สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

ความสุขของแม่เมื่อให้นมแก่ลูก

ลูกไม่ใช่ทารกตัวเล็กๆ ที่เอาแต่กินกับนอนเท่านั้น เมื่ออายุได้ 2-3 เดือน ขณะที่มีคนพูดคุยด้วยลูกก็จะเริ่มจ้องมองหน้า ยิ้มตอบเมื่อคุณยิ้มให้ ยิ้มแรกที่หวานที่สุดจากลูกทำให้คุณแม่รู้สึกว่าโลกสดใส เป็นยิ้มที่ไม่อาจหาได้จากที่อื่น คือความชื่นใจที่เป็นรางวัลสูงค่าจนความเหน็ดเหนื่อยของแม่แทบจะหายไปจนหมดสิ้น

คุณแม่จะรู้สึกผูกพันกับลูก และอยากอยู่ใกล้ชิดกับลูกมากถ้าได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ดวงตาที่บริสุทธิ์ไร้เดียงสาของลูกจะจ้องมองหน้าแม่ขณะที่อุ้มให้ดูดนม ลูกจำคุณแม่ได้ ลูกรักและต้องการอยู่ใกล้คุณแม่ รอคอยที่จะได้รับน้ำนมจากอกของคุณแม่ เพราะคุณแม่มีความพิเศษแตกต่างจากคนอื่นๆ ทุกคน

ลูกเป็นคนตัวเล็กๆ ที่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด มีบุคลิกภาพเฉพาะตัว เริ่มส่งเสียงคุยอ้อแอ้ ไม่ได้เป็นแค่ตุ๊กตาตัวเล็กๆ ที่ร้องรอให้คุณอุ้ม อาบน้ำ หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าเท่านั้น ระหว่างคุณแม่กับลูกจะเหมือนเพื่อนสนิทที่รู้ใจกัน คุณแม่จะเข้าใจในเสียงร้องและรู้ว่าจะตอบสนองต่อลูกอย่างไร

เมื่อลูกต้องการให้คุณแม่อุ้ม
ทารกวัยนี้เมื่อตื่นขึ้นมา อาจจะร้องเพราะเหงาหรือกลัว และต้องการให้แม่อุ้ม ลูกจะหยุดร้องเมื่อแม่อุ้มขึ้นมา ในช่วงนี้การอุ้มเมื่อลูกร้องไม่ได้ทำให้ลูกเสียเด็กแต่อย่างใด บางท่านอาจจะบอกว่าอุ้มมากๆ แล้วจะติดมือ แต่ถ้าลูกมีความสุขดีจะติดมือก็คงไม่เป็นไร

ผู้ใหญ่อาจจะมองในแง่ของผู้เลี้ยงดูเด็กว่า ถ้าอุ้มจนติดมือก็คงไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่น ต้องอุ้มกันอยู่ตลอด แต่ถ้าผู้ใหญ่มองในแง่ของเด็กบ้างว่า ถ้าตื่นมาแล้วต้องนอนหงายมองเพดานอยู่บนที่นอนในห้อง ขยับตัวไปไหนเองก็ไม่ได้ เด็กคงรู้สึกเบื่อและหงุดหงิด จึงต้องเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีการร้องนั่นเอง

ลูกจะมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นเมื่ออุ้มขึ้นมา ประสาทสัมผัสทั้งทางผิวหนังและสายตาของลูกจะได้รับการกระตุ้น มีความสำคัญต่อพัฒนาการทางอารมณ์และการเจริญเติบโตของลูกมากพอๆ กับอาหารเลยทีเดียว จากการสัมผัสทางผิวหนังนี้ เรื่องนี้พิสูจน์ได้จากเด็กที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า หรือที่ถูกทิ้งไว้ตามโรงพยาบาล เด็กเหล่านี้จะไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่ากับเด็กที่มีพ่อแม่ แม้จะได้รับอาหารที่ดีเพียงใดก็ตาม ทั้งนี้ เพราะเขาไม่ได้รับการสัมผัสอุ้มชู ด้วยความรักจากพ่อแม่ตามวัยที่เขาควรจะได้รับ

ความต้องการของลูกด้านอาหารและการสัมผัสทางผิวหนังจะได้รับการตอบสนองจากการดื่มนมแม่

