สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

สถานการณ์ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอกฮีโมโกลบินในคนไทย

ด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์มีผลต่อเลือด สมอง และหัวใจ โดยมีผลตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ และมีรายงานการเกิดโรคพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตมากในประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกา ปีหนึ่งๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยได้รับพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ชนิดรุนแรงจำนวน 10,000 คนที่เข้ารับบริการทางการแพทย์และเสียชีวิตปีละ 3,500 คน. ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2536 นายแพทย์ Niel Hamp¬ton แห่งเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานเหตุการณ์ผู้เสียชีวิตหมู่จากพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ ในเด็ก 3 ใน 4 คน ที่นั่งในประทุนหลังของรถปิกอัพที่เปิดท้ายแต่ปิดด้านข้างทำให้คาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาได้ สำหรับผู้ป่วยพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ชนิดเล็กน้อยถึงปานกลาง มักได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคอื่นถึงร้อยละ 30 เช่น ไมเกรน, พิษจากแอลกอฮอล์, โรคหัวใจ หรืออาหารเป็นพิษ เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้จะมาในกลุ่มอาการ non specific เพราะภาวะขาดออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะทั้งร่างกาย และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการของ flu-like syndromes ได้แก่ กลุ่มอาการปวดศีรษะ งุนงง สับสน บางครั้งก็มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน. ซึ่งเมื่อใช้การวัดระดับ carboxyhemoglobin (HbCO) เพิ่มเติมจากประวัติแล้วจะช่วยในการวินิจฉัยและประกอบการรักษาได้มาก  ส่วนใหญ่การรักษาใช้ hyperbaric oxygen therapy เมื่อ HbCO ตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ในบางกรณีใช้ที่ระดับต่ำกว่านั้น สำหรับประเทศไทยมีรายงานการตายในเด็กปั๊ม และผู้ขับรถที่เปิดเครื่อง ปิดประตู หน้าต่าง และกระจกนอน แล้วพบว่าเสียชีวิต ซึ่งสงสัยว่าจากพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ โดยประมาณการว่าคาร์บอนมอนอกไซด์ จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ได้หลุดเข้ามาในตัวรถ และทำให้ผู้ที่อยู่ในรถเกิดพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ได้

ตารางที่ 1. ระดับเฉลี่ยคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ, HbCO และอัตราเกิดของ mild carbonmonoxide ในผู้โดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศ กรุงเทพมหานคร ในช่วงปี พ.ศ. 2533-2535.
health-0075 - Copy
ในประเทศไทยมีโครงการเฝ้าระวังพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ในผู้โดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศในปี พ.ศ. 2533, 2534, และ 2535 ต่อเนื่องกัน 3 ปีแล้วมีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์เฉลี่ยในลมหายใจ (exhealed CO) เท่ากับ 12.4, 17.8 และ 19.5 ppm. ในปี พ.ศ. 2533, 2534 และ 2535 ตามลำดับ และมีระดับ HbCO ในเลือดเท่ากับร้อยละ 1.7, 2.4, และ 3.2 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาผู้ที่มีระดับคาร์บอกซีฮีโมโกลบินในเลือดตั้งแต่ 10% ขึ้นไป ซึ่งจัดเป็น mild carbonmonoxide poison¬ing จะพบว่ามีผู้ป่วยระดับดังกล่าวเท่ากับ 23.0, 26.0 และ 39.0 ต่อประชากร 100 คน ตามลำดับ (ตารางที่ 1).

ตารางที่ 2. ค่าเฉลี่ยของคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหานใจออก (exhaled CO) และระดับ HbCO ในผู้โดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศ จำแนกตามสถานที่และเวลา เขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535.
health-0076 - Copy

ตารางที่ 3. ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจและ HbCO ของ ผู้โดยสารจำแนกตามประเภทยานพาหนะ ระหว่างเวลา 17.00 น.-18.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในเขตกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535.
health-0076 - Copy1
เมื่อพิจารณาจำแนกตามเวลาและสถานที่ จะพบว่า ผู้ที่เดินทางในรถประจำทางไม่ปรับอากาศ ในชั่วโมงเร่งรีบ (6.00-8.00 น. และ 17.00-19.00 น.) จะมีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ และ HbCO สูงกว่าผู้เดินทางในชั่วโมงไม่เร่งรีบ (13.00-15.00 น.) และผู้เดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รอบในจะมี exhaled CO สูง กว่าผู้เดินทางพื้นที่รอบนอก 3 เท่า และมี HbCO สูงกว่า เท่ากับ 3-5 เท่า (ตารางที่ 2).

เมื่อเปรียบเทียบระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจและ HbCO ของผู้โดยสารยานพาหนะชนิดต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครแล้ว พบว่า ผู้โดยสารรถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศ รถสามล้อเครื่อง และรถจักรยานยนต์ เป็นผู้ที่มีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ และ HbCO สูงกว่ากลุ่มอื่น (ตารางที่ 3).

