สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

คอพอก/ต่อมไทรอยด์โต(Goiter)

คอพอกธรรมดา (Simple goiter/Nontoxic goiter)
เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ตรงบริเวณคอหอยบวมโตผิดปกติ ทำให้คอโป่งออกมาเห็นได้ชัดเจน และคลำได้เป็นก้อน เมื่อกลืนน้ำลายก้อนนี้จะขยับขึ้นลงตามจังหวะของการกลืนคอพอก

ลักษณะของคอพอกอาจบวมโตเป็นปุ่มหรือแบบกระจาย มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติ เรียกว่า คอพอกธรรมดา(simple goiter หรือ nontoxic goiter) สร้างไทรอยด์มากเกิน เรียกว่า คอพอกเป็นพิษ หรือสร้างไทรอยด์น้อยเกิน เรียกว่า ภาวะขาดไทรอยด์ ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดไม่ร้ายแรงไม่ใช่มะเร็ง มักมีลักษณะบวมโตแบบกระจายหรือเป็นปุ่มหลายปุ่ม เช่น คอพอกที่เกิดจากภาวะขาดไอโอดีน คอพอกเป็นพิษที่มีชื่อว่า โรคเกรฟส์ ต่อมไทรอยด์อักเสบ เป็นต้น

ลักษณะคอพอกที่เป็นปุ่มหรือก้อนเดี่ยวมักเป็นชนิดไม่ร้าย เช่น เนื้องอกไทรอยด์ ถุงน้ำไทรอยด์ แต่ก็อาจเป็นมะเร็งไทรอยด์ในบางราย ซึ่งจำเป็นต้องตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยแยกโรค ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะคอพอกธรรมดา

สาเหตุ
อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่ที่ทราบสาเหตุ ได้แก่
-ภาวะขาดธาตุไอโอดีน พบเป็นกันมากในทางภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ขาดแคลนเกลือทะเลและอาหารทะเลซึ่งมีธาตุไอโอดีนสูง ทำให้ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองจึงกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตขึ้นจนกลายเป็นคอพอก

อาจมีผู้เป็นคอพอกเกือบทั้งหมู่บ้านในบางท้องถิ่น จึงเรียกว่า คอพอกประจำถิ่น หากชุมชนใดมีผู้เป็นคอพอกจากการขาดธาตุไอโอดีนเกิน 10 คนใน 100 คน ก็บอกได้ว่าชุมชนนั้นมีคอพอกประจำถิ่นเกิดขึ้นแล้ว

-การเปลี่ยนแปลงของร่างกายด้านฮอร์โมนและเมตาบอลิซึม พบมากในหญิงวัยรุ่นหรือหญิงตั้งครรภ์ที่ร่างกายต้องการฮอร์โมนไทรอยด์มากขึ้น ทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานหนักจนทำให้เกิดโรคคอพอก เรียกว่า คอพอกสรีระ

-จากผลของยา เช่น พีเอเอสและเอทิโอนาไมด์ที่เคยใช้รักษาวัณโรคในสมัยก่อน เฟนิลบิวตาโซน ลิเทียม โพรพิลไทโอยูราซิล อะมิโนกลูเททิไมด์ เป็นต้น

-ปุ่มไทรอยด์ ปุ่มเดียวหรือหลายปุ่ม จะสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ได้เป็นปกติในส่วนใหญ่ มีสร้างไทรอยด์มากเกินไปหรือเป็นคอพอกเป็นพิษมีเป็นส่วนน้อย หรืออาจพบว่าเป็นมะเร็งในบางราย

-ถุงน้ำไทรอยด์ มีลักษณะเป็นถุงหุ้มมีน้ำบรรจุอยู่ภายใน ขนาดเล็กกว่า 1 ซม. หรือโตจนน่าเกลียด อาจพบว่าเป็นมะเร็งในบางราย

-ต่อมไทรอยด์อักเสบชนิดเรื้อรังจากภูมิต้านตนเองที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ปกติก็อาจเป็นสาเหตุของคอพอกธรรมดาได้