ในช่วงอายุ 2-3 เดือน ของทารกที่กินนมแม่นี้ ลูกยังต้องการนมมื้อเย็น ก่อนนอน มื้อดึกและตอนเช้ามืดอยู่ เมื่ออายุได้ 5-6 เดือน หลังจากให้นมมื้อดึกจนอิ่มแล้ว คุณแม่ก็นอนหลับไปด้วยกันกับลูกก็ได้ คุณแม่บางท่านสามารถให้นมลูกไปด้วยและตัวคุณแม่เองก็นั่งหรือนอนหลับไปด้วยได้ แต่วิธีนี้จะใช้กับทารกที่ดูดนมจากขวดไม่ได้

การให้นมแม่เมื่อต้องออกไปนอกบ้าน
คุณแม่อาจจะต้องการออกไปนอกบ้านเพื่อพบญาติมิตรเพื่อนฝูงบ้าง หลังจากอยู่บ้านเลี้ยงลูกมาได้ 2 เดือนแล้ว ถึงแม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่คุณแม่หลายรายก็ไม่อยากทิ้งลูกเล็กๆ ไว้กับพี่เลี้ยงตามลำพัง จึงต้องเอาลูกไปด้วย ของที่นำติดตัวไปก็มีเพียงผ้าอ้อมและเสื้อไว้เปลี่ยนแค่นั้นเอง ก่อนออกจากบ้านหรือบนรถเมื่อถึงที่หมายก็ให้ลูกดูดนมแม่ก่อน เมื่อเขาอิ่มและรู้ว่ามีคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ก็จะไม่ร้องรบกวนใครๆ ก่อนกลับบ้านถ้าลูกร้องหิว ก็ให้หามุมสงบๆ ให้ลูกดูดนมก่อนที่จะเดินทางกลับ

คุณแม่ที่กำลังให้นมลูก ควรสวมเสื้อผ้าที่มีกระดุมเปิดทางด้านหน้า ถ้าเป็นเสื้อครึ่งท่อนให้ปลดกระดุมขึ้นมาจากด้านล่าง และเปิดเสื้อขึ้นให้ลูกดูดนมจะทำให้เสื้อด้านบนบังเต้านมได้ ถ้าเป็นชุดติดกันควรเป็นแบบผ่าหน้า ควรหาผ้าพันคอคลุมปิดบังไว้เมื่อให้ลูกดูดนม เพราะแทบจะไม่รู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ถ้าไม่สังเกต แต่การให้นมแม่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใดถึงแม้จะมีคนสังเกตเห็น ขณะที่ลูกกำลังหิวคุณแม่ก็ต้องให้นมลูกที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านขายของ ร้านอาหาร หน้าที่ของเต้านมที่แท้จริงนั้นคือ เป็นแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงลูกอ่อนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ได้หมายถึงสัญลักษณ์ทางเพศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ไม่ควรเริ่มให้อาหารอื่นแก่ลูกเร็วเกินไป
ไม่ควรได้รับอาหารอื่นจนกว่าอายุจะได้ 4-6 เดือนในทารกที่กินนมแม่ เพราะในระยะ 3 เดือนแรก น้ำย่อยยังผลิตได้ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถที่จะย่อยอาหารอื่นได้ ในช่วงนี้นมแม่จะมีประโยชน์มากกว่า ถ้าทารกกินอาหารอย่างอื่นจะทำให้เขาอิ่มและดูดนมแม่ได้น้อยลง

ในน้ำนมแม่มีวิตามินต่างๆ เพียงพออยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องให้วิตามินเสริม เพียงแต่คุณแม่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ก็พอแล้ว และการอุ้มลูกออกไปรับแดดตอนเช้า วันละ 10-15 นาที ก็จะช่วยให้ลูกได้รับทั้งวิตามินดีตามธรรมชาติ และได้รับอากาศที่บริสุทธิ์อีกด้วย

เมื่อลูกอายุได้ 2-3 เดือนนี้ ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในช่วงแรกก็จะค่อยๆ หมดไป เป็นเวลาแห่งความชื่นใจ ร่างกายคุณแม่เริ่มเข้าสู่สภาพปกติ วิถีชีวิตใหม่ที่มีเจ้าตัวน้อยอยู่ด้วย ระบบระเบียบทุกอย่างในบ้านก็ถูกจัดไว้อย่างดีแล้ว

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ วิถีแห่งธรรมชาติ
โดย: พ.ญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า