เมื่อผู้โดยสารเดินทางด้วยพาหนะเดียวกันไปในท้องที่ต่างกันตั้งแต่เขตกลางกรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด บนเส้นทางสายเอเชีย พบว่า ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ ในลมหายใจ และ HbCO จะลดลงเรื่อยๆ (ภาพที่ 1).

สำหรับระดับ exhaled CO และ HbCO ของผู้ที่อยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ที่อยู่ริมนํ้าเจ้าพระยา ตึกสูง และอาคารห่างจากถนนใหญ่มากกว่า 100 เมตร จะมีระดับ exhaled CO และ HbCO ต่ำกว่ากลุ่มผู้อยู่บริเวณอื่น (ตารางที่ 4).

ภาพที่ 1. ระดับค่าเฉลี่ยของ Exhaled CO ในกลุ่มผู้โดยสารรถยนต์นั่งส่วนบุคคลบนเส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ พ.ศ. 2535.
health-0077 - Copy
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้คนที่มีเศรษฐฐานะ อายุวัยเดียวกันในพื้นที่ชนบทในทุกพื้นที่ (มีระดับ exhaled CO และ HbCO เฉลี่ยเท่ากับ 0.8 ppm. และ 0% ตามลำดับ ซึ่งใกล้เคียงกับผู้อาศัยอยู่บ้านริมแม่นํ้าเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร) กับผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครแบบรวมพื้นที่ (มี exhaled CO เฉลี่ยเท่ากับ 8.5 ppm. และ HbCO เฉลี่ยเท่ากับ 1.0 ppm.). แล้วจะพบว่า exhaled CO สูงกว่าคนในชนบท 10.6 เท่า. สำหรับเด็ก พบว่า เด็กในกรุงเทพมหานครกลุ่มอายุ 8-10 ปีมีระดับ exhaled CO และ HbCO เฉลี่ยเท่ากับ 5.8 ppm. และ 0.8% ตามลำดับ สูงกว่าระดับของ exhaled CO และ HbCO ในเด็กชนบท ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.5 ppm. และ 0% ตามลำดับ โดยมี exhaled CO สูงกว่า 11.6 เท่า.

สำหรับแหล่งกำเนิดคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผาไหม้ชนิดต่างๆ ที่พบได้ในชีวิตประจำวันของผู้คนโดยทั่วไปนั้น พบว่า ควันจากท่อไอเสียรถที่ใช้น้ำมันเบนซินนั้น มีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์สูงสุด สูงกว่ารถที่ใช้ แอลพีจี 13 เท่า และควันจากบุหรี่ก็ให้คาร์บอนมอนอกไซด์สูงเช่นกัน โดยสูงกว่าควันจากยากันยุงและจากเตาแก๊สที่ใช้ตามบ้านด้วย (ตารางที่ 5).

ตารางที่ 4. ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ และ HbCO ในผู้ที่อยู่ในบริเวณที่แตกต่างกันของกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535.    
health-0077 - Copy1
สำหรับผู้สูบบุหรี่นั้น ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ที่หายใจออกมามีค่าเฉลี่ยที่ 110 ppm. ซึ่งทำให้บรรยากาศในรัศมี 1 เมตรรอบผู้สูบบุหรี่มีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์เท่ากับ 96 ppm. ซึ่งสูงกว่าระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ NIOSH (National Institute of Occupational and Safety Health). ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้สถานที่ทำงาน ไม่ควรมี CO แบบ time weighted average เกินกว่า 35 ppm. หรือสูงกว่าถึง 3 เท่า.

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่สูบบุหรี่จะมีระดับ HbCO 5% ขึ้นไป ซึ่งในบางรายอาจมีอาการมึนศีรษะ และอาการอื่นๆ ได้บ้าง และในคนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่จะมีระดับ HbCO 0- 2%. เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่าผู้โดยสารรถประจำทางไม่ปรับอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่จะมีระดับ HbCO มากกว่า 2% และในชั่วโมงเร่งรีบจะมี HbCO มากกว่า 5% ซึ่งเท่ากับในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ และมีในบางพื้นที่มีระดับ HbCO มากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นพิษชนิด mild carbonmonoxide poisoning จึงควรที่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข ตำรวจจราจร ผู้บริหาร จะได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ และเร่งรัดแก้ไขปัญหาต่อไป. สำหรับหน่วยงานบริการทางการแพทย์ในเขตเมือง ควรได้มีบริการวินิจฉัย รักษา และให้คำแนะนำทางการแพทย์และสาธารณสุขเกี่ยวกับปัญหาพิษคาร์บอนมอ¬นอกไซด์ และปัญหาสุขภาพอื่นที่เกี่ยวข้องกับควันรถในหน่วยงานเพื่อบริการประชาชนด้วย.

ตารางที่ 5. ระดับ CO ในควันที่ได้จากการเผาไหม้ จำแนกตามประเภท พ.ศ. 2534.
health-0078 - Copy

ที่มา:อรพรรณ์  เมธาดิลกกุล พ.บ., M.P.H.
สุวรรณี  โชติพนัง ศ.บ.
ขจรศรี  แก้วคล้าย ศ.บ.
สำนักงานอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
กรมการแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า