อาการ
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ไม่อ่อนเพลีย ไม่เหนื่อยง่าย น้ำหนักไม่ลด เป็นต้น แต่มีอาการคอโตหรือคอพอก อาจทำให้เสียงแหบ กลืนลำบากหรือหายใจลำบากได้ถ้าเป็นก้อนโตมากๆ

สิ่งตรวจพบ
มักพบว่ามีต่อมไทรอยด์โตจนคลำได้ชัดเจน ถ้าเป็นถุงน้ำจะมีลักษณะนุ่มหรือหยุ่นๆ

ภาวะแทรกซ้อน
ต่อมไทรอยด์ที่มีขนาดโตมากๆ อาจทำให้กลืนลำบากจากการกดหลอดอาหาร หรืออาจทำให้เสียงแหบได้ถ้ากดถูกเส้นประสาทกล่องเสียง

อาจกดหลอดลมทำให้หายใจลำบาก หรือถูกท่อเลือดดำส่วนบนทให้หน้าแกงคล้ำหน้าบวมได้ในรายที่มีต่อมไทรอยด์โตขยายลงไปที่หลังกระดูกลิ้นปี่

ถุงน้ำไทรอยด์ อาจทำให้มีอาการเจ็บปวดและก้อนโตกดอวัยวะข้างใต้ทำให้กลืนลำบากหรือเสียงแหบได้หากมีเลือดออกในถุงน้ำ

เด็กที่เกิดจากมารดาที่มีภาวะขาดไอโอดีนอาจเกิดภาวะขาดไทรอยด์ตั้งแต่แรกเกิด ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมอง อาจทำให้ตัวเตี้ยแคระ หูหนวก เป็นใบ ปัญญาอ่อน เรียกว่า สภาพแคระโง่ประจำถิ่น หรือเด็กเครติน ทางภาคเหนือนิยมเรียกว่า โรคเอ๋อ

การรักษา
ควรซักประวัติและตรวจร่างกายให้ละเอียดเนื่องจากอาการคอพอกอาจมีสาเหตุได้หลายประการ ถ้าพบลักษณะข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
-น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย ชีพจรเต้นเร็ว
-น้ำหนักขึ้น อ่อนเพลีย หนังตาบวม ขี้หนาว
-มีลักษณะก้อนเดี่ยว แข็ง ติดแน่นกับเนื้อเยื่อโดยรอบ ก้อนโตเร็ว ต่อมน้ำเหลืองที่ข้างคอโต มีประวัติเคยได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะและคอมาก่อน ครอบครัวมีประวัติมะเร็งไทรอยด์ หรือมีประวัตการเป็นมะเร็งส่วนอื่นๆ อยู่ก่อน
-ก้อนโตมาก เสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก หรือหายใจได้ลำบาก
-มีอาการเจ็บปวดที่ก้อนไทรอยด์ หรือมีไข้ร่วมด้วย
-อาการไม่ดีขึ้นเมื่อให้การรักษาแบบคอพอกประจำถิ่น หรือคอพอกสรีระแล้ว

แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วยการ ตรวจเลือดทดสอบการทำงานของไทรอยด์ ได้แก่ ฮอร์โมนไทร็อกซีน และฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ ตรวจเลือดหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไทรอยด์ ตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะ สแกนต่อมไทรอยด์ อัลตราซาวนด์ต่อมไทรอยด์ ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ใช้เข็มเจาะ ตรวจเซลล์มะเร็ง ตรวจชิ้นเนื้อ เป็นต้น

สำหรับคอพอกธรรมดาแพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุ ดังนี้
-คอพอกประจำถิ่น ให้กินเกลือไอโอดีนหรือยาไอโอไดด์เป็นประจำ ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจังในหญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพื่อป้องกั้นมิให้ลูกที่เกิดมาเป็นเด็กเครตินหรือโรคเอ๋อ อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถ้ามีอาการหายใจหรือกลืนลำบากจากภาวะคอโตมาก

-คอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย มักพบในวัยรุ่นและหญิงตั้งครรภ์ โดยทั่วไปคอจะโตไม่มากแทบสังเกตไม่เห็น เมื่อพ้นระยะวัยรุ่นหรือหลังคลอดจะยุบหายไปเองโดยไม่ต้องให้การรักษา แต่ถ้าคอโตมากเพื่อช่วยให้คอยุบได้แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทยรอยด์ ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน มีชื่อการค้า เช่น เอลทร็อกซิน กิน 1-2 เม็ดวันละครั้ง และอาจต้องกินนานเป็นปีๆ หรืออาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถ้าคอโตมากๆ

