่รับเชื้อภายใน 2-3 วัน แม้ว่าแม่จะเป็นหวัดแต่ลูกที่กินนมแม่กลับไม่เป็นไร เพราะในนมแม่มีสารภูมิคุ้มกันนี้อยู่แล้ว

ทารกที่ไปอยู่สถานรับเลี้ยงเด็กหรือบ้านอื่นในช่วงกลางวัน แล้วรับเชื้อหวัดมากจากนอกบ้าน แม่ก็จะไม่มีภูมิต้านทานสำหรับเชื้อหวัดชนิดนั้น แม้ทารกจะกินนมแม่ และทารกที่รับเชื้อมาเองก็ยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็ทำให้ทารกเป็นหวัดได้ แต่สารที่มีประโยชน์ตัวอื่นๆ ในนมแม่ก็จะช่วยให้ลูกเป็นหวัดอยู่ไม่นาน และไม่รุนแรงมากกว่าที่ควรจะเป็น

นมแม่ จะมีสารภูมิต้านทานป้องกันลูกได้เฉพาะช่วงที่กินนมแม่เท่านั้น ระบบภูมิคุ้มกันของลูกจะพัฒนาได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้ากินนมแม่เป็นระยะเวลานานพอ เมื่อหย่านมแล้วลูกมักจะพบเชื้อที่พบกันบ่อยในสภาพแวดล้อม แต่ก็จะสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาเองได้

ไลโซไซม์ (lysozyme) เป็นเอนไซม์ชนิดหนึ่ง เปรียบเสมือนน้ำยาทำความสะอาดตามธรรมชาติ ไลโซไซม์ในนมแม่มีมากกว่าในนมวัวถึง 3,000 เท่า และมีปริมาณสูงตลอดระยะเวลาที่ให้นมแม่ พบสารชนิดนี้ได้ในน้ำตา น้ำลาย และน้ำนมแม่ มีฤทธิ์ย่อยสลายผนังเซลล์ของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เชื้อตาย แต่จะไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อมนุษย์

ไลโซไซม์ มีความทนต่อกรดของน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และไลโซไซม์สามารถสังเคราะห์ขึ้นมาได้ แต่ไม่สามารถเติมลงในนมผสมได้ เพราะความร้อนในขั้นตอนที่นำนมผสมไปฆ่าเชื้อก่อนบรรจุกระป๋อง จะทำให้เอนไซม์ต่างๆ ถูกทำลาย

นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่ชื่อ พอล จอร์จ(Paul Gorgy) และผู้บุกเบิกการค้นคว้าวิจัยเรื่องคุณค่าของนมแม่ ได้ค้นพบว่า มีสารที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเชื้อ แลกโตบาซิลลัส(lactobacillus) ในนมแม่ ที่เรียกว่า ไบฟิดัส แฟกเตอร์(bifidus growthfactor) ซึ่งไม่มีในนมวัว

ประโยชน์ของเชื้อแลกโตบาซิลลัส มีอย่างอย่างไรบ้าง เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่เป็นอันตราย จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพที่เป็นกรด แต่แลกโตบาซิลลัสจะเป็นตัวทำให้เกิดกรดอินทรีย์ในลำไส้ และมันก็เป็นเชื้อที่ไม่มีอันตรายด้วย

ไบฟิดัส แฟคเตอร์ ในนมแม่ ช่วยให้เชื้อแลกโตบาซิลลัสเพิ่มจำนวนและช่วยให้ในลำไส้เกิดสภาพเป็นกรด และแลกโตสในนมแม่ก็ยังถูกเปลี่ยนให้เป็นกรดแลกติกอีกด้วย เมื่อลำไส้มีสภาพเป็นกรดเชื้อที่เป็นอันตรายก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เด็กที่กินนมแม่ก็จะมีกลิ่นของอุจจาระเพียงอ่อนๆ เท่านั้น

แต่ทารกที่กินนมผสม ก็จะเกิดสภาพความเป็นด่างขึ้นในลำไส้ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ก่อให้เกิดอาการท้วงร่วงขึ้น เด็กที่กินนมผสมก็มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเสีย และอุจจาระก็มีกลิ่นรุนแรงอีกด้วย

โปรตีนแลกโตเฟอร์รินในนมแม่
ในนมแม่ มีโปรตีนอีกตัวหนึ่งที่ช่วยปรับสภาพในลำไส้คือ แลกโตเฟอร์ริน(Lactoferrin) โปรตีนชนิดนี้ย่อยได้ง่ายกว่าโปรตีนในนมวัวและทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร และยังจับเหล็กในลำไส้ได้อีก สาเหตุของท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียใช้โมเลกุลเหล็กอิสระในการเจริญเติบโต แต่เมื่อเหล็กอิสระเหล่านี้ถูกจับโดยแลกโตเฟอร์รินเสียแล้วจากการที่ทารกดื่มนมแม่ เชื้อเหล่านี้ก็จะไม่เติบโตในลำไส้ของทารก และจะไม่เกิดอาการเหล่านี้ขึ้น

ได้รับการยืนยันจากการศึกษาของ ดร. อลัน คันนิงแฮม (DR. ALLAN CUNNINGHAM) จากโรงพยาบาล MARY IMOGENE BASSETT ในนิวยอร์ก ที่ศึกษาจากเด็ก 503 ราย ที่มารับวัคซีนที่โรงพยาบาลเป็นประจำ และรักษาโดยกุมารแพทย์คนเดียวกันตลอด ใน 2 เดือนแรกพบว่า กลุ่มทารกที่กินนมผสมมีโอกาสป่วยมากกว่ากลุ่มที่กินนมแม่ถึง 16 เท่า และในขวบปีแรกก็ยังพบว่ากลุ่มนี้เจ็บป่วยด้วยไข้หวัด ท้องเสียมากว่ากลุ่มที่กินนมแม่ถึง 2 เท่า แต่พบว่าในระยะ 1 ปี ทารกที่กินนมแม่อย่างน้อย 6 สัปดาห์ จะป่วยและต้องนอนที่โรงพยาบาลเพียง 6 ราย แต่เด็กที่กินนมผสมมีถึง 60 ราย ดังนั้น นมแม่ สามารถป้องกันไม่ให้ทารกติดเชื้อต่างๆ เพราะมีส่วนประกอบอยู่หลายชนิด การเจ็บป่วยของทารกที่กินนมแม่ก็น้อยกว่าทารกที่กินนมผสม

ในเด็ก แม้จะเป็นเพียงไข้หวัด หรือการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่า การเจ็บป่วยนี้ก็ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ ที่ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และเด็กเองก็ไม่ชอบการเจ็บป่วยเช่นนี้ การให้ลูกกินนมแม่จะเป็นสิ่งที่ดีที่สามารถช่วยได้ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้พักหลังคลอดก็ตาม ย่อมมีผลดีต่อลูกและตัวคุณเองอย่างแน่นอน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า