-ในรายที่สงสัยว่าเกิดจากยา จะช่วยให้คอยุบหายไปได้เองเมื่อหยุดยาหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน

-ปุ่มไทรอยด์ ถ้าเป็นหลายปุ่มที่ไม่มีภาวะไทยรอยด์ทำงานเกิน หรือปุ่มเดี่ยว แพทย์อาจทำการตรวจชิ้นเนื้อ ถ้าไม่เป็นมะเร็งก็จะติดตามทุก 1-2 เดือน ถ้าก้อนยังไม่ยุบจะตรวจชิ้นเนื้อซ้ำทุก 2 เดือน 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย

แพทย์จะให้ฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ เลโวไทร็อกซีน วันละ 1-2 เม็ด นาน 6 เดือนถ้าก้อนยังไม่ยุบ เมื่อก้อนยุบแล้วให้ยาต่อไปอีกประมาณ 2 ปี แต่หากไม่ยุบก็ให้หยุดยา และทำการผ่าตัดเมื่อมีก้อนโต เสียงแหบ กลืนและหายใจลำบาก อาจทำให้มีอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะเจ็บแน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเดิน นอนไม่หลับ มือสั่น น้ำหนักลดได้หากใช้ยาเกินขนาด

-ถุงน้ำไทรอยด์ แพทย์จะตรวจหาเซลล์มะเร็วโดยการใช้เข็มเจาะดูดน้ำไปตรวจ ส่วนน้อยที่พบว่าเป็นมะเร็ง ถ้าเป็นก็ให้การรักษาแบบมะเร็งไทรอยด์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นถุงน้ำชนิดไม่ร้าย ไม่ต้องทำอะไรถ้าก้อนมีขนาดเล็ก ถ้าก้อนใหญ่แพทย์จะทำการเจาะดูดน้ำออกแล้วติดตามผลทุก 2-4 สัปดาห์ อาจเจาะซ้ำหลายครั้งถ้าก้อนไม่ยุบ หรืออาจรักษาด้วยการผ่าตัดถ้าโตขึ้นหรือก้อนยังไม่ยุบ

-ต่อมไทรอยด์อักเสบเรื้อรังจากภูมิต้านตนเอง ควรติดตามตรวจเลือดเป็นระยะในช่วงที่มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควรให้ฮอร์โมนไทยรอยด์ทดแทนหากพบว่ามีภาวะขาดไทยรอยด์ตามมา

ข้อแนะนำ
1. ควรแยกผู้ป่วยให้ออกว่าเป็นคอพอกธรรมดา หรือคอพอกเป็นพิษ เพราะจะมีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป คอพอกธรรมดามักจะไม่มีอาการผิดปกติของร่างกายยกเว้นคอโต แต่จะมีอาการแสดงได้หลายอย่างในคอพอกเป็นพิษ

2. มักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใดในผู้ป่วยที่เป็นคอพอกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์หรือหญิงวัยรุ่น ผู้ป่วยไม่ต้องวิตกกังวลเพราะก้อนจะยุบหายไปเอง

3. ควรส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมหากคอพอกมีลักษณะเป็นปุ่มแข็ง โดยเฉพาะที่เป็นปุ่มเดี่ยว เนื่องจากอาจมีสาเหตุจากมะเร็งไทรอยด์ก็เป็นได้

การป้องกัน
1. สามารถป้องกันด้วยการกินอาหารทะเลหรือกินเกลือที่ผสมธาตุไอโอดีนได้สำหรับคอพอกประจำถิ่นที่เกิดจากการขาดไอโอดีน

2. ควรมีการรณรงค์ให้ใช้เกลืออนามัยกันทุกครัวเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และเด็กเล็กๆ เพื่อป้องกันมิให้เด็กๆ กลายเป็นเด็กเครตินในหมู่บ้านที่มีปัญหาคอพอกประจำถิ่น

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า